รังสีจากการตรวจโรค รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา (Ionizing radiation)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 21 พฤษภาคม 2560
- Tweet
- รังสีที่ใช้ตรวจโรคคือรังสีอะไร? มีผลต่อเซลล์อย่างไร?
- รังสีฯถนอมอาหารได้อย่างไร?
- ปัจจัยเสี่ยง และผลกระทบเสียหายจากรังสีฯมีอะไรบ้าง?
- ป้องกันรังสีฯจากตรวจโรคไม่ให้ได้รับมากเกินไปได้อย่างไร?
- รู้ได้อย่างไรว่ามีรังสีฯในบริเวณต่างๆ?
- สรุป
- บรรณานุกรม
- เอกซเรย์: การถ่ายภาพเอกซเรย์ (X-ray imaging)
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (X-ray Computerized Tomography) / ซีทีสแกน (CT-scan)
- รังสีวิทยา (Radiology) รังสีวินิจฉัย (Diagnostic Radiology) ฉายาเวชศาสตร์ (Imaging Medicine) รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา (Therapeutic Radiology and Oncology) และ เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine)
- การสะแกนกระดูก โบนสะแกน โบนสแกน (Bone scan)
- เพทสะแกน หรือ เพท-ซีทีสะแกน (PET scan หรือ PET-CT Scan)
- ความหนาแน่นมวลกระดูก (BONE MINERAL DENSITY)
- น้ำแร่รังสีไอโอดีน (Radioiodine)
รังสีที่ใช้ในการตรวจโรคคือรังสีอะไร? มีผลต่อเซลล์อย่างไร?
โดยทั่วไปรังสี ที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรค คือ รังสีเอกซ์ (X-rays) และรังสี แกมมา (Gamma rays) เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น รังสีเอกซ์ และรังสีแกมมา มีคุณสมบัติทาง ฟิสิกส์ เคมี ทางชีววิทยา และทางการแพทย์เหมือนกันทุกประการ เพียงแต่มีต้นกำเนิดที่แตกต่างกัน โดยรังสีเอกซ์ที่นำมาใช้ตรวจโรคได้จากเครื่องผลิตทางฟิสิกส์ (เครื่องเอกซเรย์) เป็นรังสีที่เกิดจากอีเล็กตรอน (Electron) ที่อยู่นอกนิวเคลียส (Nucleus) ของอะตอม (Atom) แต่รังสีแกมมาเกิดจากแร่ธาตุรังสี โดยเกิดจากอีเล็กตรอนที่ถูกปล่อยออกมาจากนิวเคลียสของอะตอมของแร่ธาตุรังสี ดังนั้นในบทความนี้ จึงจะกล่าวถึงรังสีทั้ง 2 นี้ไปด้วยกัน โดยจะเรียกว่า “รังสีฯ”
การตรวจโรคในส่วนของรังสีเอกซ์ จะโดยการถ่ายภาพอวัยวะส่วนที่ต้องการตรวจจากเครื่องเอกซเรย์ธรรมดา ซึ่งเป็นการถ่ายภาพโดยรวมของอวัยวะทั้งอวัยวะในคราวเดียวกัน ได้ภาพเป็นภาพ 2 มิติ หรือตรวจจากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เรียกว่า เครื่องซีทีสแกน หรือแคทสแกน (CT-scan,Computed tomography หรือ CAT-scan,Computerized axial tomo graphy) ซึ่งเป็นการถ่ายซอยภาพของอวัยวะต่างๆออกเป็นแผ่นบางๆหลายๆแผ่นต่อหนึ่งอวัยวะ และได้ภาพเป็นภาพ 3 มิติ ทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติของอวัยวะนั้นๆได้ละเอียดแม่น ยำมากกว่าภาพจากเครื่องเอกซเรย์ธรรมดา การตรวจด้วยรังสีเอกซ์นี้ทางการแพทย์เรียกว่า การตรวจทางรังสีวินิจฉัย (Diagnostic radiology)
ส่วนการตรวจโรคด้วยรังสีแกมมา เป็นการตรวจโรคทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear medicine) โดยการฉีด หรือรับประทานยาซึ่งมีส่วนผสมของสารไอโซโทป หรือ สารกัมมันตรัง สี (Radioisotope) ที่ให้รังสีแกมมา หลังจากนั้นจะตรวจจับปริมาณรังสีที่ไปจับอยู่ในอวัยวะที่ต้องการตรวจด้วยเครื่องตรวจจับรังสี แล้วแปลงกลับเป็นภาพของอวัยวะนั้นๆ การตรวจที่ใช้บ่อย เช่น การตรวจภาพกระดูกทั้งตัวเพื่อตรวจว่ามีการแพร่กระจายของโรคมะเร็งเข้ากระดูกหรือไม่ เรียกว่า การตรวจสะแกนกระดูก (Bone scan) เป็นต้น เครื่องตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์มีหลายประเภท ที่ใช้กันมากในปัจจุบัน คือ เครื่อง สะเปก (SPECT,Single photon emission computed tomography) และเครื่อง เพทสะแกน ( PET scan,Positron emission tomo graphy )
