มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกคืออะไร? พบบ่อยไหม?

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือโรคมะเร็งเยื่อบุมดลูก (Endometrial cancer หรือ Endometrial carcinoma)คือ โรคที่เกิดจากเซลล์จุดใดก็ได้ของเยื่อบุโพรงมดลูกเกิดกลายพันธ์เจริญเติบโต แบ่งตัวรวดเร็วผิดปกติต่อเนื่อง โดยร่างกายควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ไม่ได้ จนในที่สุดเกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็ง กล่าวคือมีการรุกราน/ ลุกลามทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก ตัวมดลูก ปากมดลูก ช่องคลอด ทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง รวมถึงต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง/ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน ซึ่งในที่สุดจะแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองเข้าทำลายต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลมดลูกออกไป เช่น ในช่องท้อง หรือเหนือกระดูกไหปลาร้า และแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตไปทำลายอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด ตับ และกระดูก

ในประเทศไทย มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกพบบ่อยเป็นลำดับ9ของมะเร็งในหญิงไทย(ลำดับ 1ถึง4ตามลำดับคือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ใหญ่) แต่ในประเทศที่เจริญแล้ว มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกพบบ่อยเป็นลำดับที่4 ของมะเร็งในผู้หญิงรองตามลำดับจากลำดับ1ลงไปคือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยในสหรัฐอเมริกา พบโรคนี้ได้ประมาณ 22.6-25.2 ต่อประชากรหญิง 100,000 คน ส่วนในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2553-2555 รายงานในปีพ.ศ. 2558 รวมอยู่ในมะเร็งของตัวมดลูก(Corpus)พบได 4.3 รายต่อประชากรหญิง 100,000

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นโรคของผู้หญิงวัย40ปีขึ้นไป ซึ่งประมาณ 75%ของผู้ป่วยทั้งหมดพบในวัยหมดประจำเดือน ประมาณ20-25%พบในวัยมีประจำเดือนหรือวัยก่อนหมดประจำเดือน และพบในอายุต่ำกว่า40ปีได้ประมาณ 5%

อนึ่ง เยื่อบุโพรงมดลูก หรือ เยื่อบุมดลูก (Endometrium) คือเยื่อเมือกบุภายในโพรงของมดลูก ดังนั้นจึงเป็นเนื้อเยื่อเฉพาะในเพศหญิงเท่านั้น ปกติเยื่อบุโพรงมดลูกมีความหนาประมาณ 5-6.7 มิลลิเมตร เป็นผนังด้านในสุดของมดลูก ซึ่งในแต่ละรอบประจำเดือน เยื่อบุโพรงมดลูกจะได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศหญิงจากรังไข่ให้เจริญเติบโตหนาตัวขึ้น เพื่อรองรับการฝังตัวของไข่ที่ผสมกับตัวอสุจิ (สะเปิร์ม,Sperm) เพื่อการเจริญเติบโตเป็นทารก แต่ถ้าไม่มีการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว เยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกตัว เกิดเป็นประจำเดือนขึ้น แต่ถ้ามีการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญกลายเป็นส่วนหนึ่งของรกซึ่งเป็นทางผ่านของออกซิเจนและอาหารจากเลือดของแม่สู่ทารกในครรภ์

โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีกี่ชนิด?

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นมะเร็งในกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมา มีหลายชนิดย่อย ได้แก่

ก. เกือบทั้งหมดของโรคฯ เป็นมะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) โดยชนิดย่อยที่พบบ่อยในกลุ่มนี้เป็นประมาณ 75%-80%คือชนิด เอ็นโดมีทริออย (Endometrioid adenocarcinoma) ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดมีความรุนแรงน้อยกว่าชนิดอื่น

ข. ชนิดมีความรุนแรงสูงกว่ากลุ่ม Adenocarcinoma และพบได้น้อยกว่ามาก พบประมาณ 3-5% คือ ชนิด

