สมองอักเสบ (Encephalitis)
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 6 กรกฎาคม 2562
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคสมองอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?
- โรคสมองอักเสบมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคสมองอักเสบได้อย่างไร?
- รักษาโรคสมองอักเสบอย่างไร?
- โรคสมองอักเสบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร?ป้องกันโรคสมองอักเสบอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ไข้สมองอักเสบ (Infectious encephalitis)
- โรคไวรัสสมองอักเสบ (Viral encephalitis)
- วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี
- โรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile virus infection)
- ตารางการรับวัคซีน หรือ ตารางการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน
- วัคซีนที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย(Thailand National Essential Medicine: Vaccine)
บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
โรคสมองอักเสบ (Encephalitis) คือ โรคที่เนื้อสมองมีการอักเสบ การอักเสบอาจเกิดทั้งสมองหรือบางส่วนของเนื้อสมอง สามารถเป็นได้ทั้งแบบเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรังก็ได้
สาเหตุของสมองอักเสบเกิดได้ทั้งจาก การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือโปรโตซัว(สัตว์เซลล์เดียว/Protozoa) รวมทั้งจากสาเหตุอื่นที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น จากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ส่วนคำว่า สมองใหญ่อักเสบ(Cerebritis)คือ ภาวะที่เนื้อสมองมีการอักเสบรุนแรง และในที่สุดจะกลายเป็นฝีในสมอง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดที่รุนแรง
ทั้งนี้ เชื้อที่เป็นสาเหตุสมองอักเสบ เชื้อบางตัว/บางชนิดมียารักษา บางชนิดไม่มี และบางชนิดมีวัคซีนสำหรับป้องกันการเกิดโรคได้
สถิติการเกิดสมองอักเสบในประเทศตะวันตกในแต่ละปี ประมาณ 7.4 รายต่อประชากร 1แสนคน ส่วนในประเทศเขตร้อนพบได้ 6.3 รายต่อประชากร1แสนคนต่อปี
โรคสมองอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?
โรคสมองอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
ก. ไวรัส: เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด มีไวรัสอยู่หลายชนิดที่ก่อให้เกิดโรคสมองอักเสบได้
- แต่ที่พบบ่อยสุด คือ กลุ่มของไวรัสที่อาศัยแมลงเป็นพาหะโรคนำโรคมาสู่คนซึ่งเรียกว่า อาร์โบไวรัส(Arboviruses) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ในแต่ละประเทศ แต่ละทวีปจะพบชนิดของไวรัสในกลุ่มนี้ที่เป็นสาเหตุของโรคไม่เหมือนกัน และมักเกิดการระบาดเป็นช่วงๆ เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ไวรัสที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ชื่อ St. Louis encephalitis virus, California encephalitis virus และ West Nile encephalitis virus (โรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์)
- สำหรับประเทศไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย ไวรัสที่เป็นสาเหตุหลัก ชื่อ Japanese encephalitis virus(ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดไข้เลือดออก) ไวรัสชนิดนี้อาศัยยุงรำคาญ(บางคน เรียกว่า ยุงบ้าน เป็นยุงตัวเล็กๆ สีดำ หรือ น้ำตาลเข็ม ไม่มีลวดลายบนตัว หรือ บนปีก เพาะพันธุ์ในแหล่งน้ำเน่าเสียซึ่งมักอยู่ใกล้ๆบ้าน หากินทั้งกลางวันและกลางคืน แต่มักพบเห็นเวลาหัวค่ำ จึงพบได้ทั่วไปตามบ้านพักอาศัย โดยเฉพาะในแหล่งชุมชน)เป็นตัวนำโรคมาสู่คน และสัตว์ที่เป็นแหล่งรังโรคของไวรัสชนิดนี้ที่สำคัญ คือหมู นอกจากนี้ได้แก่ นก ม้า วัว ควาย แพะ แกะ โดยที่สัตว์เหล่านี้จะไม่มีอาการปรากฏให้เห็น ยกเว้นม้าที่อาจมีอาการได้
- ไวรัสในกลุ่มอื่นที่ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบชนิดที่พบเห็นได้เหมือนกันทั่วโลก แต่พบได้น้อย เช่น ไวรัสเริม(โรคเริม), ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคคางทูม, ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด, ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส, ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัดเยอรมัน, ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า, ไวรัส HIVที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ ,ไวรัสชื่อย่อว่า อีบีวี( EBV, โรคติดเชื้ออีบีวี), และไวรัสชื่อย่อว่า ซีเอ็มวี(CMV, โรคติดเชื้อซีเอมวี)
ข. แบคทีเรีย: พบเป็นสาเหตุได้น้อยกว่าไวรัสมาก โดยส่วนใหญ่การติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้เกิดสมองอักเสบแบบ ‘สมองใหญ่อักเสบ’ และกลายเป็นฝีในสมอง ส่วนน้อยจะทำให้เกิดสมองอักเสบแบบทั่วไปที่ไม่กลายเป็นฝี ซึ่งอาการของสมองใหญ่อักเสบ จะแตกต่างกับอาการของสมองอักเสบทั่วไป จึงจะไม่ขอกล่าวถึงโรคสมองใหญ่อักเสบอีกต่อไป
ค. โปรโตซัว(Protozoa/สัตว์เซลล์เดียว): พบเป็นสาเหตุได้น้อยเช่นกัน เช่น โปรโตซัวที่ทำให้เกิด โรคมาลาเรีย, โปรโตซัวชื่อ Acanthamoeba spp.ที่ทำให้เกิดกระจกตาอักเสบในคนที่ใส่คอนแทคเลนส์, โปรโตซัวชื่อ Naegleria fowleri ที่พบอยู่ในแหล่งน้ำจืดและจะติดมาจากการว่ายน้ำ, โปรโตซัวชื่อ Toxoplasma gondii ที่ทำให้เกิดโรคในหลายอวัยวะและทำให้ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อพิการได้
ง. เชื้อรา: พบเป็นสาเหตุได้น้อยมาก เชื้อส่วนใหญ่จะทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และเป็นฝีในสมองมากกว่าเกิดโรคสมองอักเสบ
จ. สาเหตุอื่นๆที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ: เช่น โรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคทำงานผิดปกติ ชื่อโรค Acute disseminated encephalitis, หรือ จากการแพร่กระจายของโรคมะเร็งสู่สมองและสู่เยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น
โรคสมองอักเสบมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคสมองอักเสบที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสกลุ่มที่อาศัยแมลงเป็นพาหะโรค ส่วนใหญ่ 90% จะไม่ปรากฏอาการ
- เด็กทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศ จะมีโอกาสเกิดโรคสมองอักเสบจากเชื้อเริมได้สูง ส่วนผู้ใหญ่หรือเด็กทั่วไป มีโอกาสเกิดภาวะสมองอักเสบจากเริมได้ไม่บ่อยนัก โดยพบได้ประมาณ 0.2 คนต่อประชากร 100,000 คน
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคอีสุกอีใส จะเกิดโรคสมองอักเสบได้ประมาณ 1-2 คนในผู้ป่วยอีสุกอีใส 1,000 คน
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัด จะเกิดโรคสมองอักเสบได้ประมาณ 1 คนในผู้ป่วยโรคหัด 1,000 คน
- ส่วนอาการสมองอักเสบชนิดพิเศษที่เรียกว่า Subacute sclerosing panencephalitis(SSPE) พบได้ประมาณ 1 ใน 100,000
