สิ่งแปลกปลอมในจมูก (Nasal foreign body)
- โดย นายแพทย์ กรีฑา ม่วงทอง
- 6 กรกฎาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- สิ่งแปลกปลอมในจมูกเกิดได้อย่างไร?
- มีอาการอย่างไรเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมในจมูก?
- รักษาสิ่งแปลกปลอมในจมูกอย่างไร?
- มีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วย หรือผู้ปกครองอย่างไร?
- ข้อควรปฏิบัติ
- ข้อห้ามกระทำ
- มีกรณีอะไรบ้างที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลด่วน?
- ป้องกันสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าจมูกอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- สิ่งแปลกปลอมในลำคอ (Throat foreign body)
- การตรวจทางหูคอจมูก การตรวจทางอีเอ็นที (Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- ไซนัสอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ (Sinusitis)
- ภาวะเร่งด่วนทางหู (Ear emergencies)
บทนำ
สิ่งแปลกปลอมในจมูก (Nasal foreign body) เป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็ก แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหารุนแรงถึงชีวิต และผู้ปกครองไม่ค่อยทราบแต่แรก มักจะรู้เมื่อเด็กมีปัญหาน้ำมูกเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น และมักมีอาการเกิดกับรูจมูกเพียงข้างเดียว ซึ่งอาการทั้งหมดดังกล่าวจะทำให้สงสัยว่า น่าจะเกิดจากปัญหานี้
สิ่งแปลกปลอมในจมูกเกิดได้อย่างไร?
สิ่งแปลกปลอมในจมูก อาจเกิดได้จาก
- ผู้ป่วยจิตเวชที่เอาสิ่งแปลกปลอมใส่เข้าไปในรูจมูกเอง (พบได้น้อยกว่า) - เด็กเล็ก อายุ 1-2 ปี ซึ่งพบได้บ่อยเพราะเด็กรู้เท่าไม่ถึงการ มีความซุกซน และเด็กวัยนี้มักหยิบสิ่งของใส่จมูกอยู่เสมอ เช่น เศษกระดาษทิชชู ยางลบ ลูกปัด
- หรือจากสัตว์จำพวกปลิงที่เข้าไปในช่องจมูกซึ่งมักพบในเด็กที่ลงเล่นน้ำใน คลอง หนอง บึง
สิ่งแปลกปลอมใน จมูก แบ่ง ได้ 2 ชนิด คือ
1. สิ่งแปลกปลอมที่เกิดขึ้นเองภายในจมูก ได้แก่ ก้อนเลือด เช่น จากการมีเลือดกำเดา หรืออาจเกิดจากน้ำมูกที่เหนียวข้นและแห้ง
2. สิ่งแปลกปลอมที่มาจากภายนอก แบ่งออกเป็น
- สิ่งแปลกปลอมที่เป็นสิ่งมีชีวิต (พบได้น้อย) เช่น พวกแมลง ปลิง เป็นต้น
- สิ่งแปลกปลอมที่เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต (พบได้บ่อย) เช่น ชิ้นส่วนของเล่นพลาสติก เศษกระดาษทิชชู ยางลบ ลูกปัด เม็ดโฟม เมล็ดผลไม้ เช่น น้อยหน่า มะขาม ละมุด และ ถั่วชนิดต่างๆ
มีอาการอย่างไรเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมในจมูก?
อาการที่อาจพบได้เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมในจมูก ขึ้นอยู่กับชนิดของสิ่งแปลกปลอม โดยอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ ที่พบบ่อย เช่น
- ถ้าสิ่งแปลกปลอมเป็นสิ่งมีชีวิต เช่น ปลิง ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บในจมูก หรือมีเลือดไหลอยู่เรื่อยๆออกจากจมูกข้างเดียว ข้างที่มีสิ่งแปลกปลอม
- ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ไม่มีชีวิต ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการหลักๆ 2 อย่าง คือ
- ไม่ค่อยทราบแต่แรกว่ามีสิ่งแปลกปลอม ยกเว้นว่าได้ประวัติว่า เด็กใส่สิ่งของเข้าจมูก และผู้ปกครองสังเกตเห็นว่า มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูก เช่น เม็ดพลาสติก หรือเศษโลหะ
- เด็กมีน้ำมูกข้างเดียว เป็นหนองมีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดปน เกิดจากเมื่อสิ่งแปลกปลอมติดอยู่นานๆ จะเกิดการอักเสบติดเชื้อขึ้น ในระยะหลัง ๆ อาจเกิดไซนัสอักเสบตามมาได้ด้วย
- ถ้าเกิดจากก้อนเลือด ผู้ป่วยมักมีอาการแน่นจมูกตามหลังการมีเลือดออกจากจมูก หรือถ้าเกิดจากน้ำมูก ผู้ป่วยก็มักมีอาการมีน้ำมูกเรื้อรังนำมาก่อน
แพทย์รักษาสิ่งแปลกปลอมในจมูกอย่างไร?
หลักในการรักษาเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมในจมูก คือ แพทย์ต้องนำเอาสิ่งแปลกปลอมนั้นออกให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง ซึ่งต้องทำด้วยความระมัดระวังมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆซึ่งเด็กมักดิ้น จมูกเด็กจึงอาจเกิดบาดเจ็บมากขึ้น มีเลือดออกจากจมูก หรือสิ่งแปลกปลอมนั้นหลุดลึกเข้าไปในหลอดลมได้
แพทย์จำเป็นต้องให้ ผู้ปกครองจับเด็กอุ้มนั่งตัก ใช้มือรัดแขน และหน้าผากเด็ก ขณะเดียวกันใช้ขาของผู้ปกครองรัดขาเด็กไว้ไม่ให้ดิ้น และผู้ช่วยแพทย์ช่วยจับศีรษะเด็กเอาไว้ไม่ให้ขยับ ในขณะที่แพทย์ดึงเอาสิ่งแปลกปลอมออกโดยใช้ เครื่องมือทางการแพทย์ในการเอาสิ่งแปลกปลอมออก
ในเด็กที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ หากแพทย์ใช้ความพยายาม 2 - 3 ครั้ง แต่ไม่สามารถนำสิ่งแปลกปลอมออกจากจมูกได้ แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาภายใต้การดมยาสลบ
อนึ่ง หากสิ่งแปลกปลอมเป็นแบตเตอรี่ ผู้ปกครองต้องรีบนำเด็กมาโรงพยาบาลด่วน เพราะจำเป็นต้องรีบนำออกอย่างเร่งด่วน เพราะแบตเตอรี่มีสารเคมีที่เป็นด่าง อาจทำให้เซลล์ผนังจมูกเน่าตายได้
มีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วย หรือผู้ปกครองอย่างไร?
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยหรือผู้ปกครอง ที่สำคัญ คือ
- ข้อควรปฏิบัติ
1. เมื่อพบว่ามีสิ่งแปลกปลอมในช่องจมูก ต้องรีบมา/พาเด็กมาพบแพทย์ อย่าตื่นตกใจจนเกินเหตุ และต้องคอยปลอบให้กำลังใจแก่เด็กด้วย โดยอาจรอได้จนถึงรุ่งเช้าถ้าเด็กไม่มีอาการอะไร
2. ถ้าสิ่งแปลกปลอมอยู่ตื้น อาจจะลองขยับโยกปลายจมูกดู หรือให้เด็กสั่งน้ำมูกแรงๆ ใช้มือปิดรูจมูกอีกข้าง และให้เด็กสั่งน้ำมูกแรง 2 – 3 ครั้ง อาจจะทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาได้เอง ถ้าไม่ออกให้รีบมา/พาเด็กมาพบแพทย์
3. ในผู้ป่วย/เด็กบางราย แพทย์อาจจะต้องเอาสิ่งแปลกปลอมออกภายใต้การดมยาสลบ ดังนั้นจึงแนะนำให้งดน้ำและอาหารก่อนมาพบแพทย์ เพื่อป้องกันการสำลักเศษอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าปอดช่วงดมยาสลบ
- ข้อห้ามในการกระทำ
1. อย่าพยายามเอาคีม/เครื่องมือต่างๆคีบเอาสิ่งแปลกปลอมออกเอง เพราะจะดันเอาสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในหลอดลม/ปอดได้
2. ในเด็ก/ผู้ป่วยที่ไม่ร่วมมือ อย่าใช้เครื่องมือแข็งๆเขี่ยสิ่งแปลกปลอม เพราะเด็กอาจจะสะบัดศีรษะ เกิดการบาดเจ็บของจมูกได้
3. อย่าดันสิ่งแปลกปลอมให้ตกลงไปในคอ เพราะ อาจสำลักเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหลอมลม ส่งผลให้เกิดทางเดินหายใจอุดตัน อาจถึงเสียชีวิตได้
มีกรณีอะไรบ้างที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลด่วน?
กรณีต้องรีบไปโรงพยาบาลด่วน คือ
1. สิ่งแปลกปลอมเป็นแบตเตอรี่ (Disk battery) เพราะแบตเตอรี่จะปล่อยด่างออกมา ซึ่งด่างมีคุณสมบัติทำให้เนื้อเน่าตาย เกิดบาดแผลที่ผนังจมูกได้
2. ผู้ป่วย/เด็กที่มีการรักษาไซนัสอักเสบมานาน และรักษาไม่หายขาด มีการเป็นซ้ำบ่อยๆและเป็นข้างเดียว ให้คิดถึงว่าจะมีสิ่งแปลกปลอมในจมูกข้างนั้นได้ ควรปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก เพื่อการตรวจวินิจฉัยและให้ยารักษาภาวะอักเสบที่เหมาะสม
ป้องกันสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าจมูกอย่างไร?
ป้องกันสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าจมูกได้โดย
- ควรระมัดระวังในการเลี้ยงดูเด็ก เศษของเล่นต่างๆ เมล็ดผลไม้ ต้องเก็บทิ้ง ไม่ให้เด็กเห็น ไม่ให้เด็กเล่น
- เป็นธรรมชาติของเด็กในช่วงพัฒนาการที่ชอบสำรวจและอยากรู้ยากเห็น ดังนั้นพ่อแม่ต้องสอนให้เด็กทราบว่าไม่ควรจะเอาสิ่งต่างๆใส่เข้าไปในจมูก
บรรณานุกรม
- ศิริเกียรติ ประเสริฐศรี : สิ่งแปลกปลอมด้าน หู คอ จมูก ใน กรีฑา ม่วงทอง บรรณาธิการ ตำราโรคหู คอ จมูก โครงการตำรา วพม. นำอักษรการพิมพิ์ 2548 : 292-300.
- อุศนา พรหมโยธิน, Foreign body in ENT, หู คอ จมูก เร่งด่วน ใน กรีฑา ม่วงทอง บรรณาธิการ โครงการตำรา วพม. พ.ศ. 2552
Updated 2018,June16