บาดแผลและการปฐมพยาบาล (Wound and first aid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

บาดแผล (Wound) คือ การที่ผิวหนัง และเนื้อเยื่อต่างๆได้รับบาดเจ็บ (Trauma) ซึ่งการเกิดบาดแผลจะทำให้เกิดการปริแยก หรือฉีกขาดของผิวหนัง และเนื้อเยื่อปกติ แต่ร่างกายก็มีกระบวนการที่จะทำให้บาดแผลหาย ให้มีการประสานผิวหนังให้กลับมาติดกันได้

บาดแผล จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายความว่า เนื้อหนังที่แตกแยกออกเพราะถูกตีฟันทิ่มแทง เป็นต้น ส่วนคำว่า แผล หมายถึง เนื้อหนังที่แตกแยกออกเพราะเป็นโรคหรือถูกของมีคม เป็นต้น บาดแผล นับเป็นปัญหาเวชปฏิบัติที่สำคัญ เนื่องจากอุบัติภัยต่างๆพบได้บ่อยมากเป็นอัน ดับต้นๆในปัญหาทางสาธารณสุข และในเหตุการณ์นั้นๆย่อมเกิดบาดแผลร่วมด้วยเสมอ นอก จากนี้ในชีวิตประจำวัน อุบัติเหตุต่างๆก็ทำให้เกิดบาดแผลได้บ่อยๆ

เนื่องจากบาดแผลเกิดได้ทั้งที่เนื้อเยื่อ/อวัยวะภายนอกที่มองเห็นได้ เช่น ที่ผิวหนัง และกับอวัยวะภายในที่มองไม่เห็น เช่น อวัยวะในช่องท้อง เป็นต้น ในที่นี้จะเน้นเฉพาะแผลที่เห็นจากภายนอกเท่านั้น

แบ่งชนิดของบาดแผลได้อย่างไร?

การปฐมพยาบาล

แบ่งชนิดของแผลตามสาเหตุและเพื่อการดูแลรักษาได้เป็น 2 กลุ่มดังนี้

1. แผลเฉียบพลัน คือแผลที่มีการติดประสานของผิวหนังได้ตามกระบวนการปกติ และมักเกิดจากอุบัติเหตุ หรือ คือบาดแผล ซึ่งเป็นเรื่องที่จะกล่าวถึงในบทนี้

2. แผลเรื้อรัง คือกลุ่มที่แผลมีปัญหาในการสมานติดของแผล ส่วนใหญ่แผลมักไม่ติดในเวลา 3 เดือน ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในบทนี้

บาดแผลมีกระบวนการติด/หายอย่างไร?

การประสานสมานบาดแผลให้แผลติด/หาย (Healing process) ต้องอาศัยเซลล์และสารชีวเคมีของร่างกายหลายชนิดทำงานร่วมกัน ตั้งแต่การห้ามเลือดให้หยุด เนื่องจากการเกิดบาด แผลทำให้หลอดเลือดเสียหายมีเลือดออก ร่างกายจะมีกระบวนการห้ามเลือดให้หยุด แล้วมีเซลล์เม็ดเลือดขาวหลายชนิดส่งมาบริเวณบาดแผลนั้น เพื่อเก็บกินกำจัดสารและเนื้อเยื่อที่ไม่ต้องการ จากนั้น จะมีการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่จะทำให้บาดแผลตื้นขึ้นและเกิดความแข็ง แรงของเนื้อเยื่อสารตัวสำคัญในการสมานบาดแผล คือ คอลลาเจน (Collagen) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีมากในร่างกาย มีความสำคัญในการสมานติดของบาดแผล

นอกจากนี้ แผลจะมีการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อมาจากส่วนล่างที่พื้นผิวของบาดแผล มีการเลื่อนมาปิดของผิวหนังส่วนบน และร่างกายมีกระบวนการตบแต่งประสาน มีการหดตัวของบาดแผล กระบวนการทั้งหมดจะทำให้บาดแผลประสานกันอย่างแข็งแรง กลับมาเป็นผิวหนังปกติมากที่สุด การติด/การหายของบาดแผลใช้เวลาแตกต่างกัน ขึ้นกับขนาดของบาดแผลและกระบวน การติด/หายที่แตกต่างกัน เช่น มีการเย็บให้แผลติดกัน หรือรอให้เนื้อเยื่อเจริญเพื่อประสานบาด แผลให้ตื้นขึ้นเองตามธรรมชาติ

การติด/หายของบาดแผลมีปัจจัยอะไรบ้าง?

