วิธีให้นม และให้ยา เด็กอ่อนโรคหัวใจ (How to feed milk and medicine to congenital heart baby)
- โดย สุณีย์ ชื่นจันทร์
- 26 ตุลาคม 2562
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ทำไมเด็กโรคหัวใจถึงมีภาวะทุพโภชนา?
- ทำอย่างไรเด็กโรคหัวใจจึงเจริญเติบโตได้ตามปกติ?
- วิธีให้นมเด็กโรคหัวใจควรทำอย่างไร?
- วิธีให้ยาเด็กโรคหัวใจควรทำอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- รูปแบบยาเตรียม (Pharmaceutical Dosage Forms)
- เด็ก หรือ นิยามคำว่าเด็ก (Child)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- Lanoxin
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
บทนำ
คุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรและต่อมาพบว่า บุตรน้อยของตนเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด (Congenital heart disease) จะพบว่างานที่ท้าทายความสามารถสำหรับคุณแม่งานหนึ่งคือ การให้นมแก่บุตรน้อยที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด เพราะเด็กอ่อนที่เป็นโรคนี้จะมีปัญหาในการดูดนมอยู่หลายประการ เช่น ใช้เวลาในการดูดนมแต่ละครั้งนาน ดูดนมไม่ได้ เพราะ
- เหนื่อยเสียก่อน
- ดูดนมแล้วสำลัก
- หรือ อาเจียน เป็นต้น
ตามที่เราทราบกันดีแล้วว่า เด็กที่เป็นโรคหัวใจ ส่วนใหญ่จะมีความผิดปกติในโครงสร้างของหัวใจ คือ อาจจะมีรูรั่วตรงผนังกั้นหัวใจ มีรอยตีบที่หลอดเลือดของหัวใจ หรือมีความผิดปกติของหัวใจหลายชนิดรวมกันก็ได้ ไม่ว่าเด็กจะมีความผิดปกติของหัวใจแบบใด ปัญหาเรื่องการเลี้ยงดู โดยเฉพาะการให้นม และการให้ยา เพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตเหมือนเด็กปกติยังคงเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเด็กโรคหัวใจ ส่วนใหญ่จะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทำให้เด็กมีน้ำหนักน้อยเมื่อเทียบกับเด็กปกติทั่วไปในวัยเดียวกัน ด้วยเหตุผลคือ เด็กโรคหัวใจมักได้รับสารอาหารได้น้อยจากปัญหา การดูดนมยาก ดูดช้า เหนื่อยเวลาดูดนม หรืออาจ มีการดูดซึมสารอาหารไม่ดีจากเนื้อเยื่อลำไส้ขาดออกซิเจนจากโรคหัวใจ และหรือจากปัญหาการขาดความรู้ ความเข้าใจของผู้เลี้ยงดูในการให้นมและให้สารอาหารแก่เด็กโรคหัวใจ
นอกจากได้รับสารอาหารน้อยแล้ว เด็กโรคหัวใจยังต้องการใช้พลังงานมากกว่าเด็กปกติ เพราะต้องใช้พลังงานในการสันดาป (การเผาผลาญให้เกิดพลังงาน) เนื้อเยื่อต่างๆมากขึ้น จากการมีภาวะ เหนื่อยง่าย หายใจและหัวใจเต้นเร็วขึ้น จากภาวะของโรคหัวใจแต่กำเนิดดังกล่าว
ทำไมเด็กโรคหัวใจถึงมีภาวะทุพโภชนา?