  • สะความัส (Squamous cell carcinoma)
  • ชนิดเคลียร์เซลล์ (Clear cell Carcinoma)
  • ชนิดมีเซนคายมัล (Mesenchymal tumor)
  • ชนิดมิวซินัส (Mucinous carcinoma) และ
  • ชนิดพาพิลลารีซีรัส (Papillary serous adenocarcinoma) ซึ่งมีลักษณะการแพร่กระจายของโรคเหมือนโรคมะเร็งรังไข่

อนึ่ง ยังมีการแบ่งมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นอีกแบบ เป็น 2 ชนิด คือ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกชนิด 1 (Endometrial cancer type 1) และ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ชนิด 2 ( Endometrial cancer type 2)

ก. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกชนิด 1: มักพบในอายุน้อยกว่า พบในวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือวัยเพิ่งหมดประจำเดือน มีธรรมชาติของโรคสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจน เซลล์มะเร็งเป็นชนิด Endometrioid และเซลล์มะเร็งแบ่งตัวต่ำ (Grade 1 ย่อว่า G1) ไม่ค่อยมีการรุกรานเข้าผนังมดลูกชั้นกล้ามเนื้อ และเป็นชนิดมีความรุนแรงของโรค/การพยากรณ์โรคดี

ข. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกชนิด2: มักพบในผู้สูงอายุในวัยหมดประจำเดือนนานแล้ว มีธรรมชาติของโรค ไม่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจน เซลล์มะเร็งมักเป็นชนิด Clear cell และ Serous และเซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง (Grade 3) มีการรุกรานเข้าผนังมดลูกชั้นกล้ามเนื้อสูง และเป็นชนิดมีความรุนแรงของโรค/การพยากรณ์โรคเลวกว่าชนิด 1 มาก

โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก แต่พบมีปัจจัยเสี่ยงดังนี้ คือ

  • มีน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วน
  • ไม่เคยตั้งครรภ์ หรือมีบุตรน้อย เพียง 1-2 คน
  • มีประจำเดือนเร็วกว่าคนทั่วไป ซึ่งทั่วไปมักมีประจำเดือนในช่วงอายุ 12-13 ปี
  • หมดประจำเดือนช้ากว่าคนทั่วไป คนทั่วไปปกติหมดประจำเดือนไม่เกินวัย 55 ปี
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • กินยาฮอร์โมนเพศหญิงหลังหมดประจำเดือนแล้ว
  • กินยาฮอร์โมนรักษาโรคมะเร็งเต้านมที่เรียกว่ายาทามอกซิเฟน (Tamoxifen)
  • กินอาหารไขมันสูงต่อเนื่องเป็นประจำ
  • เคยเป็นโรคมะเร็งเต้านมและ/หรือโรคมะเร็งรังไข่
  • มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิดโดยเฉพาะมีคนในครอบครัวสายตรงเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และ/หรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเกินปกติ ชนิดเจริญนอกแบบ (Complex atypical endometrial hyperplasia อาการพบบ่อย คือ มีเลือดออกทางช่องคลอด/ประจำเดือนผิดปกติ เช่น มากเกินไป หรือ บ่อยเกินไป หรือกะปริดกะปรอย)

โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีอาการอย่างไร?

อาการพบบ่อยของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก คือ

  • 70-80% ของผู้ป่วย มีอาการมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ เช่น มีประจำเดือนบ่อย หรือมาก หรือ กะปริดกะปรอย และโดยเฉพาะมีเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือนแล้ว
  • ประมาณ 30% มีตกขาว มีกลิ่นเหม็น
  • เมื่อโรคเป็นมาก ก้อนเนื้อโตจนกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะซึ่งอยู่หน้าต่อมดลูก และ/หรือลำไส้ตรงที่อยู่หลังต่อมดลูก ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบและ/หรือท้องผูกหรือกดเบียดทับเนื้อเยื่อประสาทในช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง ช่วงล่าง(Low back pain) เรื้อรัง
  • เมื่อเป็นมากอาจคลำได้มดลูกโต โดยเป็นก้อนเนื้ออยู่เหนือ หัวหน่าว