บาดแผลจะติด/หายได้ต้องมีปัจจัยดังนี้

1. มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณบาดแผลได้อย่างดี ทำให้มีเซลล์ต่างๆและสารที่จำเป็นมาทำหน้าที่ช่วยในการติดของบาดแผล

2. ไม่มีเนื้อเยื่อตายบริเวณบาดแผล

3. ไม่มีการติดเชื้อของบาดแผล

4. บาดแผลชุ่มชื้นดี ซึ่งมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าบาดแผลที่ชุ่มชื้นหายได้ดีกว่าบาด แผลที่แห้ง

อะไรเป็นสาเหตุให้บาดแผลติด/หายยาก?

สาเหตุที่บาดแผลติด/หายยาก ได้แก่

ก.โรคทางพันธุกรรมที่ทำให้บาดแผลติด/หายยาก

เนื้อเยื่อที่ทำให้บาดแผลติดยาก (อย่างไรก็ตามโรคดังกล่าวพบไม่บ่อย) เช่น

1. Ehlers-Danlos syndrome

2. Marfan syndrome

3. Osteogenesis imperfecta

4. Epidermolysis bullosa

5. Acrodermatitis enteropathica

มีโรคทางพันธุกรรมบางชนิดเกี่ยวกับความผิดปกติของ

ข.โรคหรือภาวะที่ทำให้บาดแผลติด/หายยากที่ไม่ได้เป็นแต่กำเนิด เช่น

1. โรคเบาหวาน

2. การใช้ยาสเตียรอยด์

3. การขาดสารอาหาร

ค.ความเสี่ยงที่ทำให้ผลการติด/หายของบาดแผลไม่ดี

  • ปัจจัยเกี่ยวกับแผล:

1. มีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ในบาดแผล

2. บาดแผลสกปรก

3. มาพบแพทย์ล่าช้า (ช้ากว่า 24 ชั่วโมงในกลุ่มที่เป็นบาดแผลที่ใบหน้า หรือหนังศีรษะ และช้ากว่า 18 ชั่วโมงในบาดแผลที่ส่วนอื่นๆ)

4. บาดแผลลึกและมีการบอบช้ำของเนื้อเยื่อ

5. บาดแผลจากแก้ว หรือน้ำแข็งบาด

  • ปัจจัยเกี่ยวกับผู้ป่วย:

1. เป็นโรคเบาหวาน

2. คนอ้วน/โรคอ้วน

3. มีโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายซึ่งทำให้แผลขาดเลือดไปเลี้ยง

4. มีภาวะขาดสารอาหาร (ขาดโปรตีน ขาดวิตามินซี)

5. มีโรคไตวายเรื้อรัง

6. ใช้ยาสเตียรอยด์ หรือยาอื่นๆเพื่อกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย

7. มีประวัติเกิดแผลเป็นนูน/คีลอยด์ (Keloid) ได้ง่าย

8. มีโรคที่มีความผิดปกติของเนื้อเยื่อ ทำให้การติดประสานของเนื้อเยื่อไม่ดีดังได้กล่าวแล้ว

อนึ่ง อาจเกิดได้จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยจากตัวแผลเอง และปัจจัยจากตัวผู้ป่วย

ทำไมต้องทำแผล?

การทำแผลเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังนี้

1. กำจัดเนื้อตายซึ่งเป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและของผิวหนังที่เกิดใหม่

2. กำจัดน้ำเหลืองหรือหนอง เพื่อให้แผลสะอาด ซึ่งจะส่งผลให้แผลสมานได้เร็ว

3. ป้องกันแบคทีเรียไม่ให้เจริญเติบโต ซึ่งจะทำให้แผลติดเชื้อ ทำให้แผลประสานติดได้ยาก

4. ให้เกิดความสมดุลของของเหลวในบริเวณแผลได้เหมาะสม โดยแพทย์จะรักษาแผลให้อยู่ในสภาพชุ่มชื้น (แต่ไม่อับชื้น) เพื่อให้แผลติดได้ดี

ทั้งนี้ การทำแผลที่ดี จะเห็นว่ามีเนื้อดี (Granulation tissue และEpithelialization) เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นตัวพยากรณ์ที่ดีว่า แผลจะติดและประสานกันได้

ลักษณะของบาดแผลมีกี่ชนิด?

