สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 25: ท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก (Childhood nasolacrimal duct obstruction)

ท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก เป็นการอุดตันของท่อน้ำตาบริเวณปลายท่อที่เปิดสู่โพรงจมูก พบได้ร้อยละ 5 (5%)ในเด็กแรกเกิดที่คลอดครบกำหนด เนื่องจากมีเนื้อเยื่อบางๆ ปิดที่ปลายท่อดังกล่าวซึ่งเป็นภาวะนี้ตั้งแต่เกิด แต่เด็กมักมีอาการเมื่ออายุประมาณ 1 เดือนถึงร้อยละ 80 – 90 (80-90%) คาดว่าแรกเกิดการสร้างน้ำตาของต่อมต่างๆ อาจจะยังไม่มาก จึงยังไม่มีอาการ เมื่ออายุ 1 เดือน จึงเกิดอาการน้ำตาไหลเพราะท่อระบายน้ำตาดังกล่าวอุดตัน

อาการเด็กที่เป็นโรคนี้ อาการเบื้องต้นได้แก่ มีน้ำตาคลอที่เบ้าตา ตามด้วยน้ำตาไหลออกมา หลายวันเข้ามีการติดเชื้อ จะมีขี้ตาเป็นมูกๆ ปนมากับน้ำตา หากการอักเสบเป็นมากขึ้น นอกจากมีน้ำตาไหล ยังมีขี้ตาออกมาเกรอะ โดยเฉพาะเวลาตื่นนอนจะพบหนังตาบนและล่างติดกันจากขี้ตา

อย่างไรก็ตามภาวะมีน้ำตาไหลออกมากในเด็กเล็ก นอกจากท่อน้ำตาอุดตัน ยังมีโรคที่ร้ายแรงกว่าคือ ต้อหินแต่กำเนิด ซึ่งนอกจากน้ำตาไหล เด็กจะมีภาวะตากลัวแสง เด็กจะหลับตาเวลาเจอแสง เป็นภาวะที่ร้ายแรง อาจนำไปสู่ตาบอดได้ ในขณะที่ท่อน้ำตาอุดตันไม่มีผลต่อสายตา จึงต้องนำเด็กพบจักษุแพทย์/หมอตา เพื่อตรวจให้แน่ใจว่า เป็นภาวะท่อน้ำตาอุดตัน ไม่ใช่โรคต้อหิน

ในเด็กบางคน อาจมีการอักเสบของถุงน้ำตาซึ่งอยู่ถัดจากปลายท่อน้ำตา กล่าวคือเมื่อน้ำตาไหลออกจากท่อน้ำตาไม่ได้ ก็จะท้นมาอยู่ที่ถุงน้ำตาซึ่งอยู่บริเวณหัวตาบริเวณหนังตาล่าง ทำให้ถุงน้ำตาอักเสบโป่งออกมาบริเวณหัวตาของหนังตาล่าง เห็นคล้ายๆ ฝีได้

การรักษาภาวะนี้เบื้องต้น ด้วยวิธีนวดบริเวณหัวตา การนวดจะทำให้น้ำตาที่ขังอยู่ โดยเฉพาะบริเวณถุงน้ำตาไหลออกไม่มีน้ำตาขัง อีกทั้งอาจมีแรงดันทำให้ปลายท่อที่ถูกปิดด้วยเนื้อเยื่อบางๆนั้น ขาดออก ทำให้ท่อทำงานได้อย่างสมบูรณ์หายจากอาการน้ำตาไหลได้ ในเด็กบางคนอาจมีการติดเชื้อมีขี้ตา ต้องใช้ยาหยอดตาที่เป็นยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อเป็นครั้งคราว

โดยทั่วไปร้อยละ 70 (70%) ของเด็กที่เป็นโรคนี้หายได้โดยวิธีนวดบริเวณหัวตาเมื่ออายุ 1 ปี จักษุแพทย์และกุมารแพทย์จึงมักแนะนำให้ใช้วิธีนวดหัวตาไปก่อน หากไม่ได้ผลหรือมีอาการอักเสบติดเชื้อบ่อย จึงตัดสินด้วยวิธีแยงท่อน้ำตา ทั้งนี้ไม่มีหลักตายตัวว่า ควรจะพิจารณาแยงท่อน้ำตาเมื่อใด ขึ้นอยู่กับอาการของเด็กและต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในการต้องแยงท่อน้ำตาโดยวิธีดมยาสลบ ซึ่งอาจมีผลแทรกซ้อนจากยาสลบได้ มีรายงานว่า การแยงท่อน้ำตาในเด็กอายุภายใน 15 เดือน โอกาสสำเร็จมีสูงกว่าทำในเด็กที่โตกว่านี้ กล่าวคือ ถ้ารอทำตอนเด็กโตกว่านี้ อาจต้องทำการแยงมากกว่า 1 ครั้ง ในเด็กบางราย การแยงท่ออย่างเดียวไม่พอ อาจต้องวางท่อด้วย เป็นท่อ ซิลิโคน (silicone) และใส่ท่อค้างไว้ประมาณ 3 – 6 เดือน เพื่อช่วยขยายท่อน้ำตาให้กลับมาทำงานได้ดีเป็นปกติ