ปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย (Glossopharyngeal Neuralgia)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 10 มีนาคม 2556
- Tweet
- บทนำ
- อาการเจ็บแปล๊บๆ เสียว คืออาการอะไร?
- ปวดเหตุเส้นประสาทคืออะไร?
- ปวดเหตุเส้นประสาทพบบ่อยไหม?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการปวดชนิดนี้?
- ปวดเสียวแปล๊บในช่องคอ หรือกลืนอาหารแล้วเจ็บคืออะไร?
- ปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยเกิดจากอะไร?
- เส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 คืออะไร? มีหน้าที่อะไร?
- เมื่อมีอาการปวดดังกล่าว เมื่อไหร่จึงควรพบแพทย์?
- แพทย์จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นการปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย?
- ปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยนั้นรักษาอย่างไร?
- ปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยจะหายหรือไม่?
- ปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยมีผลข้างเคียงไหม? เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตใบหน้าไหม?
- ผู้ป่วยควรรักษาต่อเนื่องหรือไม่? ซื้อยาเองได้หรือไม่?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- เมื่อรู้ว่าเป็นโรคปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย ควรดูแลตนเองอย่างไร?
- ป้องกันปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยได้ไหม?
- สรุป
บทนำ
หลายคนคงสงสัยว่าตนเองเป็นอะไร อยู่ดีๆ ก็มีการปวดแปล๊บๆ (แปลบ) เสียว บริเวณลำ คอ โคนลิ้น หน้าหู หรือบางครั้งก็กลืนอาหารแล้วเจ็บ เสียวในคอมาก พยายามดูก็ไม่มีแผลใดๆ ไปพบแพทย์ตรวจก็ไม่พบความผิดปกติ สงสัยว่าจะมีก้างปลาติดคอหรือเปล่า ก็ไม่เคยได้ทานปลาเลยช่วงนี้ จึงสงสัยว่าเป็นอะไรกันแน่ ลองติดตามบทความนี้แล้ว ท่านจะทราบว่าอาการดัง กล่าว คืออะไร
![](https://haamor.com/media/images/articlepics/ปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย-01.jpg)
อาการเจ็บแปล๊บๆ เสียว คืออาการอะไร?
อาการเจ็บแปล๊บๆ หรือเสียวขึ้นมาทันทีนั้น คือ อาการปวดที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบประสาท ซึ่งจะแตกต่างจากการปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดแผล อาการปวดเหตุจากระบบประสาทที่เราคุ้นเคยมากที่สุด คือ อาการปวดฟัน เนื่องจากมีรอยโรคของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณฟันซีกนั้นๆ อาการปวดจะเป็นขึ้นมาทันที เป็นระยะเวลาไม่นาน เพียงแค่ไม่กี่วินาที ปวดแบบเจ็บแปล๊บหรือเสียวจนสะดุ้ง
ปวดเหตุเส้นประสาทคืออะไร?
อาการปวดเหตุเส้นประสาทเป็นโรค/อาการที่พบไม่บ่อยเมื่อเทียบกับอาการผิดปกติอื่นๆทางระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ แขน ขา อ่อนแรง อาการปวดเหตุเส้นประสาทนั้นส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอายุที่มากกว่า 65 ปีขึ้นไป และในผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการปวดชนิดนี้?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการปวดเหตุเส้นประสาททุกชนิด คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบา หวาน ไตวาย และ/หรือ โรคหลอดเลือดสมอง
ปวดเสียวแปล๊บในช่องคอ หรือกลืนอาหารแล้วเจ็บคืออะไร?
บางคนมีอาการ ปวด/เจ็บ เสียวแปล๊บในช่องคอ หรือ เจ็บคอ ลิ้น เวลากลืนอาหารโดยไม่มีไข้ ไม่มีแผลในช่องปากหรือช่องคอ ก้างปลาติดคอก็ไม่ใช่ เพราะช่วงนี้ไม่ได้ทานปลาเลย รวมทั้งการปวดบริเวณใบหู ช่องหู ไปพบแพทย์ หู คอ จมูก ตรวจก็ไม่พบความผิดปกติ ไปพบทันตแพทย์ก็ไม่มีความผิดปกติเช่นกัน แต่ก็ยังมีอาการปวดเสียวแปล๊บเป็นๆ หายๆ จนมีความทุกข์ทรมานอย่างมาก อาการดังกล่าวน่าจะเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 (Glossopharyngeal neuralgia) เนื่องจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 นั้น จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการนำกระแสประสาทมายังบริเวณ ช่องคอ คอหอย ต่อมน้ำลายหน้าหู ดังนั้นเมื่อเกิดความผิด ปกติ ก็จะมีอาการดังกล่าวได้ ในที่นี้ขอเรียกว่า”อาการปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย (Glosso pharyngeal neuralgia)”
ปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยเกิดจากอะไร?