ทั้งรังสีเอกซ์ และรังสีแกมมา เป็นรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic radia tions) ที่มีพลังงานสูง สามารถทะลุผ่านเซลล์ (Cell)/ เนื้อเยื่อ (Tissue) และอวัยวะ (Organ) ได้ และในขณะที่รังสีฯผ่านเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะ จะทำให้เซลล์เกิดภาวะไอออนไนซ์ (Ioniza tion) เกิดเป็นอนุมูลอิสระ (Free radical) ที่มีประจุบวก และประจุลบ ที่เป็นพิษต่อเซลล์ เป็นสาเหตุให้เซลล์เกิดความเสียหาย
ถ้าร่างกายสามารถซ่อมแซมความเสียหายได้ทั้งหมด เซลล์จะกลับเป็นเซลล์ปกติ ทำ งานได้ปกติ แต่ถ้าร่างกายซ่อมแซมได้เพียงบางส่วน หรือซ่อมแล้วเกิดการคลาดเคลื่อนเบี่ยง เบนไปจากเซลล์ปกติเดิม (Aberration) อาจทำให้เซลล์นั้นๆเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงลักษณะของจีน/ยีน (Gene) และอาจกลายพันธุ์ (Mutation) ไปเป็นเซลล์มะเร็งได้
ถ้าร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมเซลล์นั้นๆได้ เซลล์นั้นๆจะตาย หรือเติบโตช้าหรือเติบโตผิดปกติ เป็นผลให้เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ได้รับรังสีฯเกิดการอักเสบ เกิดเป็นโรค หรือเกิดการเจริญ เติบโตผิดปกติ หรือเติบโตได้ช้าลง (Malformation และ/หรือ Hypoplasia)
จากคุณสมบัติของรังสีฯในกลุ่ม/ประเภทนี้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์โดยการทำให้เซลล์เกิดภาวะไอออนไนซ์ และเป็นกลุ่ม/ประเภทที่มีพลังงานสูง องค์กรด้านฟิสิกส์รังสี (Ra diological physics) จึงได้จัดให้รังสีฯกลุ่ม/ประเภทนี้เป็นรังสีที่แตกต่างจากรังสีหรือแสงกลุ่ม/ประเภทอื่นๆ โดยเรียกรังสีฯกลุ่ม/ประเภทนี้ว่า “รังสีไอออนไนซ์ (Ionizing radiation)”
ดังนั้น รังสีฯกลุ่ม/ประเภทไอออนไนซ์นี้ จึงมีคุณสมบัติแตกต่างและไม่จัดอยู่ในกลุ่ม/ประ เภทเดียวกับ รังสี/แสงยูวี (UV light,Ultraviolet light) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม/ประเภทของแสงใช้ในการรักษาโรคผิวหนังบางโรค หรือการตรวจด้วย เครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound or Ultraso nography) ซึ่งเป็นเครื่องตรวจโรคและทำให้เกิดภาพอวัยวะที่ตรวจโดยอาศัยการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูงแล้วแปลงกลับเป็นภาพ หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอมอาร์ ไอ (MRI,Magnetic resonance imaging) ซึ่งเป็นการตรวจโรคโดยอาศัยสนามแม่เหล็กแล้วแปลงกลับเป็นภาพ ทั้ง 3 ชนิดจึงไม่ใช่รังสีในกลุ่ม/ประเภทไอออนไนซ์ หรือ รังสีนอน-ไอออนไนซ์ (Non-ionizing radiation) ซึ่งจากการศึกษาจนถึงขณะนี้ ยังไม่พบและยังไม่มีรายงานถึงผลกระทบที่ชัดเจนต่อเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะจนถึงขั้นเป็นอันตรายจากการตรวจโรคด้วยรังสี/แสง ที่ไม่ใช่รังสีไอออนไนซ์ ทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว
รังสีฯถนอมอาหารได้อย่างไร?