บาดแผลแบ่งตามลักษณะที่เห็นเพื่อการดูแลรักษาเป็น แผลเปิด และแผลปิด

ก. แผลเปิด ได้แก่

  • แผลถลอก (Abrasion wound) เป็นแผลที่มีการปริแตกของผิวหนังเท่านั้น ไม่มีการหายไปของผิวหนัง เช่นแผลที่เกิดจากการเกา หรือการเสียดสี
  • บาดแผลฉีกขาดขอบเรียบเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) มักเกิดจากวัตถุมีคม เช่น มีด หรือแก้วบาด (Cut wound or incised wound) เป็นแผลที่มีการฉีกขาด
  • บาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบ (Laceration wound) เป็นแผลขอบไม่เรียบ มักเกิดจากการกระแทกเช่น ตกจากที่สูง หกล้ม ถูกขว้างด้วยของแข็ง
  • แผลที่มีการฉีกขาดและเนื้อเยื่อหลุดออกไป (Avulsion) พบในอุบัติเหตุรุนแรง เช่น รถชน
  • แผลถูกทิ่มตำ (Puncture wound) เป็นแผลที่ถูกวัตถุเล็กแหลมทิ่มแทง เช่น ตะปู เข็ม
  • แผลถูกแทง (Penetrating wound or Stab wound) เช่น ถูกมีดแทง
  • แผลถูกกระสุนปืน (Gunshot wound)

ข. แผลปิด ได้แก่ แผลฟกช้ำ และ แผลมีก้อนเลือดอยู่ภายใน

ดูแลบาดแผลที่เล็กน้อย (Minor wound) อย่างไร?

บาดแผลเล็กน้อยคือ บาดแผลที่ไม่กว้างใหญ่ และไม่ลึกมาก ไม่มีเลือดออกมาก สามารถดูแลได้เอง หรือดูแลที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกแล้วกลับบ้านได้ การดูแลรักษาบาดแผลเล็กน้อยมีเป้าหมาย 2 อย่างคือ

1. เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อ

2. ไม่ให้เกิดแผลจนน่าเกลียด คือ ดูในเรื่องความสวยงาม

  • การดูแลบาดแผลเองที่บ้าน

บาดแผลฉีกขาดทั้งชนิดขอบเรียบ และขอบไม่เรียบที่เป็นไม่มาก/เล็กน้อย สามารถดูแลแผลเองที่บ้านได้ดังนี้

1. กดปากบาดแผลด้วยสำลีหรือผ้าก๊อซ (Gauze) สะอาด เพื่อห้ามเลือด และยกบริเวณแผลให้สูงไว้

2. ล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาด (น้ำประปา) และสบู่เพื่อลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียบริเวณแผล

3. ทายาปฏิชีวนะที่เป็นยาขี้ผึ้ง/ออยต์เมนต์ (Ointment) ที่บริเวณปากแผล แล้วพันด้วยผ้า/ผ้าก๊อซสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการสูญเสียน้ำจนกว่าแผลจะติดกัน ทั้งนี้ ควรทายาวันละ 1-2 ครั้ง (เช้า เย็น)

4. สังเกตแผล เมื่อมีอาการแผลติดเชื้อ (บวม แดง ร้อน เจ็บ มีกลิ่น มีน้ำเหลือง/หนอง) ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

แผลที่ไม่ใช่บาดแผลเล็กน้อยคือแผลอย่างไร?

แผลที่ไม่ใช่บาดแผลเล็กน้อย คือ แผลที่มีอันตรายต่อข้อ เส้นประสาท เส้นเอ็น หลอดเลือด กล้ามเนื้อ หรือแผลที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะที่อยู่ลึกลงไป ซึ่งแผลเหล่านี้อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมด้วย ดังนั้นแผลที่ไม่ใช่แผลเล็กแผลน้อย ควรต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์

แพทย์มีแนวทางการดูแลบาดแผลอย่างไร?

แนวทางการดูแลรักษาบาดแผลของแพทย์ คือ แพทย์จะซักประวัติการเกิดบาดแผล เช่น เกิดจากอะไร ระยะเวลาที่เกิดบาดแผลจนมาถึงโรงพยาบาล ประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก โรคประจำตัว ยาที่ได้รับมาก่อนซึ่งอาจมีผลทำให้บาดแผลติดช้า

แพทย์จะตรวจขนาด ความลึก ลักษณะของบาดแผล ความสะอาด และตรวจว่ามีสิ่งแปลกปลอมในบาดแผลหรือไม่

แพทย์จะประเมินว่าบาดแผลนั้นมีเลือดออกมาก และเลือดหยุดยากหรือไม่ มีอันตรายต่ออวัยวะอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น มีอาการชา มีความผิดปกติของเส้นประสาท เส้นเอ็น หรือกล้าม เนื้อหรือไม่ ตรวจสัญญาณชีพ (ชีพจร ความดันโลหิต อัตราการหายใจ และอุณหภูมิ/วัดปรอท) และ/หรือดูว่ามีภาวะเสียเลือดจนช็อกหรือไม่ เพื่อให้การรักษาเบื้องต้นอย่างเหมาะสม