เด็กที่เป็นโรคหัวใจ มักมีความผิดปกติในโครงสร้างของหัวใจ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่เริ่มสร้างหัวใจตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดานั่นเลยทีเดียว ความผิดปกติของหัวใจที่พบมากที่สุดในเด็กคงหนีไม่พ้นการมีรูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจล่างหรือที่เรียกว่า Ventricular Septal Defect (VSD) ซึ่งปัญหาที่ติดตามเป็นเงาตามตัวของโรคหัวใจชนิดนี้ก็คือ
- การเกิดภาวะหัวใจวาย
- การมีโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจบ่อยๆ
- เด็กได้อาหารไม่เพียงพอจึงเลี้ยงไม่โต น้ำหนักขึ้นน้อยโดยเฉพาะเด็กอ่อน
- หรือเด็กอาจมีภาวะทุพโภชนาการ คือ ขาดอาหารจนเกิดโรคจากขาดอาหารไปเลย
เหตุผลของการเกิดปัญหาเหล่านี้คือ ร่างกายของเด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอในขณะเดียวกัน ร่างกายยังมีอัตราเผาผลาญพลังงานมากกว่าปกติคือ เด็กโรคหัวใจต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ
ในช่วงที่เด็กมีภาวะหัวใจวาย หรือมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เด็กจะเบื่ออาหาร ท้องอืด แน่นท้อง ลำไส้จะเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ เด็กบางคนอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการ หอบเหนื่อย ทำให้เด็กดูดนมหรือรับประทานอาหารได้น้อย เด็กบางคนอาจมีปัญหาของความผิดปกติในการดูดซึมอาหารจากลำไส้ร่วมด้วย ในสภาพที่เด็กมีหายใจเร็ว เหนื่อยหอบ หัวใจจะเต้นเร็วผิดปกติร่วมด้วย เด็กต้องใช้พลังงานจากร่างกายเพิ่มขึ้น ในขณะที่เด็กสามารถรับสารอาหารได้น้อย จึงทำให้เซลอยู่ในภาวะขาดสารอาหาร และออกซิเจน เด็กโรคหัวใจจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะมีภาวะทุพโภชนาการตามมา
ทำอย่างไรเด็กโรคหัวใจจึงเจริญเติบโตได้ตามปกติ?
การจะช่วยให้เด็กโรคหัวใจ เจริญเติบโตได้ตามปกติ ควรต้องเริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิด คือ การให้เด็กได้นม/อาหารอย่างเพียงพอ ดังนั้น แม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจึงต้องรู้จักวิธีให้นมเด็ก เพื่อให้เด็กได้อาหารอย่างเพียงพอ ไม่ขาดสารอาหารตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเจริญเติบโตได้อย่างใกล้เคียงปกติเมื่อเด็กเจริญเติบโตขึ้น
วิธีให้นมเด็กโรคหัวใจควรทำอย่างไร?
การให้นมในเด็กโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นการให้นมแม่หรือให้นมผสม หลังจากคลอด สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการที่จะสามารถให้นมได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของเด็ก คือ ต้องยึดหลัก “ความยืดหยุ่น” ทั้งระยะเวลาในรอบที่ให้นม และวิธีการให้นม
หลักสำคัญของการให้นมแก่เด็กโรคหัวใจ สามารถสรุปข้อสำคัญได้ดังต่อไปนี้
- ให้เด็กดูดนมบ่อยๆเท่าที่จะทำได้ ไม่ต้องยึดรูปแบบว่าจะต้องให้นมทุก 3 ชั่วโมง หรือทุก 4 ชั่วโมง หลักสำคัญของการให้นมเด็กโรคหัวใจ คือ ให้บ่อยๆ ครั้งละจำนวนน้อยๆ และระหว่างที่ให้นม ต้องมีการหยุดพักเป็นระยะๆ โดยประเมินจากสภาพของเด็กว่า ไม่มีอาการหอบเหนื่อย กล่าวคือ สังเกตจากลักษณะหายใจว่า เด็กหายใจเร็วกว่าปกติมาก ปีกจมูกบาน เมื่อมีอาการเหล่านี้ ให้เด็กหยุดพักก่อน แล้วให้ดูดใหม่เมื่ออาการเด็กกลับเป็นปกติ แม้ในเวลากลางคืน