กระดูกหัก ภาวะกระดูกหัก (Broken bone)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 2 สิงหาคม 2558
- Tweet
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- กระดูกหัก (Bone fracture)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- กระดูกสันหลังหัก (Fracture of the Spine)
- กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ (Hip Fractures in Senile)
- กระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุ (Colles’ fracture)
กระดูกหัก (Borken bone หรือ Bone fracture) เป็นภาวะไม่ใช่โรค เป็นภาวะที่กระดูกในร่างกายแตกหรือหัก จึงส่งผลให้กระดูกไม่สามารถทำงานหรือเคลื่อนไหวได้กล่าวคือ เจ็บมากเมื่อลงน้ำหนักบนกระดูกชิ้นนั้นหรือเมื่อเคลื่อนไหวกระดูกชิ้นนั้นหรือกระดูกชิ้นนั้นไม่สามารถ รองรับน้ำหนักต่างๆได้ตามปกติ
กระดูกหักเกิดได้กับกระดูกทุกชิ้นของร่างกาย อาจเกิดเพียงชิ้นเดียวหรือหลายชิ้นพร้อมๆกันทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
เมื่อเกิดกระดูกหัก จะมีได้หลากหลายลักษณะขึ้นกับสาเหตุเช่น บางครั้งกระดูกอาจยังคงติดอัดกันอยู่ บางครั้งอาจแตกเป็น 2 ท่อน บางครั้งอาจแตกหักเป็นหลายๆท่อน บางครั้งอาจหักเกยกันอยู่
กระดูกหักพบได้ในทุกเพศ ทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยสาเหตุหลักของกระดูกหักคือจากอุบัติเหตุ ที่พบรองลงไปคือ จากโรคกระดูกพรุน (มักพบในผู้สูงอายุ) ที่พบได้น้อยมากคือ กระดูกเปราะหักง่ายจากโรคทางพันธุกรรมที่พบกระดูกหักง่ายตั้งแต่ในวัยเด็ก
การรักษากระดูกหักคือ การพักใช้งานกระดูกนั้นจนกว่ากระดูกนั้นจะติดดี การเข้าเฝือก และ/หรือการผ่าตัดใส่เหล็กดาม นอกจากนั้นคือ การรักษาสาเหตุเช่น ในโรคกระดูกพรุน เป็นต้น
การจะรู้ว่ามีกระดูกหักคือ จะเจ็บในตำแหน่งกระดูกหักมากจนเคลื่อนไหวลงน้ำหนักไม่ได้ ร่วมกับในส่วนที่เกิดการหัก กระดูกชิ้นนั้นจะดูผิดรูปไป
เมื่อสงสัยกระดูกหักจากมีอาการดังกล่าว ต้องไม่เคลื่อนไหวลงน้ำหนักในส่วนนั้น หาคนช่วยและหาวัสดุช่วยดามกระดูกส่วนนั้นเพื่อป้องกันการหักเกยหรือเกิดการหักเพิ่มเติม หลัง จากนั้นรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน
บรรณานุกรม
- Bone fracture http://en.wikipedia.org/wiki/Bone_fracture [2015,July18]
- Broken bone http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000001.html [2015,July18]
Updated 2015, July 18