แพทย์จะล้างบาดแผลให้สะอาด และเอาสิ่งสกปรกที่ติดค้างออก ถ้าบาดแผลอยู่ที่ศีรษะต้องโกนผมออก (เพื่อล้างบาดแผลได้สะอาด) เพื่อให้แผลติดกันได้ดี ไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรก ทั้งนี้ในการล้างแผลแพทย์อาจพิจารณาการให้ยาชาและยาแก้ปวดตามความเหมาะ สม (ถ้าผู้ป่วยแพ้ยาอะไรต้องบอกแพทย์ด้วย) แพทย์อาจเย็บแผล ทั้งนี้ขึ้นกับ ลักษณะของแผล โอกาสติดเชื้อ และข้อบ่งชี้ ผู้ที่ยังได้ รับวัคซีนโรคบาดทะยัก (Tetanus toxoid) ไม่ครบ หรือกระตุ้นวัคซีนนี้ครั้งสุดท้ายนานเกินกว่า 5 ปี (เมื่อแผลไม่สะอาด) หรือเกิน 10 ปี (เมื่อแผลสะอาด) อาจต้องฉีดวัคซีนนี้ซ้ำ หรือต้องให้ยาภูมิคุ้มกันต้านทานบาดทะยัก (Tetanus immune globulin) ร่วมด้วยแล้วแต่กรณี

แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย หากแผลนั้นมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียมาก และ แพทย์จะนัดติดตามประเมินแผล อีกทั้งให้มีการล้างแผลต่อเนื่อง เพื่อให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้แผลติดได้ดีไม่มีภาวะแทรกซ้อน

แพทย์จะเย็บบาดแผลหรือไม่ พิจารณาอย่างไร?

การเย็บบาดแผล เพื่อช่วยดึงให้ปากแผลเข้ามาชิดกัน เพื่อทำให้บาดแผลที่ขอบเรียบและสะอาดติดกันได้ง่ายและแผลเป็นที่เกิดจะเป็นเพียงเส้นเล็กๆ แต่แผลบางชนิดปากแผลกว้างมาก ต้องรอให้แผลมีกระบวนการสมานแผลจนแพทย์สามารถดึงปากแผลมาใกล้กันแล้วเย็บปากแผลให้ชิดกันได้ แต่หากการเย็บแผลเป็นไปไม่ได้แพทย์อาจเอาผิวหนังส่วนอื่นของร่างกายมาเย็บปะ เรียกว่าทำ Skin graft

บาดแผลที่ไม่สะอาดที่มีโอกาสติดเชื้อสูง หรือแผลที่มีการติดเชื้อแล้ว เช่น เป็นหนองแล้ว แพทย์จะให้ล้างแผลจนแผลหายติดเชื้อ แล้วจึงประเมินต่อว่าควรจะรักษาอย่างไรต่อไป

ควรปฐมพยาบาลบาดแผลในลักษณะต่างๆอย่างไร?

การปฐมพยาบาลบาดแผลในลักษณะต่างๆ ควรทำดังนี้ คือ

1. บาดแผลที่ถูกมีดหรือของมีคมบาด (Cut wound) ถ้าเป็นบาดแผลสะอาด และแผลเล็กจะติดได้ใน 12-18 ชั่วโมงหลังเกิดแผล ถ้าบาดแผลใหญ่ควรรีบพบแพทย์ฉุกเฉินเพื่อเย็บแผล ซึ่งจะช่วยดึงให้แผลติดกันได้เร็ว เมื่อแผลติดกันดีแล้วจะเห็นเพียงเส้นของรอยติดเล็กๆ (ถ้าไม่ใช่คนที่เป็นแผลเป็นนูนได้ง่าย) การปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลบาดแผลที่เล็กน้อย แต่ถ้าแผลใหญ่ ลึก หรือเลือดออกไม่หยุด หลังล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่แล้วควรรีบไปโรงพยา บาลฉุกเฉิน โดยพันแผลด้วยผ้า/ผ้าก๊อซสะอาด และกดแผลเพื่อช่วยหยุดเลือด

