ยารักษาตรงเป้า (Targeted Therapy)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 28 กันยายน 2554
- Tweet
ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) ได้แก่ ยารักษาโรคมะเร็งชนิดหนึ่งแตกต่างจากรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด ซึ่งทั้งสองวิธีการจะฆ่าตัวเซลล์มะเร็ง แต่ยารักษาตรงเป้าจะเป็นยายับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งไม่ฆ่าเซลล์มะเร็งโดยตรงเช่น ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดหล่อเลี้ยงก้อนเนื้อมะเร็ง
ดังนั้นในปัจจุบันตัวยารักษาตรงเป้าที่มีอยู่จึงยังไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายได้ จึงจำเป็นต้องใช้ร่วมกับการผ่าตัด รังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด เพื่อช่วยชะลอการลุกลามหรือการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
ข้อจำกัดของยารักษาตรงเป้านอกจากไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายได้จากตัวยาตัวเดียวดังกล่าวแล้วคือ ตัวยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ยามีราคาแพงมหาศาลเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงยาได้ นอกจากนั้นคือยังไม่ทราบแน่ชัดว่าควรต้องใช้ยานานเท่าไรจึงได้ประโยชน์สูงสุด
ยารักษาตรงเป้าใช้รักษาได้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีโอกาสตอบสนองหรือตัวรับ (Receptor) ต่อตัวยาเท่านั้น ซึ่งแพทย์ทราบได้จากหลายๆปัจจัยร่วมกันเช่น จากตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งด้วยวิธีพิเศษทางพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นการตรวจที่ซับซ้อนใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูงและจากผลการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้
ยารักษาตรงเป้าไม่ครอบคลุมในหลักประกันสุขภาพของรัฐบาล การใช้ยามักอยู่ในรูปแบบของกองทุน ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้แนะนำเฉพาะเมื่อการรักษามีประโยชน์อย่างแท้จริงต่อผู้ป่วย โดยถึงแม้รักษาได้ไม่หายแต่ก็ช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับโรคมะเร็งต่อไปได้นานขึ้นอย่างมีคุณภาพชีวิต
Updated 2014, Oct 18