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัดเยอรมัน จะเกิดโรคสมองอักเสบน้อยกว่าโรคหัดประมาณ 5 เท่า
- ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า จะเกิดโรคสมองอักเสบ 100%
อนึ่ง โดยทั่วๆไป การติดเชื้อไวรัส จะเริ่มด้วยอาการที่ไม่จำเพาะ ได้แก่ มีไข้, ปวดศีรษะ, คลื่นไส้ อาเจียน, อ่อนเพลีย, เมื่อยล้า, ปวดกล้ามเนื้อ
หลังจากนั้นจึง จะมีอาการที่จำเพาะกับแต่ละเชื้อไป เช่น
- โรคอีสุกอีใส ก็จะมีผื่นที่เป็นตุ่มน้ำใส เป็นต้น
- ยกเว้นแต่เชื้อไวรัสกลุ่มที่อาศัยแมลงเป็นพาหะนำโรค จะไม่มีอาการจำเพาะตามมา โดยเมื่อเชื้อเข้าไปทำให้เกิดสมองอักเสบแล้ว ก็จะเกิดอาการของสมองอักเสบขึ้นเพียงอย่างเดียว
สำหรับเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ หรือเชื้ออื่นๆ อาการสมองอักเสบที่เกิดขึ้นจะเหมือนกัน คือ
- ระดับความรู้สึกตัวจะลดลง ซึ่งอาจมากน้อยแตกต่างกัน บางคนอาจแค่ซึมเล็กน้อย บางคนซึมมากถึงขั้นโคม่า
- การรับรู้เปลี่ยนไป เช่น สับสน หลงลืม ประสาทหลอน การรับรู้วันเวลา สถานที่ ผิดไป รวมถึงอาจมีพฤติกรรมแปลกไป
- อาการชัก ทั้งชักแบบเฉพาะที่ และชักแบบทั้งตัว
- อาการที่เกิดจากเซลล์ประสาทในสมองถูกทำลาย ซึ่งจะมีอาการหลากหลาย ไม่เหมือนกันในแต่ละคน ขึ้นกับว่าสมองส่วนไหนถูกทำลาย เช่น พูดไม่ได้ เดินเซ อัมพาตครึ่งซีก เกิดการกระตุกตามตัวหรือแขนขาที่ควบคุมไม่ได้ มุมปากเบี้ยวตก ตากลอกไม่ได้ กลืนลำบาก
- ถ้าเซลล์ประสาทที่ควบคุมต่อมใต้สมองถูกทำลาย อาจทำให้ร่างกายควบคุมอุณหภูมิในร่างกายไม่ได้ การขับน้ำและเกลือแร่เสียสมดุล(ภาวะเบาจืด)
- โดยส่วนใหญ่ ผู้ที่มีโรคสมองอักเสบ มักมีโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย
- อาการสำคัญของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือ ปวดศีรษะและต้นคอ คอแข็ง อาจมีอาการตากลัวแสงด้วย
อนึ่ง สำหรับเด็กแรกคลอด(หลังคลอดไม่เกิน 6 สัปดาห์) ที่เกิดโรคสมองอักเสบจะมีอาการ คือ
- ไม่ค่อยดูดนม งอแงบ่อย
- ไม่ค่อยตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น เช่น เสียงเรียกของแม่ และ
- มีอาการชัก
- ถ้าเป็นกรณีที่ติดเชื้อเริมมาจากแม่ที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศ อาจจะตรวจพบตุ่มของเริม ตามตัว ที่ปาก หรือที่ตาได้
- นอกจากนี้จะตรวจพบว่ามี ตับโต ตัวเหลือง และมีผื่นขึ้นบริเวณลำตัว
แพทย์วินิจฉัยโรคสมองอักเสบได้อย่างไร?
การวินิจฉัยโรคสมองอักเสบ แพทย์วินิจฉัยจาก
- อาการดังกล่าวข้างต้นใน’หัวข้อ อาการฯ’
- สำหรับการวินิจฉัยว่าสมองอักเสบเกิดจากเชื้อใด จะต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งได้แก่การตรวจวิเคราะห์น้ำไขสันหลัง ดูชนิดของเม็ดเลือดขาว, ความดันของน้ำไขสันหลัง, ระดับน้ำตาลและระดับโปรตีนในน้ำไขสันหลัง, และการย้อมเชื้อ เพื่อดูแบคทีเรีย, จะช่วยแยกคร่าวๆได้ว่าโรคสมองอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัส, แบคทีเรีย, เชื้อรา, หรือโปรโตซัว, หรือ สาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
- หลังจากคาดการณ์ว่า สมองอักเสบน่าเกิดจากเชื้อในกลุ่มใดแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือต้องระบุชนิดเชื้อเพราะมีความสำคัญต่อการเลือกใช้ยารักษา
- ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรีย หรือโปรโตซัว ก็อาศัยการเพาะเชื้อใน ห้องปฏิบัติการ