จำเป็นต้องกระตุ้นให้ดูดนมจนกระทั่งเด็กสามารถดูดนมได้มากขึ้น โดยปกติจะให้นมทุก 2 ชั่วโมงหรือเร็วกว่านั้น ค่อยๆเพิ่มจำนวนขึ้น ให้เด็กสามารถดูดนมได้มากขึ้นทีละน้อย อาจใช้วิธีผสมผสานระหว่างการให้นมมารดา และการให้ดูดนมผสมจากขวดเพิ่มเติม มารดาหลังคลอดที่พบว่าบุตรเป็นโรคหัวใจและต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล มารดาต้องใช้เครื่องปั๊มนมช่วยให้น้ำนมไหลต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะต่อมน้ำนมจะหยุดทำงานถ้ามารดาไม่กระตุ้นและบีบน้ำนมออกมา เมื่อได้น้ำนมแล้วสามารถรักษานมมารดาไว้ได้โดยการแช่ช่องแช่แข็งในตู้เย็น เพื่อนำมาให้ลูกดื่มขณะอยู่โรงพยาบาล
- เมื่อให้นมขวด การใช้จุกนมที่นิ่มเป็นพิเศษ โดยหัวนมที่ทำด้วยยางจะนิ่มกว่าหัวนมที่ทำด้วยซิลิโคน เด็กโรคหัวใจจำเป็นต้องใช้จุกนมที่มีรูหัวนมที่ใหญ่พอประมาณ (ประมาณเบอร์ M ของทารก) เพราะถ้าใช้จุกนมขนาดรูเล็กเกินไป เด็กจะดูดยาก ใช้แรงมาก เด็กจะเหนื่อย และจะกลืนอากาศเข้าไปในกระเพาะมาก อาจทำให้เด็กอาเจียน หรือท้องอืดได้ แต่ถ้าให้นมเด็กโดยใช้ขนาดของรูจุกนมที่ใหญ่เกินไป ถ้าเด็กหิวจะรีบดูดแล้วกลืนไม่ทัน เด็กอาจสำลักนมเข้าปอด เป็นอันตรายได้
คุณแม่และผู้เลี้ยงเด็ก สามารถทดสอบด้วยวิธีง่ายๆว่า ขนาดรูของจุกนมพอดีสำหรับเด็กหรือยัง โดยคว่ำขวดนมลง
- เขย่าขวดเบาๆ ถ้ามีน้ำนมไหลออกมาจากจุกนมไหลเป็นสายยาว แสดงว่ารูจุกนมใหญ่เกินไปสำหรับเด็กโรคหัวใจ เด็กอาจสำลักได้
- ถ้าเขย่าขวดนมแล้วไม่มีน้ำนมหยดออกมาเลย แสดงว่า ขนาดรูของจุกนมเล็กเกินไป
- แต่ถ้าเขย่าขวดนมแล้วมีน้ำนมไหลออกมาเป็นหยดๆ แสดงว่าขนาดของรูขวดนมเหมาะสม คุณแม่หรือผู้เลี้ยงดู สามารถนำไปใช้ให้นมทารกโรคหัวใจได้ โดยไม่ทำให้เด็กสำลักหรือเหนื่อยขณะดูดนม
- ขณะให้นมเด็กโรคหัวใจ คุณแม่หรือผู้เลี้ยงดู ต้องอุ้มเด็กให้ศีรษะของเด็กอยู่ในท่าหัวสูงเสมอ เพื่อป้องกันการสำลัก และเพื่อสามารถสังเกตได้ดีว่า เด็กมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น มีริมฝีปากเขียว หรือ มีปีกจมูกบาน หรือไม่ เพราะถ้าเด็กมีอาการเหนื่อยมาก จำเป็นต้องเว้นช่วงการดูดนม มีการพักเป็นช่วงๆ ระหว่างการดูดนม หมั่นจับเด็กให้อยู่ในท่านั่ง เพื่อให้เด็กได้เรอออกมา สามารถทำได้หลายครั้งระหว่างการดูดนมแต่ละมื้อ และหลังจากดูดนมเสร็จแล้วควรจับเด็กให้อยู่ในท่าหัวสูง/ท่านั่งอีกประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสระบายลมจากกระเพาะอาหารได้อีก อย่าจับเด็กให้นอนทันทีหลังจากดูดนมเสร็จ เพราะเด็กอาจสำรอกนมออกมาหรือสำลักนมได้
ข้อสำคัญที่คุณแม่และผู้เลี้ยงดูพึงรับทราบคือ เด็กแต่ละคนจะมีความเฉพาะและแตกต่างกัน ว่าสามารถดูดนมได้ครั้งละจำนวนเท่าใด คุณแม่และผู้เลี้ยงดูอย่านำบุตรหลานของตนไปเปรียบเทียบกับบุตรหลานของผู้อื่น เป้าหมายสำคัญของการให้นมคือ การทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ถ้าเด็กไม่สามารถดูดนมได้มากพอที่จะทำให้น้ำหนักขึ้นแม้จะพยายามอย่างหนัก สิ่งที่คุณแม่และผู้เลี้ยงดูพึงกระทำคือ ปรึกษากับกุมารแพทย์/หมอเด็ก เพื่อให้นมที่มีแคลอรีสูงกว่านมปกติ หรืออาจต้องใส่สายให้อาหาร (Tube feeding) ซึ่งอาจใส่สายผ่านทางจมูกหรือปากเข้าสู่กระเพาะอาหารและลำไส้ เพื่อช่วยเหลือให้เด็กได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความเจริญเติบโตต่อไป
วิธีให้ยาเด็กโรคหัวใจควรทำอย่างไร?