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้จาก

  • ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการใช้ยาต่างๆ โดยเฉพาะการใช้ฮอร์โมน
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภายใน
  • แต่ที่ให้ผลแน่นอนคือการขูดมดลูกเพื่อนำเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ทั้งนี้ เมื่อทราบผลว่าเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแล้ว จะมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อประเมินระยะโรคมะเร็งและสุขภาพของผู้ป่วย เช่น

  • การตรวจเลือด ดูโรคเบาหวาน ดูการทำงานของไขกระดูก (การตรวจซีบีซี/CBC) ของตับ และของไต
  • การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ดู โรคปอด หัวใจ และโรคมะเร็งฯแพร่กระจายสู่ ปอด
  • และอาจตรวจภาพช่องท้องด้วย อัลตราซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูโรคมะเร็งฯลุกลามแพร่กระจายในช่องท้อง ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีกี่ระยะ?

ระยะโรคของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกนิยมใช้การจัดระยะโรคของสมาคมนานาชาติสูตินรีแพทย์(International Federation of Gynecology and Obstetrics ย่อว่า FIGO) หรือของคณะกรรมการด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา( the American Joint Committee on Cancer ย่อว่า AJCC)ซึ่ง จัดระยะโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ และในบางระยะอาจแบ่งเป็นระยะย่อยได้อีก เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้เป็นแนวทางให้การรักษา การพยากรณ์โรค และในการศึกษา

ระยะทั้ง 4 ได้แก่

  • ระยะที่ 1: โรคยังลุกลามอยู่เฉพาะในผนังมดลูก โดยแบ่งย่อยเป็น
    • ระยะ1A: โรคลุกลามลงชั้นตื้นๆไม่เกินครึ่งของความหนาผนังชั้นกล้ามเนื้อ
    • ระยะ1B: โรคลุกลามเกินครึ่งของความหนาผนังชั้นกล้ามเนื้อ
  • ระยะที่ 2: โรคลุกลามเข้าปากมดลูก
  • ระยะที่ 3: โรคลุกลามถึงเยื่อหุ้มมดลูก และ/หรือ รังไข่ และ/หรือท่อนำไข่ และ/หรือ ช่องคลอด และ/หรือเนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกราน และ/หรือลุกลามชั้นผิวๆภายนอกของกระเพาะปัสสาวะ และ/หรือทวารหนัก ซึ่งแบ่งเป็นระยะย่อยดังนี้
    • ระยะ3A: โรคลุกลามจำกัดเฉพาะ เยื่อหุ้มมดลูก และ/หรือ ท่อนำไข่ และ/หรือ รังไข่
    • ระยะ3B: โรคลุกลามเข้าช่องคลอด และ/หรือเนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกรานรอบช่องคลอดและมดลูก(Parametrium)
    • ระยะ3C1:โรคลุกลามเข้าผิวนอกของกระเพาะปัสสาวะและ/หรือทวารหนัก และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน
    • ระยะ3C2: คือโรคระยะ3C1ที่โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรอบหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง
  • ระยะที่ 4: แบ่งย่อยเป็น
    • ระยะ4A: โรคมะเร็งลุกลามทะลุเข้าใน กระเพาะปัสสาวะ และ/หรือ ทวารหนัก
    • ระยะ4B: โรคแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ และ/หรือแพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักเข้าสู่ ปอด ตับ เยื่อบุช่องท้อง และกระดูก

อนึ่ง ปัจจุบันเมื่อมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ วิธีการรักษาที่ทำกันมากขึ้น คือ การขูดมดลูก จึงส่งผลให้พบมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่โรคยังไม่รุกรานออกนอกเยื่อเมือก/เยื่อบุโพรงมดลูก ที่เรียกว่า มะเร็งระยะศูนย์(ระยะ0) หรือ Carcinoma in situ ย่อว่า CIS แต่แพทย์หลายท่าน ยังไม่จัดโรคระยะนี้เป็นโรคมะเร็ง และการรักษาเพียงการตัดมดลูก ส่วนการตัดรังไข่แพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีๆไป และโรคระยะนี้พบน้อยมากๆ โดยมีอัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 90%

โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกรักษาอย่างไร?

การรักษาหลักในโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก คือการผ่าตัดมดลูกร่วมกับการผ่าตัด ปีกมดลูก รังไข่ และบางครั้งผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออกด้วย ต่อจากนั้นจึงประเมินผลชิ้นเนื้อหลังการผ่าตัดอีกครั้งด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อดูการลุกลามของโรค เมื่อพบเป็นโรคระยะลุกลาม แพทย์จะรักษาต่อเนื่องด้วย รังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัด ส่วนยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา

แต่โรคในระยะที่ผ่าตัดไม่ได้ หรือเมื่อสุขภาพผู้ป่วยไม่อำนวยต่อการผ่าตัด การรักษาคือ รังสีรักษาวิธีการเดียว หรือร่วมกับยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นกับ ระยะโรค สุขภาพผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ขึ้นกับวิธีรักษา โดยโอกาสเกิดผล ข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้การรักษาหลายๆวิธีร่วมกัน
  • ในผู้สูงอายุ
  • ในผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (เช่น โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน)
  • เมื่อสูบบุหรี่ และ/หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อนึ่งตัวอย่างผลข้างเคียงที่เกิดจากวิธีรักษาต่างๆ ได้แก่

  • การผ่าตัด: ผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ คือ มดลูก และรังไข่ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และต่อเนื้อเยื่อ/อวัยวะในอุ้งเชิงกราน (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน)
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา : การดูแลตนเอง) และภาวะเกล็ดเลือดต่ำซึ่งส่งผลให้เกิดเลือดออกได้ง่าย
  • ยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง : ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดมีบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้

โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกรุนแรงไหม?

โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงปานกลาง มีโอกาสรักษาได้หาย ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคขึ้นกับ ระยะโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง การผ่าตัดได้หรือไม่ อายุ และสุขภาพผู้ป่วย

โดยทั่วไป อัตรารอดที่ห้าปี หลังการรักษา ได้แก่

  • โรคระยะที่ 1 ประมาณ 80-90%
  • ระยะที่2 ประมาณ 70-80%
  • ระยะที่3 ประมาณ 30-50% และ
  • ระยะที่ 4 ประมาณ 0-20%

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบันยังไม่พบวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ ควรรีบด่วนพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อมีอาการดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ‘อาการฯ’ โดยเฉพาะการมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือนแล้ว

ป้องกันโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่หลีกเลี่ยงได้ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ‘ปัจจัยเสี่ยงฯ’ อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคลงได้บ้าง เช่น

  • การควบคุมน้ำหนักตัวโดยการการออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ ร่วมกับ การลดอาหารแป้ง น้ำตาล ไขมัน และอาหารรสเค็ม ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสเกิดโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง
  • รวมทั้งไม่ซื้อยาฮอร์โมนต่างๆบริโภคเองโดยไม่ใช่คำแนะนำจากแพทย์

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆจะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ซึ่งรวมทั้งในมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ ไม่หยุดการรักษาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haarmor.com 2 บทความ คือ เรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers
  2. Halperin, E., Perez, C., and Brady, L. (2008). Perez and Brady: Principles and practice of Radiation Oncology (5th edition). Philadelphia: Wolters Kluwer/ Lippincott Williams & Wilkins
  3. Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Endometrial_cancer [2018,Nov17]
  5. http://emedicine.medscape.com/article/254083-overview#showall [2018,Nov17]
  6. https://www.cancer.org/cancer/endometrial-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2018,Nov17]
  7. https://www.cancer.org/cancer/endometrial-cancer/detection-diagnosis-staging/staging.html [2018,Nov17]