- สำหรับเชื้อไวรัส การเพาะเชื้อทำได้ยากและความไว(โอกาสตรวจพบเชื้อ)ต่ำ การตรวจที่มีความไวและจำเพาะสูง คือ การตรวจดูรหัสพันธุกรรมของไวรัสด้วยเทคนิค ที่เรียกว่า พีซีอาร์(PCR) แม้จะเป็นการตรวจที่มีราคาแพง แต่จำเป็นในผู้ป่วยที่สงสัยว่าน่าจะเกิดจากเชื้อไวรัส โดยเฉพาะในเด็กทารก เพื่อที่จะแยกให้ได้ว่าเกิดจากเชื้อไวรัสเริมหรือไม่ เพราะเชื้อชนิดนี้มียาสำหรับรักษาเฉพาะ ส่วนเชื้อชนิดอื่นการตรวจด้วยวิธี พีซีอาร์ จะมีความไวและความจำเพาะไม่สูงมาก
- การตรวจหาสารภูมิคุ้มกัน/แอนติบอดี(Antibody)ของเชื้อในน้ำไขสันหลัง เป็นอีกวิธีที่ใช้ระบุชนิดของเชื้อไวรัสได้ สำหรับไวรัสเริม วิธีนี้จะสามารถตรวจพบเมื่อมีสมองอักเสบนานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ซึ่งอาจทำให้ล่าช้าในการรักษา การตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคเริมหรือไม่ จึงต้องใช้เทคนิค พีซีอาร์ ดังกล่าว
- การตรวจเลือดซีบีซี(CBC)เพื่อดูเม็ดเลือด ถ้าเป็นเชื้อไวรัส การตรวจ ดูเม็ดเลือดมักจะปกติ หรือเม็ดเลือดขาวต่ำ ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรีย เม็ดเลือดขาวจะขึ้นสูง หรือ สำหรับสาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เม็ดเลือดขาวจะปกติ เป็นต้น
- การตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอ เพื่อแยกโรคอื่นที่ให้อาการคล้ายสมองอักเสบ เช่น เนื้องอกสมอง หรือ ตรวจว่าความดันในสมองสูงหรือไม่ เพราะถ้าสูง จะไม่สามารถเจาะน้ำไขสันหลังไปตรวจได้ นอกจากนี้ อาจช่วยบอกชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิดสมองอักเสบได้ โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อเริม และเชื้อโปรโตซัว Toxoplasma gondii
- การตัดชิ้นเนื้อสมองเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เป็นวิธีที่ยุ่งยากและอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เพราะต้องวางยาสลบและเปิดกะโหลกศีรษะ จะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถหาสาเหตุของเชื้อโดยวิธีอื่นๆได้
รักษาโรคสมองอักเสบอย่างไร?
การรักษาโรคสมองอักเสบ ได้แก่
ก. โรคสมองอักเสบที่เกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือโปรโตซัว: การรักษาคือ
- ให้ยาฆ่าเชื้อนั้นๆ ร่วมกับ
- การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ
ข. โรคสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส:
- จะให้การรักษาแบบประคับประคองฯเป็นหลัก
- เว้นแต่โรคสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเริม ที่ต้องให้ยาฆ่าเชื้อไวรัส/ยาต้านไวรัส เพราะพิสูจน์แล้วว่า ยามีประสิทธิภาพในการรักษาและช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้
- สำหรับยาต้านไวรัสในกรณีที่ติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น เช่น เชื้อที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เชื้ออีบีวี และเชื้อ ซีเอมวี อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส แต่ประสิทธิภาพของยาในการรักษาไวรัสกลุ่มนี้ยังไม่ชัดเจน
- ส่วนเชื้อไวรัสอื่นๆที่เหลือ รวมทั้ง ไวรัส เจอี ที่เป็นปัญหาในประเทศไทย ยังไม่มียาต้านไวรัสโดยเฉพาะ
ค. การรักษาประคับประคองตามอาการ : เช่น
- การให้ยาลดไข้
- การให้ยากันชัก
- การให้สารน้ำ
- การควบคุมความดันโลหิต
- การควบคุมความดันในสมองไม่ให้สูง
- ถ้าอาการรุนแรง
- ก็ต้องดูแลผู้ป่วยในหน่วยดูแลผู้ป่วยวิกฤติ/ไอซียู(ICU, Intensive care unit)
- การดูแลระบบหายใจ
- ในกรณีที่ซึมมากอาจต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
โรคสมองอักเสบรุนแรงไหม?มีผลข้างเคียงไหม?