2. บาดแผลที่ขอบไม่เรียบ (Lacerated wound) พวกนี้มักจะมีขอบไม่เรียบ บางที่มีขอบที่เป็นเนื้อตาย ขอบรุ่งริ่ง หลักการคือพยายามให้แผลสะอาด และตัดส่วนที่เป็นเนื้อตายออกให้เห็นขอบแผลมีสีแดง ทำให้แผลมีความชุ่มชื้น ล้างแผลให้ดี เพื่อให้เนื้อเยื่อสร้างขึ้นมาใหม่ทำให้แผลตื้นขึ้น ขณะเดียวกันส่วนบนของผิวหนังก็จะเจริญแบ่งตัวเพื่อจะประสานกันและปิดบาด แผล ซึ่งอาจจะรอให้บาดแผลปิดกันเองตามธรรมชาติ หรือเมื่อผิวหนังเจริญมาได้ระยะหนึ่ง และแผลส่วนล่างตื้นขึ้น อาจเย็บปิดช่วยให้บาดแผลติดได้เร็วขึ้น การปฐมพยาบาล คือ ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ พันแผล หรือกดแผลด้วยผ้า/ผ้าก๊อซสะอาดเมื่อยังมีเลือดออก และรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน

3. บาดแผลถูกตำ (Puncture wound) บาดแผลในกลุ่มนี้พบมากที่ฝ่าเท้าและพบว่าวัสดุที่ตำเข้าไปในเท้ามากที่สุดคือ ตะปู รองลงมาเป็น เศษแก้ว ไม้ หรือโลหะ และอื่นๆ บาดแผลถูกตำ ถ้าเป็นแผลตื้นๆ มักหายได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่บาดแผลที่ลึกๆ มักมีการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา โดยเฉพาะบริเวณเท้าที่ลงน้ำหนัก บาดแผลถูกตำมักจะลึก สิ่งที่พึงระวังคือในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งมักจะไปพบแพทย์ช้าเนื่องจากอาจมีอาการชาจึงไม่เจ็บแผล ทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียได้บ่อยกว่ากลุ่มอื่น และมีการติดเชื้อที่กระดูกมากขึ้นด้วย บางคนต้องตัดขาเพราะมีแผลถูกตำแล้วลุกลามติดเชื้อจนรักษาเก็บขาไว้ไม่ได้ การปฐมพยาบาล เมื่อแผลถูกตำตื้นๆ (เห็นก้นแผลชัดเจน) ไม่มีเลือดออก ไม่มีเศษสิ่ง ของค้างอยู่ ปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลบาดแผลที่เล็กน้อย แต่ถ้าแผลลึก เลือดออกไม่หยุด หรือเป็นโรคเบาหวาน ควรไปโรงพยาบาลฉุกเฉินหลังทำความสะ อาดแผลด้วยน้ำสะอาด และสบู่

เมื่อมีแผลถูกตำ แพทย์มีแนวทางดูแลรักษาอย่างไร?

แพทย์มีแนวทางดูแลบาดแผลถูกตำ โดย

1. แพทย์จะประเมินขนาดและความลึกของบาดแผล รวมทั้งดูว่ามีอวัยวะที่อยู่ลึกลงไปถูกวัตถุตำด้วยหรือไม่ เช่นหลอดเลือด เส้นประสาท เอ็น หรือกระดูก

2. แพทย์จะประเมินว่ายังมีส่วนของวัตถุที่ตำตกค้างอยู่ในแผลหรือไม่ ซึ่งหากแพทย์ไม่สามารถมองเห็นได้ แพทย์จะเอ็กซเรย์เพื่อดูว่าในแผลมีสิ่งแปลกปลอมอะไรหรือไม่ ถ้ามีจะเอาออกเพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา และจะลดอาการปวดแผลด้วยการให้ยาแก้ปวด

3. แพทย์จะซักถามเรื่องการได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักของผู้ป่วย เพราะแผลถูกตำมีโอกาสติดเชื้อบาดทะยักได้โดยเฉพาะวัตถุที่ตำปนเปื้อนดินซึ่งมีเชื้อบาดทะยักปนเปื้อนได้มาก หากผู้ป่วยได้รับวัคซีนแต่ไม่เคยได้ฉีดกระตุ้นหรือฉีดกระตุ้นนานเกิน 5 ปี ก็จะฉีดวัคซีนกระตุ้นให้ ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักน้อยกว่า 3 ครั้งหรือผู้ที่มีประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักไม่แน่นอน ควรได้รับวัคซีนฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (ต้องใช้เวลากระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิ คุ้มกันโรคได้เอง) และ/หรือให้ยาภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบาดทะยัก (Tetanus immune globulin) ด้วยเพราะเป็นภูมิต้านทานสำเร็จให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเชื้อบาดทะยักได้เลย ทั้งนี้แพทย์จะประเมินตามความเหมาะสม