เด็กโรคหัวใจแต่กำเนิดส่วนใหญ่ จำเป็น ต้องรับยา Digitalis (Lanoxin, Digoxin) เพื่อควบคุมภาวะหัวใจวาย การใช้ยาตัวนี้ที่ความสำคัญคือ ต้องระมัดระวังในเรื่องขนาดของยาให้ถูกต้องแม่นยำตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น เพราะขนาดของยาที่ใช้ในการรักษาและขนาดของยาที่จะเกิดผลข้างเคียงของยาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ถ้ากินยามากเกินไปเพียงเล็กน้อยก็สามารถเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ห้ามปรับขนาดของยาเองอย่างเด็ดขาด ซึ่งข้อปฏิบัติสำหรับให้ยาตัวนี้มีดังต่อไปนี้
- ควรให้ยา Lanoxin ก่อนมื้อนมประมาณ 1 ชม.(ชั่วโมง) หรือ หลังมื้อนม 2 ชม.เนื่องจากยาอาจทำให้เด็กคลื่นไส้อาเจียนนมออกมาก่อนยาดูดซึมได้
- การให้ยา Lanoxin ควรใช้หลอดดูด (Dropper) หรือกระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 1 ซีซี (cc./Cubic centimeter) ดูดยาตามจำนวนที่แพทย์สั่ง ซึ่งในเด็กทารกไม่น่าจะเกิน 1 ซีซี และนำกระบอกฉีดยาที่ดูดยาไว้แล้วใส่เข้าข้างกระพุ้งแก้มเด็ก ค่อยๆหยดยาช้าๆที่ละหยด เพื่อให้เด็กสามารถกลืนได้ทันและไม่สำลัก ไม่ผสมยากับนมหรือน้ำ เพราะอาจทำให้เด็กได้รับยาไม่ครบขนาดที่ต้องการ ในเด็กที่มีฟันขึ้นบ้างแล้วให้เด็กดูดน้ำตามเล็กน้อยหลังกินยาเสร็จเพื่อล้างคราบยาที่ค้างในปาก (ยาของเด็ก มักมีน้ำตาลผสมอยู่ด้วยเพื่อให้เด็กกินได้ง่าย)ป้องกันฟันผุ เพราะฟันผุอาจเป็นช่องทางให้เด็กโรคหัวใจเกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ (เยื่อบุหัวใจอักเสบ)ได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ การดูดขนาดยา คุณแม่และผู้เลี้ยงเด็ก ควรขอคำแนะนำจากพยาบาลและฝึกปฏิบัติทำให้ถูกต้องแม่นยำ เพราะมีความสำคัญต่อความปลอดภัยของเด็กมาก
- ยา Lanoxin แพทย์ส่วนใหญ่จะสั่งให้ยาวันละ 2 ครั้ง เช้า และ เย็น ถ้าลืมให้ยานานเกิน 4 ชม ให้งดยามื้อนั้นไม่ต้องให้ยาเด็กแทนมื้อที่ลืม แต่ถ้าคิดขึ้นได้ก่อนผ่านไป 4 ชม. สามารถให้ยาได้ทันที ในกรณีที่ลืมให้ยามากกว่า 2 มื้อ ควรปรึกษาพยาบาลหรือแพทย์ ห้ามเพิ่มขนาดของยาเป็น 2 เท่าของมื้อที่ลืมโดยเด็ดขาด
- กรณีให้ยา Lanoxin แล้วเด็กอาเจียนทันที หรืออาเจียนภายใน 15 นาทีหลังให้ยา สามารถให้ยาซ้ำได้ แต่ถ้าเด็กอาเจียนหลังให้ยาแล้วนานเกิน 15 นาที หรือไม่แน่ใจไม่ควรให้ยาซ้ำ
- ให้เก็บยาไว้ให้พ้นมือเด็ก กรณีเด็กได้รับยาเกินขนาดให้รีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลทันที นอกจากนั้น ควรสังเกตอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง/ อาการไม่พึงประสงค์จากยา) ของยาเสมอเพราะจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ เช่น เด็กกินนมได้น้อยลง มีอาเจียนมากกว่าวันละ 3 ครั้ง และ/หรือเด็กอาจมีชีพจรเต้นช้าลง ซึ่งเมื่อพบอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำเด็กไปโรงพยาบาลโดยด่วน
บรรณานุกรม
- Wong D.L., Whaley L.F. & Kasprisin C.A. (1990). Clinical Manual of Pediatric Nursing. 3ed. Baltimore: C.V. Mosby
- พรทิพย์ ศิริบูรณ์พิพัฒนา ( 2554). การพยาบาลเด็ก เล่ม 2. นนทบุรี: บริษัท ยุทธรินทร์ การพิมพ์จำกัด