นอกจากรังสีฯจะมีผลต่อเซลล์ของมนุษย์แล้ว ยังมีผลเช่นเดียวกันกับทั้งเซลล์ของพืช/ผลไม้ แบคทีเรีย และสัตว์ เราจึงได้นำความรู้เหล่านี้ใช้เป็นประโยชน์ทางด้านการถนอมอาหาร พืช ผลไม้ และเนื้อสัตว์บางชนิด โดยการฉายรังสีฯผลิตภัณฑ์เหล่านั้น
ด้วยปริมาณรังสีฯที่พอเหมาะ จะไม่ทำให้เกิดอันตรายในคนที่รับประทานและจะไม่ทำให้รสชาติของอาหารนั้นๆเสียไป แต่รังสีฯจะทำลายแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารเหล่านั้นให้ลดน้อยลง ดังนั้นจึงลดโอกาสเกิดการเน่าเสียจากแบคทีเรีย เช่น การฉายรังสีฯใน แหนม ในกุ้งแช่แข็ง เป็นต้น นอกจากนั้นยังทำให้เซลล์ของพืช ผัก ผลไม้ และ เมล็ดพืช เหล่านั้น เจริญเติบ โตช้า สุกช้า หรือ ถ้าเป็นเมล็ดก็จะงอกช้าลง สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้น เช่น การฉายรังสีเมล็ดถั่ว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บทความนี้ จะพูดถึงเฉพาะเรื่องของการนำรังสีฯมาใช้ในการตรวจโรคในคนเท่านั้น
ปัจจัยเสี่ยง และผลกระทบเสียหายจากรังสีฯมีอะไรบ้าง?
ผลกระทบเสียหาย หรือบางคนเรียกว่า อันตรายที่เกิดจากการได้รับรังสีฯปริมาณสูง ที่สำคัญ มี 2 ชนิด คือ การเจริญเติบโตผิดปกติของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ได้รับรังสี และการเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ได้รับรังสีในระยาวซึ่งมักนานเกิน 5 ปีขึ้นไป
การที่เมื่อเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะได้รับรังสีเอกซ์ หรือรังสีแกมมาแล้ว จะก่อให้เกิดผลกระ ทบเสียหาย มากหรือน้อย ร่างกายซ่อมแซมได้ทั้งหมด ได้บ้าง หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ -ปริมาณรังสีฯที่ได้รับ -อายุในขณะที่ได้รับรังสีฯ -ประเภทของเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ได้รับรังสีฯ -พยาธิสภาพ หรือโรคดั้งเดิมของเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆ -และรวมทั้งโรคประจำตัวบางโรคของผู้ได้รับรังสี
- ปริมาณรังสีฯที่ได้รับ ถ้ายิ่งได้รับปริมาณรังสีฯสูง โอกาสเกิดความผิดปกติจะสูงตามไปด้วย แต่โดยทั่วไป ในการตรวจโรคด้วยรังสีฯ ปริมาณรังสีฯที่ได้รับจะต่ำมาก และอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ และในผู้สูงอายุ