4. ในแผลที่ไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจยังไม่ให้ยาปฏิชีวนะ แต่จะนัดติด ตามดูแผล ทั้งนี้เพราะยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าให้ผลดีกว่าการไม่ให้ยาปฏิชีวนะป้องกัน ดังนั้นแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะหรือไม่ให้ก็ได้ขึ้นกับการประเมิน หากแผลมีโอกาสติดเชื้อได้มาก แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะป้องกัน

  • อาการติดเชื้อที่แผลจะแสดงโดยมีอาการปวดมากขึ้น บวม แดง ร้อน มีกลิ่นเหม็น หรือมีไข้ ถ้ามีการติดเชื้อนานอาจมีหนองออกมาที่แผล ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ
  • 5. การทำแผลในแผลถูกตำที่ไม่มีการติดเชื้อ โดยปกติคือการทำความสะอาดบริเวณผิวหนังที่ปากแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ไอโอไดฟอร์ (Iodophor) ตัดขอบแผลให้เรียบ เนื่อง จากแผลถูกตำจะลึก การล้างแผลยากและอาจทำให้มีการนำเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในแผลได้อีก ดังนั้นการจะล้วงไปในแผลลึกๆ หรือการฉีดน้ำเกลือเข้าไปล้างแผลลึกๆควรทำโดยแพทย์เท่านั้น

    6. การทำแผลถูกตำที่ติดเชื้อ แพทย์จะประเมินว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในบาดแผลหรือไม่ แล้วแพทย์จะทำแผลโดยอาจผ่าตัดเอาหนองออกหรือเปิดแผลให้สามารถล้างทำความสะอาดแผลได้ง่าย หรือต้องตัดส่วนของเนื้อเยื่อที่ไม่ดีออก และการติดเชื้อจากแผลถูกตำนั้นมีเชื้อโรคได้หลายชนิดทั้งเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆ ซึ่งรวมถึงเชื้อบาดทะยักและอาจเกิดจากเชื้อที่ปน เปื้อนอยู่กับวัสดุที่ตำเข้าไปในแผลด้วย ดังนั้นแพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะชนิดที่ครอบคลุมเชื้อโรคต่างๆหลายชนิดที่อาจทำให้เกิดแผลติดเชื้อในแผลถูกตำที่มีอาการของการติดเชื้อ หรือเมื่อแพทย์ประเมินแล้วว่าน่ามีการติดเชื้อ ทั้งๆที่ยังอาจไม่มีอาการ

    หลังจากพบแพทย์แล้ว กลับบ้านต้องดูแลบาดแผลต่ออย่างไร?

    หลังจากพบแพทย์แล้ว แพทย์จะแนะนำว่าจะให้ทำอย่างไรกับแผลต่อไป เช่นถ้าแพทย์เย็บแผลปิดแล้วอาจไม่ต้องทำอะไรเลยจนถึงวันนัดตัดไหม หรืออาจให้เช็ดบาดแผลด้วยน้ำยาแอลกอฮอล์ หรือหากบาดแผลยังใหญ่มาก แพทย์อาจให้ไปทำแผลที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกวัน

    หากบาดแผลไม่ใหญ่มาก แพทย์อาจแนะนำให้ล้างแผลเองที่บ้าน โดยทั่วไป คือ

    ใช้น้ำเกลือ Normal saline ล้างบาดแผล โดยใช้สำลีสะอาดชุบน้ำเกลือล้างแผล เช็ดเบาๆบริเวณหน้าแผลให้สะอาดให้แผลดูแดงดี ไม่มีเนื้อตายบริเวณหน้าแผล และใช้ผ้าก๊อซสะอาดชุบน้ำเกลือล้างแผลให้หมาด ปิดหน้าแผลเพื่อให้แผลชุ่มชื้น และป้องกันเชื้อโรคด้วย แล้วพันทับด้วยผ้าก๊อซแห้ง หากจะทำแผลครั้งใหม่ก็ใช้น้ำเกลือล้างแผลหยอดลงบนผ้าก๊อซที่ติดอยู่กับแผลให้ชุ่มก่อน รอสักพักผ้าก๊อซจะหลุดออกจากแผลได้ง่ายไม่ติดแผล อาจล้างแผลวันละ 2 ครั้ง

    ใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ล้างบาดแผลดีไหม?

    มีหลายคนชอบใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) ล้างบาดแผล ซึ่งนอกจากจะทั้งปวดแสบปวดร้อนแล้ว ยังอาจทำให้การประสานติดของบาดแผลไม่ดีด้วย ให้ใช้น้ำเกลือล้างแผลธรรมดา (Normal saline) ซึ่งไม่ทำให้เจ็บแผลมากนัก บางคนได้ยินคำว่าน้ำ เกลือแล้วกลัวว่าจะแสบ เพราะน้ำเกลือล้างแผลไม่ใช่น้ำเกลือเข้มข้น (มีคำกล่าวที่ว่า แล่เนื้อเอาเกลือทา คนจึงกลัวว่าน้ำเกลือจะทำให้แสบ)

    นอกจากนี้ไอโอดีน โพวิดีนไอโอดีน และสารออร์กานิกต้านแบคทีเรียอื่นๆ (Organic antiseptics) ก็ทำให้การหายของบาดแผลช้าลง เนื่องจากสารทั้งหมดที่กล่าวถึงจะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะช่วยให้กระบวนการติดประสานของแผลเป็นไปโดยปกติ

    ของแสลงทำให้บาดแผลไม่ติด จริงหรือไม่?

    เมื่อเกิดบาดแผล มีผู้ป่วยหลายคนถูกห้ามไม่ให้รับประทานไข่หรือข้าวเหนียว หรืออาหารอื่นๆ เพราะผู้ใหญ่บอกว่าจะเป็นหนอง ข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง ควรกินอาหารให้ครบทุกหมู่ (อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่) ร่างกายที่ขาดสารอาหารมีผลทำให้แผลติดได้ช้า และหนองคือการติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดจากแผลไม่สะอาด และไม่ล้างแผลให้สะอาดอยู่เสมอ ในทางการแพทย์ ไม่มีอาหารแสลงที่ทำให้เกิดแผลเป็นหนอง

    ควรเอาอะไรพอกแผลไหม?

    บางคนชอบเอาพืช ผัก สมุนไพร เช่น เมล็ดต้อยติ่งตำ หรือพืชชนิดอื่นตำโปะไว้ที่แผล วิธีดังกล่าวไม่ดีแน่ เนื่องจากพืชหรือสิ่งของที่ใส่ลงไปโปะแผลอาจไม่สะอาด ก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งต่างๆเหล่านั้น โดยปกติแพทย์ทำแผลแล้วจะเอาผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือ Normal saline ปิดแผลไว้เพื่อให้แผลชุ่มชื้น มีสมดุลของของเหลวในแผลเหมือนสภาพของร่างกายปกติ ทำให้มีการติดของแผลดีขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีวิวัฒนาการและมีการวิจัยเพื่อทำให้แผลเรื้อรังอยู่ในภาวะที่จะติดได้ดีขึ้น เช่นมีสารดูดน้ำเหลืองที่คั่งค้าง หรือทำให้มีความดันเป็นลบต่อแผล (Negative pressure) เพื่อให้แผลยุบบวม หรือใช้สารเคลือบปิดเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ ซึ่งวิธีการต่างๆ ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์และความเหมาะสม ซึ่ง แพทย์ทางศัลยกรรมจะเป็นผู้ตัดสินใจ หากแผลมีความซับซ้อน แพทย์อาจดูแลร่วมกันเป็นสหสาขา เช่น แพทย์ทางอายุรศาสตร์ หรือกุมารเวชศาสตร์ อาจต้องเข้ามาช่วยดูว่าผู้ป่วยมีโรคอื่นที่มีผลทำให้บาดแผลหายช้า และรักษาโรคดังกล่าวร่วมด้วย ในการให้การรักษาแผลเหล่านี้ บางคนอาจต้องมีการปะผิวหนัง (Skin graft) ในแผลที่ติดยากและ/หรือมีผิวหนังไม่เพียงพอในการติดของแผล

    เมื่อมีบาดแผลจะเกิดแผลเป็นนูนได้ไหม?

    ในบางคนที่เป็นแผล แม้จะเป็นแผลไม่ใหญ่ก็อาจมีแผลเป็นนูน/คีลอยด์ (Keloid) คือ มีผิวหนังนูนหนาและแข็งเกิดขึ้นตรงรอยที่เป็นบาดแผล หรือรอยเย็บแผล การเกิดแผลเป็นนูน เกิดจากมีการผลิตสารที่ช่วยในการประสานติดของแผลมากเกินปกติ ทำให้ทั้งผิวหนังและส่วนเนื้อเยื่อที่ลึกลงไปมีการเจริญเติบโตเกินปกติ จึงเกิดเป็นแผลนูนแข็งขึ้นมา

    การรักษาแผลเป็นนูนค่อนข้างยาก เพราะการผ่าตัดก็มักจะทำให้เกิดแผลเป็นนูนกลับซ้ำขึ้นมาใหม่ได้ 45-100% การรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในแผลเป็นนูน หรือร่วมกับการผ่าตัดอาจช่วยให้ผลดีขึ้น บางคนอาจรักษาโดยใช้การฉายรังสีรักษา เพื่อไปทำให้เซลล์ที่ผลิตเนื้อเยื่อที่นูนมากผิดปกติลดการผลิตลง รวมทั้งมีการใช้ยาอื่นๆ ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์เพราะการใช้ยาแต่ละอย่างอาจมีผลข้างเคียงตามมา

    เมื่อไรควรพบแพทย์?