อาการปวดเหตุประสาทคอหอยดังกล่าว เกิดจากมีรอยโรคบริเวณเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 โดยสาเหตุนั้นอาจเกิดจาก หลอดเลือดบริเวณก้านสมองโป่งพอง หรือ คดงอแล้วไปกดทับหรือเบียดเส้นประสาทเส้นที่ 9 หรือ เกิดจากก้อนเนื้องอก หรือมีการอักเสบของเส้นประสาทดัง กล่าว โดยส่วนใหญ่แล้วไม่มีสาเหตุที่ร้ายแรง และแพทย์มักหาสาเหตุไม่พบ
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 คืออะไร? มีหน้าที่อะไร?
เส้นประสาทสมองของคนเรานั้นมีทั้งหมด 12 คู่ โดยมีต้นกำเนิดอยู่ภายในสมองตำแหน่งต่างๆ ตั้งแต่ส่วนสมองใหญ่จนถึงสมองส่วนก้านสมอง (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท) ทั้งนี้ ต้นกำเนิดของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 นั้น อยู่ที่บริเวณก้านสมองส่วนล่าง เส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 นี้จะเดินทางผ่านมายังบริเวณฐานสมอง ผ่านออกมานอกสมอง เพื่อนำสัญญาณกระแสประสาทมาเลี้ยงอวัยวะต่างๆ คือ ต่อมน้ำลายหน้าหู โคนลิ้น คอหอย และช่องลำคอ ดังนั้นถ้ามีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้นต่ออวัยวะข้างเคียงต่อเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 เดินทางผ่านมานั้น ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดโป่งพอง ก้อนเนื้องอก กระดูกที่ผิดรูป หรือเกิดการอักเสบของเส้นประสาทเอง ก็จะส่งผลให้มีอาการผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 9 นี้ได้
เมื่อมีอาการปวดดังกล่าวเมื่อไหร่จึงควรพบแพทย์?ใครมีโอกาสเกิดปวดฯหลังเกิดงูสวัด?
ผู้ที่มีอาการผิดปกติ คือ มีอาการปวดดังกล่าว ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการปวดที่รุนแรงจนรบกวนกิจวัตรประจำวันหรือการดำรงชีวิต จนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และถ้ามีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น แขน ขาอ่อนแรง หรือ มีอาการกล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ควรต้องรีบไปพบแพทย์ทัน ที
แพทย์จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นการปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย?
สิ่งสำคัญที่สุดในการให้การวินิจฉัยโรคปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย คือการสอบถามประ วัติที่ละเอียดจากผู้ป่วย ว่ามีอาการอย่างไร ร่วมกับการตรวจร่างกายทางระบบประสาท และตรวจช่องคอ ช่องปาก และต่อมน้ำลายหน้าหูว่า มีความผิดปกติหรือไม่ กรณีอาการปวดเหตุเส้น ประสาทคอหอยนั้นจะต้องไม่พบความผิดปกติอื่นๆ นอกจากอาการปวดที่เป็นลักษณะของอา การปวดเหตุประสาท ต่อจากนั้น แพทย์ต้องพยายามหาสาเหตุของอาการดังกล่าว โดยการส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT-Scan brain) หรือ ตรวจสนามแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอสมอง (MRI-brain) หรือ การตรวจอื่นๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะผิดปกติอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วย เพื่อหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการ จะได้รักษาที่ต้นเหตุ
ปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยนั้นรักษาอย่างไร?
อาการปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย มีวิธีรักษาที่สำคัญ คือ
- การใช้ยารักษาอาการปวด เหมือนกับโรคปวดเหตุประสาทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชนิดของยา วิธีการใช้ยา หรือผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนต่างๆของยา
- และต้องหาสาเหตุว่าอาการปวดนั้นเกิดจากอะไร
โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะเริ่มให้ยากลุ่มยากันชัก หรือกลุ่มยาต้านอาการเศร้าก่อน ยาที่ได้ ผลดี คือ Amitriptyline (อะมิทิพทีลีน) หรือ Carbamazepine (คาร์บามาซีปีน) โดยแพทย์จะเริ่มให้ยาขนาดต่ำๆก่อนเสมอ ด้วยเหตุผลหลัก คือ ลดโอกาสการแพ้ยากันชัก ลดผลแทรกซ้อนของยาต้านเศร้า และผู้ป่วยบางรายก็ตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยาขนาดต่ำ แต่ถ้าได้ยาแล้วอาการปวดไม่ดีขึ้น แพทย์ก็จะค่อยๆเพิ่มขนาดยาตามอาการปวดและตามการตอบสนอง ทุก 1-2 สัปดาห์
อนึ่ง ผลข้างเคียงจากยา เช่น ลมพิษ ผื่นแดงคันตามตัว ใบหน้า หรือไข้ขึ้น มีแผลในปาก เดินเซ เห็นภาพไม่ชัด ท้องผูก และ/หรือ ท้องเสีย
ปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยจะหายหรือไม่?
ผลการรักษาอาการปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย ขึ้นกับสาเหตุของโรค ถ้าสามารถแก้ไขต้นเหตุได้ อาการปวดก็หายดี แต่ถ้าไม่สามารถรักษาต้นเหตุได้ อาการก็เป็นๆหายๆ
การรักษาโดยส่วนใหญ่ใช้เวลานานหลายเดือน แพทย์ต้องการไม่ให้มีอาการกลับเป็นซ้ำ จึงให้ทานยาเพื่อควบคุมอาการอยู่ในระยะเวลาหนึ่ง เมื่ออาการหายดีไม่ปวดเลย แพทย์ก็จะค่อยๆลดขนาดยาลงอย่างช้าๆ และถ้าไม่มีอาการเลยก็สามารถหยุดยาได้ แต่บางกรณีผู้ป่วยก็กลับมีอาการเป็นซ้ำได้อีก แพทย์ก็จะเริ่มรักษาให้ยาใหม่อีกครั้ง
ปวดเส้นประสาทคอหอยมีผลข้างเคียงไหม? เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตใบหน้าไหม?
กรณีอาการปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุนั้น ผู้ป่วยจะไม่มีโอกาสเป็น อัมพฤกษ์ อัมพาตใบหน้า แต่ถ้าอาการดังกล่าวมีสาเหตุจากหลอดเลือดกดเบียดทับ หรือมีก้อนเนื้องอก ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการอัมพาตใบหน้าได้ เนื่องจากเส้นประสาทใบหน้าและเส้น ประสาทคอหอยอยู่ใกล้กันจึงมีโอกาสถูกกดเบียดได้
ผู้ป่วยควรรักษาต่อเนื่องหรือไม่? ซื้อยาเองได้หรือไม่?
การรักษาโรคที่ดีนั้นต้องรักษาต่อเนื่อง การซื้อยาทานเองนั้นไม่แนะนำอย่างยิ่งครับ เพราะยาที่ทานนั้นเกิดผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนได้ง่าย การพบแพทย์นั้นแตกต่างจากการซื้อยาทานเองในหลายๆประเด็น เช่น การได้สอบถามอาการผู้ป่วย ผลแทรกซ้อนที่อาจพบได้จากยา และการประเมินผลการรักษา จะสามารถหยุดยาหรือต้องปรับยาหรือไม่
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การพบแพทย์ก่อนนัดนั้น สามารถพบได้ในกรณี
- อาการปวดเป็นรุนแรงขึ้น
- มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว
- เกิดผลแทรกซ้อนจากยารักษา
- ไม่มั่นใจว่ามีปัญหา/อาการใหม่เกิดขึ้นหรือไม่ หรือ กังวลในอาการ
เมื่อรู้ว่าเป็นโรคปวดเหตุเส้นประสาทคอหอย ควรดูแลตนเองอย่างไร?
ผู้ป่วยที่เป็นโรคปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยนี้ ควรสังเกตตนเองว่า อาการ ที่เป็นอยู่นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถ้าอาการผิดปกตินั้นรุนแรงมากขึ้น และ/หรือมีอาการผิดปกติทางระ บบประสาทเพิ่มขึ้น ก็ควรรีบมาพบแพทย์
ที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ การสังเกตอาการแพ้ยา หรือผลแทรกซ้อนที่เกิดจากยาที่ใช้รักษา
ข้อห้ามต่างๆสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ไม่มี ยกเว้นเรื่องการทานยาเพิ่มเติมกรณีมีโรคหรือภาวะอื่นๆเพิ่มเติม เพราะยาที่ใช้รักษาโรคนี้นั้น มีโอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆได้ง่าย ดัง นั้นจึงต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ถึงยาต่างๆที่ผู้ป่วยใช้อยู่ด้วยเสมอ
ป้องกันปวดเหตุเส้นประสาทคอหอยได้ไหม?
ปัจจุบัน โรคนี้ยังไม่สามารถป้องกันได้
สรุป
ผมหวังว่าผู้อ่านคงหายข้องใจแล้วนะครับว่าอาการเจ็บแปล๊บ เสียวนั้นคืออะไร และรักษาอย่างไร