- อายุขณะได้รับรังสีฯ เด็กโดยเฉพาะทารกในครรภ์ เด็กทารก และเด็กเล็ก เซลล์จะมีความไวต่อรังสีฯสูงเป็นพิเศษ ดังนั้น ถึงแม้ปริมาณรังสีฯที่ได้รับจากการตรวจโรคจะต่ำ แต่ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบเสียหาย หรืออันตรายได้ เนื่องจากทารกในครรภ์จะมีความไวต่อรังสีฯสูงมาก โดยเฉพาะในช่วงสามเดือนแรกของอายุครรภ์ ถ้ามารดาได้รับการตรวจด้วยรังสีฯ อาจมีผล กระทบถึงทารกในครรภ์ได้ โดยอาจทำให้ทารกมีการเจริญเติบโตผิดปกติ พิการ โดยเฉพาะในส่วนของระบบประสาท ถ้าได้รับปริมาณรังสีฯสูงในระดับหนึ่ง แพทย์อาจต้องแนะนำให้มารดาทำแท้ง ส่วนในทารกแรกเกิด และในเด็กเล็ก อาจมีผลให้อวัยวะที่ได้รับรังสีฯสูงในระดับหนึ่ง มีการเจริญเติบโตช้า หรือเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และในระยะยาวซึ่งมักนานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป จะเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งต่อการเกิดโรคมะเร็ง กับเนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนที่ได้รับรังสีฯ ส่วนในเด็กโต ผลกระทบจากปริมาณรังสีฯสูงในระดับหนึ่งที่อาจพบได้คือ ในระยะยาวจะเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนที่ได้รับรังสีฯเช่นเดียวกัน
- ประเภทของเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ได้รับรังสีฯ เซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่แตกต่างกัน จะมีความไวต่อรังสีฯมากน้อยต่างกัน เช่น ไขกระดูก และ รังไข่/อัณฑะ จะไวต่อรังสีฯมากที่ สุด (Radiosensitive tissue) ในขณะที่กระดูก กล้ามเนื้อ และระบบประสาท ของผู้ใหญ่ซึ่งมีการเจริญเติบโตเต็มที่เป็นอวัยวะที่ไวต่อรังสีฯน้อยที่สุด หรือเรียกอีกอย่างว่า ดื้อต่อรังสีฯ (Less radiosensitive tissue หรือ Radioresistant tissue) ส่วนกระดูก กล้ามเนื้อ และระบบประสาทของเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งยังอยู่ในภาวะของการเจริญเติบโต จะไวต่อรังสีฯในระดับปานกลาง (Intermediate radiosensitive tissue) เป็นต้น
ถ้าเป็นเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ไวต่อรังสีฯ การได้รับปริมาณรังสีฯในปริมาณต่ำอาจก่อให้เกิดผลกระทบได้ถึงแม้โอกาสเกิดจะน้อยก็ตาม แต่ถ้าเป็นเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ดื้อต่อรังสีฯ ร่างกายมักซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายจากรังสีฯปริมาณต่ำๆได้ดีกว่า จึงมักไม่ค่อยปรากฏ ผลกระทบ