    นอกจากจะเป็นบาดแผลเล็กน้อยดังกล่าวแล้ว บาดแผลอื่นๆควรได้รับการดูแลเบื้องต้นจากแพทย์ หรือแผลเล็กน้อยที่กดแล้วเลือดไม่หยุด ขอบแผลแยก หรือไม่แน่ใจว่ามีสิ่งแปลก ปลอมติดอยู่ในแผลหรือไม่ ก็ควรพบแพทย์ เพื่อแพทย์จะประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการหายของแผลช้า ดูเรื่องโอกาสการติดเชื้อ ตรวจดูว่าแผลมีสิ่งแปลกปลอมค้างอยู่หรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะการติดเชื้อที่ตามมา และซักประวัติการได้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักและให้การป้องกันการติดเชื้อบาดทะยักอย่างเหมาะสม อีกทั้งหากแผลเกิดจากสัตว์กัดต้องพิจารณาเรื่องการป้องกันพิษสุนัขบ้า (โรคพิษสุนัขบ้า) ด้วย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะหากแผลมีการติดเชื้อหรือมีโอกาสติดเชื้อสูง

    เมื่อแพทย์ตรวจบาดแผลและทำแผลในเบื้องต้นแล้ว หากกลับบ้านไปเกิดอาการปวด บวม แดง ร้อนหรือมีกลิ่นเหม็นที่แผลหรือมีไข้ ให้รีบกลับไปพบแพทย์ ซึ่งอาการเหล่านั้นบ่งบอกว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา

    บาดแผลที่ติดแล้วแยกออก ก็ควรรีบพบแพทย์เช่นกัน

    นอกจากนั้น ในผู้ที่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคเบาหวาน แม้เป็นบาดแผลเพียงเล็กน้อยอย่านิ่งนอนใจ เนื่องจากโรคเบาหวานมีผลต่อการประสานติดของแผล และอาจมีปัญหาการติดเชื้อแทรกซ้อน รวมถึงอาการชาอาจทำให้ไปพบแพทย์ช้าเพราะจะไม่รู้สึกเจ็บ กว่าจะไปพบแพทย์อาจสายเกินไป จนมีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อลึกลงไปหรือมีการติดเชื้อของกระดูก ผู้ป่วยเบาหวานหลายรายต้องถูกตัดขาจากแผลเริ่มต้นเพียงเล็กน้อย

    ป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลอย่างไร?

    ป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผล โดย

    1. ควรสวมรองเท้าเมื่อออกนอกบ้านป้องกันการถูกของมีคมตำเท้า

    2. สวมหมวกกันน็อกเมื่อขับขี่ยวดยาน หรือเข้าไปในบริเวณก่อสร้าง

    3. การใช้ของมีคม ควรระมัดระวัง อย่ารีบร้อน เช่น มีด กรรไกร

    4. ระวัง สัตว์และคนกัด (สัตว์และคนกัด: การปฐมพยาบาล การดูแลรักษา สุนัขกัด แมวกัด สัตว์ฟันแทะอื่นๆกัด คนกัด และ การปฐมพยาบาล การดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้า)

    5. ดูแลเด็กอย่าให้เล่นของมีคม

    บรรณานุกรม

    1. Barbul A, Efron DT. Wound healing. In : Brunicardi FC, Anderson DK, Billiar TR, Dunn DL, Hunter JG, Matthews JB, eds. Schwartz’s Principles of Surgery, 9th edition. New York : Mc Graw Hill Medical, 2010. p. 209-34.
    2. http://www.uptodate.com/contents/basic-principles-of-wound-management [2017,Feb11]
    3. http://www.uptodate.com/contents/minor-wound-preparation-and-irrigation [2017,Feb11]
    4. http://www.uptodate.com/contents/infectious-complications-of-puncture-wounds [2017,Feb11]
    5. http://www.emedicinehealth.com/wound_care/article_em.html [2017,Feb11]
    Updated 2017,Feb11