อัตราการเสียชีวิต และผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ที่เกิดขึ้นหลังจากหายจากโรคสมองอักเสบแล้ว จะแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค ยกตัวอย่างในเชื้อไวรัสที่เห็นความแตกต่างชัดเจน คือ ถ้าเป็นการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า โอกาสเสียชีวิตคือ 100%, ที่ร้ายแรงรองลงมาคือเชื้อ Eastern equine encephalitis virus ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตถึง 50-75% และ 80% ของผู้ที่รอดชีวิตจะมีความพิการทางสมองตามมา, แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อ California encephalitis virus จะมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่า 1% และแทบไม่เกิดความพิการทางสมองในผู้ที่รอดชีวิต
สำหรับโรคสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสเริม ถ้าได้รับยาต้านไวรัสรักษา โอกาสรอดชีวิตมีประมาณ 80% และในจำนวนผู้ป่วยที่รอดชีวิต ประมาณ 50% จะมีความพิการทางสมองตามมา
ส่วนโรคสมองอักเสบจากเชื้อ เจอี พบอัตราการเสียชีวิตประมาณ 15-30% โดยประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่รอดชีวิตจะมีความผิดปกติทางสมองหลงเหลืออยู่ เช่น ปัญญาอ่อน ชัก เกร็ง อัมพาต เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไร? ป้องกันโรคสมองอักเสบอย่างไร?
การดูแลตนเอง และการป้องกันโรคสมองอักเสบ ได้แก่
ก. สำหรับโรคสมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสกลุ่มที่อาศัยแมลงเป็นพาหะ ในประเทศไทย มีวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี โดยแนะนำให้เริ่มฉีดวัคซีนเมื่ออายุได้ 1 ปีครึ่ง ซึ่งถ้าใช้วัคซีนชนิดเชื้อตาย ให้ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม แต่ถ้าเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ให้ฉีด 2 เข็ม
เชื้อไวรัส เจอี อาศัยยุงรำคาญเป็นพาหะโรค และหมูเป็นแหล่งรังโรค แต่การป้องกันโดยการควบคุมจำนวนยุงซึ่งอาศัยอยู่ในนาข้าว และควบคุมการเลี้ยงหมูเป็นไปได้ยาก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม
สำหรับประเทศอื่นๆ ก็จะมีวัคซีนป้องกันไวรัสกลุ่มที่อาศัยแมลงเป็นพาหะตัวอื่นๆ ที่เป็นปัญหาสำคัญกับประเทศนั้นๆ
ข. โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคคางทูม โรคอีสุกอีใส และโรคพิษสุนัขบ้า มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกัน แนะนำอ่านรายละเอียดในเรื่องวัคซีนเหล่านี้ได้ในเว็บ haamor.com ในบทความดังต่อไปนี้
- ตารางการรับวัคซีนหรือตารางการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน
- วัคซีนที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย(Thailand National Essential Medicine: Vaccine)
- วัคซีนหัดเยอรมัน
- วัคซีนโรคอีสุกอีใส
- วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า
ค. สำหรับเชื้อโรคเริม, เชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ, เชื้อแบคทีเรีย, เชื้อรา, เชื้อโปรโตซัว, ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ผู้ป่วยทุกคน ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อ
- มีอาการสำคัญที่บ่งว่า น่าจะมีโรคสมองอักเสบ คือ ระดับความรู้สึกตัวที่ลดลง เช่น ดูซึมๆ ไม่พูดจา ไม่ทำกิจกรรมที่เคยทำ ซึ่งคนที่อยู่ใกล้ชิดต้องเป็นผู้สังเกต โดยเฉพาะถ้าร่วมกับ มีไข้, บ่นปวดศีรษ,ะ อาเจียน, ให้รีบพาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว(ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ ฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ)
- สำหรับอาการอื่นๆ จะค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว ที่จะต้องพาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ได้แก่ อาการชัก, เป็นอัมพาต, พูดไม่ได้, สับสน, และ ประสาทหลอน
- เด็กที่คลอดจากมารดาที่เป็นโรคเริม โดยเด็กมีอาการไม่ค่อยดูดนม งอแงบ่อย และ/หรือตรวจพบมีตุ่มตามตัว ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วภายใน 24 ชั่วโมง หรือ ฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
- ถ้าถูกสุนัข แมว หนู หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด รวมทั้งค้างคาว งับ กัด เลีย แผล เลียปาก ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาการรับวัคซีนและอาจต้องรับยาภูมิคุ้มกันกรณีโรคพิษสุนัขบ้า
บรรณานุกรม
- Kenneth L.Tyler, viral meningitis and encephalitis, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001.
- https://emedicine.medscape.com/article/791896-overview#showall [2019,June15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Encephalitis [2019,June15]