- พยาธิสภาพ หรือโรคดั่งเดิมของเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะ และรวมทั้งโรคประจำ ตัวบางโรค ของผู้ได้รับรังสีฯ กล่าวคือ ภาวะเหล่านี้จะทำให้เซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ได้รับรังสีฯ มีความไวต่อรังสีฯเพิ่มมากขึ้นกว่าในภาวะปกติ เช่น ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือโรคความดันโล หิตสูง เป็นต้น แต่โดยทั่วไป ต้องเป็นการได้รับรังสีฯในปริมาณสูง เช่น จากการฉายรังสีฯ (รังสีรักษา) ในการรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น
ในส่วนของทารกในครรภ์ สุขภาพร่างกายของบิดาก่อนภรรยาตั้งครรภ์ และสุข ภาพของมารดาทั้งก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งลักษณะทางพันธุกรรมของทั้งบิดา มารดา ยังเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เพิ่มโอกาสเกิดผลกระทบเมื่อทารกในครรภ์ได้รับรังสีฯ
อนึ่ง โอกาสที่จะเกิดผลกระทบเสียหาย หรืออันตรายจากรังสีฯจากการตรวจโรคมีน้อยมากๆ มีเพียงบางรายส่วนน้อยมากๆเท่านั้นที่เกิดผลกระทบ หรือความผิดปกติดังกล่าว ทั้งนี้เพราะปริมาณรังสีฯที่ได้รับจากการตรวจโรคจะต่ำมาก อยู่ในเกณฑ์ที่ร่างกายมักซ่อมแซมเซลล์ที่ได้รับรังสีฯให้กลับเป็นปกติได้ ยกเว้นทารกในครรภ์ และเด็กเล็ก ดังได้กล่าวแล้ว แต่โอกาสเกิดก็ยังต่ำมากๆอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม แพทย์ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าใครคนไหนจะเกิดผลกระทบผิด ปกติ ทั้งนี้เพราะโอกาสเกิดผลกระทบจากรังสีฯปริมาณต่ำ จะเกิดในลักษณะที่เรียกว่า “การสุ่มเกิด (Random)” คือไม่เกิดกับทุกคน แต่จะเกิดกับบางคนส่วนน้อยโดยไม่สามารถคาด หมายได้ว่าจะเกิดกับใคร และปริมาณรังสีฯในระดับต่ำนี้ ยังมีผลต่อเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะโดยไม่มีระดับกระตุ้นขีดเริ่มเปลี่ยนแปลง (Threshold dose) กล่าวคือ การศึกษาต่างๆยังไม่สามารถรู้ว่า ปริมาณรังสีต่ำสุดเท่าใด จึงจะไม่ก่อผลกระทบต่อเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะ ซึ่งทางแพทย์เรียกผลกระทบจากรังสีฯปริมาณต่ำในลักษณะนี้ว่า “ผลจากการสุ่มเกิด (Stochas tic effects)”
ผิดจากการได้รับรังสีฯปริมาณสูง เช่น จากการรักษาโรคมะเร็ง ด้วย รังสีรักษา ซึ่งแพทย์สามารถพยากรณ์โอกาสเกิดผลกระทบได้ เนื่องจากทราบปริมาณรังสีฯที่กระตุ้นขีดเริ่มเปลี่ยนแปลง (Threshold dose) ของเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ได้รับรังสีฯในปริมาณสูง โดยเรียกผลกระทบจากการได้รับปริมาณรังสีฯสูงนี้ว่า “ผลที่คาดหมายได้ (Deterministic effects)”
ป้องกันรังสีฯจากตรวจโรคไม่ให้ได้รับมากเกินไปได้อย่างไร?
ในการนำรังสีฯมาใช้ทางการแพทย์ ทั้งจากการตรวจวินิจฉัยโรค และการรักษา แพทย์จะให้การตรวจวินิจฉัย/รักษาภายใต้คำแนะนำขององค์กรระหว่างประเทศซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำในเรื่องเกี่ยวกับการนำรังสีฯมาใช้กับมนุษย์ องค์กรนี้มีชื่อว่า ไอซีอาร์พี (ICRP,International Commission on Radiological Protection) โดยใช้หลักการที่สำคัญ คือ “อะลารา (ALARA, As Low As Reasonably Achievable)” คือพยายามใช้รังสีฯในปริมาณน้อยที่สุดตามข้อบ่งชี้ที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย
ไอซีอาร์พีได้แนะนำให้การใช้รังสีฯเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ (เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค) ให้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ในการเป็นผู้สั่งตรวจ/รักษาด้วยรังสีฯ ซึ่งแพทย์ทุกคนตระหนักถึงความรับผิดชอบในข้อนี้เป็นอย่างดี แพทย์จะพยายามหลีกเลี่ยงการตรวจด้วยรังสีฯ โดยเฉพาะในผู้ป่วยตั้งครรภ์ ทารกและในเด็กเล็ก จะสั่งการตรวจต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นเท่านั้น โดยเฉพาะถ้าเป็นหญิงตั้งครรภ์ อาจจะชะลอการตรวจออกไปก่อนจนกว่าครรภ์แก่ หรือหลังคลอด หรือใช้การตรวจวิธีอื่นแทนไปก่อน ทั้งนี้จะโดยคำนึงถึงความจำเป็นต่อชีวิตผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ (ผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือน) ก่อนการสั่งตรวจทางรังสีฯ แพทย์/นักรังสีการแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับประวัติประจำเดือนก่อนเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตรวจโดยผู้ป่วยไม่รู้ว่าตั้งครรภ์ ถ้าประวัติประจำเดือนไม่ชัดเจน ก่อนการตรวจ/รักษาทางรังสีฯ อาจต้องมีการตรวจภาวะตั้งครรภ์จากการตรวจปัสสาวะก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยไม่ได้ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะถ้าเป็นการตรวจ/รักษาในบริเวณช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน ซึ่งมดลูกจะได้รับรังสีฯโดยตรงสูงกว่าจากการตรวจ/รักษาอวัยวะในส่วนอื่นๆ เช่น ศีรษะ หรือ ปอด เป็นต้น
ดังนั้นหญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนจึงควรตระหนักในเรื่องนี้ และก่อนการตรวจด้วยรังสีฯควรต้องแจ้งแพทย์/นักรังสีการแพทย์เสมอในเรื่องความคลาดเคลื่อนของการมีประจำเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบของรังสีฯต่อทารกในครรภ์อันอาจจะนำไปสู่การต้องทำแท้ง
รู้ได้อย่างไรว่ามีรังสีฯในบริเวณต่างๆ?
การที่เด็กๆจะได้รับรังสีฯ นอกจากการตรวจ/รักษาโรคแล้ว บางครั้งอาจเกิดจากอุบัติเหตุจากการที่ครอบครัวพาเด็กปกติไปโรงพยาบาลด้วย และปล่อยเด็กหลงเข้าไปในพื้นที่ของการทำงานทางรังสีฯ โดยปกติ พื้นที่เหล่านี้จะค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ แต่อาจมีอันตรายต่อเด็กได้โดยเฉพาะเด็กทารก เด็กเล็ก และหญิงตั้งครรภ์ (ผลต่อทารกในครรภ์) ซึ่งไวต่อรังสีเป็นพิเศษดังกล่าวแล้ว
โดยทั่วไปพื้นที่การทำงานทางรังสีฯ หรือบริเวณ/เขตพื้นที่ที่มีรังสีฯ หรือ หีบห่อที่มีรังสีฯเก็บอยู่ จะติดรูป/ภาพสัญลักษณ์สากลไว้อย่างชัดเจนเสมอ จึงควรสังเกตให้ดี ถ้าเห็นสัญลักษณ์นี้ให้พยายามหลีกเลี่ยง โดยอยู่ให้ไกลที่สุดจากบริเวณที่ติดรูป/ภาพสัญลักษณ์เท่าที่เป็นไปได้ อย่างน้อยเป็นระยะทาง 1 เมตรขึ้นไป ทั้งนี้เพราะความเข้ม หรือปริมาณรังสีจะลดลงตามระยะทางที่อยู่ห่างออกไปเป็นกำลังสอง ซึ่งรูป/ภาพสัญลักษณ์บริเวณอาจมีรังสีฯ เป็นรูป/ภาพ “ใบพัดสามแฉก” หรือบางคนเรียกว่า “กังหันสามแฉก” โดยทั่วไปสองแฉกจะอยู่ด้านบน หนึ่งแฉกอยู่ด้านล่าง ตัวใบพัด/กังหันมักเป็นสีม่วงบนพื้นสีเหลือง แต่บางครั้งอาจเป็นภาพที่ลอกเลียนมา จึงไม่มีสี หรือมีสีอื่นๆได้ เช่น ภาพประกอบบทความนี้
บ่อยครั้งเพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าใจในสัญลักษณ์ บางองค์กร หรือ บางประเทศ จึงเขียนเพิ่มเติมคำอธิบายบนพื้นภาพ ซึ่งข้อความจะแตกต่างกันออกไป ไม่เหมือนกัน ขึ้นกับว่าองค์กรไหน หรือประเทศไหนต้องการบอกกล่าวอะไร สัญลักษณ์แสดงต้นกำเนิดรังสี สัญลักษณ์นี้ จะติดไว้บนหัวเครื่อง/กล่องที่เก็บหรือบนที่อยู่ของตัวต้นกำเนิดรังสีฯ ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสี ถ้าเห็นสัญลักษณ์นี้ ให้”หนีห่างออกไปไกลๆทันที” ห้ามจับต้อง เพราะอันตรายถึงชีวิตถ้าจับต้อง เพราะจะได้รับรังสีฯในปริมาณมหาศาล
ปัจจุบัน IAEA(International Atomic Energy Agency) องค์กรระหว่างประเทศที่มีหน้าที่กำกับดูแลเกี่ยวกับการนำรังสีมาใช้กับมนุษย์ ได้ทำตราสัญลักษณ์ใหม่เพื่อเตือนให้ผู้พบเห็นสัญลักษณืนี้ที่ใด ให้ออกห่างจากสัญลักษณ์ที่ให้ไกลได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเป็นรูป ใบพัดสามแฉก และหัวกะโหลกสีดำ อยู่ในพื้นที่รูปสามเหลี่ยมสีแดง(ดูได้เว็บจาก บรรณานุกรมที่ 4)
สรุป
โดยรวม ปริมาณรังสีฯที่ได้รับจากการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยรังสีฯ เป็นปริมาณรังสีฯที่ต่ำมาก จึงเป็นการตรวจโรคที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ทารกในครรภ์ ทารก และเด็กเล็ก มีความไวต่อรังสีฯสูงกว่าคนกลุ่มอายุอื่น ดังนั้น ในหญิงตั้งครรภ์ (ผลต่อทารกในครรภ์) หญิงวัยเจริญพันธุ์ ทารก และ เด็กเล็ก ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อจะได้รับการตรวจโรคด้วยรังสีฯ ทั้งจากตัวหญิงตั้งครรภ์ หญิงวัยเจริญพันธุ์เอง ครอบครัวของเด็กป่วย และแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษา ทั้งนี้เพื่อช่วยกันหลีกเลี่ยงโอกาสเกิดผลกระทบจากรังสีฯดังได้กล่าวแล้ว
บรรณานุกรม
- กองรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
- พวงทอง ไกรพิบูลย์ วิภา บุญกิตติเจริญ และ จีระภา ตันนานนท์.(๒๕๓๔) . ตำรารังสีรักษา: ฟิสิกส์ ชีวรังสี การพยาบาลผู้ป่วย. กรุงเทพมหานคร: บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด.
- Hall, E. J.(1994).Radiobiology for the radiologist. Philadelphia: J.B. Lippincott Company.
- New Symbol Launched to Warn Public About Radiation Dangers http://www.iaea.org/newscenter/news/2007/radiationsymbol.html[2017,April29]
- Radiation protection.ICRP publication 60: 1990 Recommendations of the International Commission on Radiological Protection. ฝ่ายเผยแพร่ และ ประชาสัมพันธ์ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ.
- Ullrich, R. L. (2005). Etiology of cancer: Physical factors. In DeVita ,V. T., Hellman, S. and Rosenberg, S. A. Cancer: Principles & practice of oncology. Philadelphia: Lippincott Williams &Wilkins.
Updated 2017,April29