นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วถุงน้ำดี (Gallstone)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 23 ตุลาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- นิ่วในถุงน้ำดีมีสาเหตุจากอะไร?
- ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีมีอะไรบ้าง?
- นิ่วในถุงน้ำดีมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดีได้อย่างไร?
- รักษานิ่วในถุงน้ำดีอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากนิ่วในถุงน้ำดีไหม?
- นิ่วในถุงน้ำดีรุนแรงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีนิ่วในถุงน้ำดี? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันนิ่วในถุงน้ำดีได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis)
- ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- มะเร็งถุงน้ำดี (Gallbladder Cancer)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
- กายวิภาคตับและระบบทางเดินน้ำดี (Hepatobiliary system)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊ส (Abdominal bloating)
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
บทนำ
นิ่วในถุงน้ำดี หรือนิ่วถุงน้ำดี (Gallstone หรือ Cholelithiasis) คือ ก้อนหรือผลึกของสารเคมีในน้ำดีที่ตกตะกอนจนเป็นก้อนแข็งอยู่ในถุงน้ำดี ที่เรียกทั่วไปว่า ‘นิ่ว หรือ ก้อนนิ่ว’ ส่วนใหญ่มักเป็นก้อนขนาดเล็กๆ หลายๆก้อน แต่ก็พบเป็นก้อนขนาดใหญ่ หรือมีก้อนเดียวได้ ก้อนนี้ในระยะยาวจะก่อให้เกิดถุงน้ำดีอักเสบ และยังอาจเคลื่อน/หลุดเข้าไปอุดตันในท่อน้ำดี ที่ส่งผลให้ถุงน้ำดีอักเสบ และ/หรือร่วมกับท่อนำดีอักเสบ ที่ก่อให้เกิดอาการสำคัญ คือ ปวดท้องมากด้านขวาตอนบน/ใต้กะบังลมขวา(ตำแหน่งของถุงน้ำดี) ลักษณะปวดเป็นพักๆ ที่เรียกว่า ปวดบิด หรือปวดบีบ
นิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคพบบ่อยมากโรคหนึ่งโดยเฉพาะใน คนตะวันตก โดยในสหรัฐอเมริกาพบโรคนี้ได้ประมาณ 10 - 20% ของประชากรผู้ใหญ่ นิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคของผู้ใหญ่ มักพบในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงสูงกว่าผู้ชายประมาณ 2 - 3 เท่า
นิ่วในถุงน้ำดีอาจมีเพียงก้อนนิ่วเดียวหรือหลายๆก้อน ก้อนนิ่วอาจใหญ่มากขนาดเท่าลูกปิงปองหรือเป็นเหมือนเม็ดทรายละเอียด ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ อายุ และพันธุกรรม
นิ่วในถุงน้ำดีอาจแบ่งเป็น 2 ชนิดหลักคือ ชนิดเกิดจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol stone) และชนิดเกิดจากสารให้สี (Pigment stone)
- ชนิดคอเลสเตอรอล (Cholesterol gallstone) เป็นชนิดพบได้บ่อยโดยประมาณ 80% ของนิ่วชนิดนี้จะมีส่วนประกอบเป็นคอเลสเตอรอล นิ่วจะมีลักษณะแข็ง สีออกเหลืองหรือเขียว อนึ่ง นิ่วชนิดนี้ ตรวจไม่พบจากเอกซเรย์ แต่จะตรวจพบจากการตรวจอัลตราซาวด์
- ชนิดเกิดจากสารให้สี (Pigment gallstone) ซึ่งส่วนประกอบส่วนใหญ่ของนิ่วจะเป็นสารให้สีในน้ำดีที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) มีคอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบน้อยกว่า 20% และส่วนประกอบอื่นคือ แคลเซียม(พบนิ่วที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมได้ประมาณ 20%ของนิ่วทั้งหมด และเป็นชนิดที่จะตรวจพบจากเอกซเรย์) ซึ่งนิ่วชนิดเกิดจากสารให้สีนี้ มักเป็นก้อนเล็กๆ แข็งน้อยกว่าชนิดแรก และให้สีดำคล้ำ
อนึ่ง บางตำราแบ่งนิ่วในถุงน้ำดีเป็น 3 ชนิดโดยชนิดที่ 3 เรียกว่า Mixed gallstone โดยเป็นนิ่วที่มีส่วนผสมของสารหลายชนิดร่วมกันเช่น คอเลสเตอรอล สารบิลิรูบิน และเกลือแคล เซียมชนิดต่างๆ และเนื่องจากมีเกลือแคลเซียมด้วย จึงตรวจเห็นได้จากเอกซเรย์
นิ่วในถุงน้ำดีมีสาเหตุจากอะไร?
นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากมีการตกตะกอนของคอเลสเตอรอลหรือสารให้สีในน้ำดี เมื่อเกิดต่อ เนื่องเรื้อรัง ตะกอนเหล่านั้นจึงจับตัวกันเป็นก้อน เกิดเป็นก้อนนิ่วขึ้น ซึ่งสาเหตุที่สารก่อนิ่วเหล่า นั้นตกตะกอนเกิดได้จาก
- มีปริมาณสารเหล่านั้นในน้ำดีสูง (อาจจากการกินอาหารบางชนิด หรือจากความผิดปกติในการละลายของสารเหล่านั้นในน้ำดีซึ่งเป็นผลจากพันธุกรรม) เมื่อสารเหล่า นี้เข้มข้นมากขึ้นจึงตกตะกอนได้ง่าย หรือ
- เกิดจากถุงน้ำดีไม่หดตัวหรือหดตัวได้น้อย น้ำดีจึงกักคั่งในถุงน้ำดี สารต่างๆดังกล่าวจึงตกตะกอนได้ง่ายเช่น จากโรคถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง หรือจากภาวะอดอาหารในคนลดความอ้วน
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีมีอะไรบ้าง?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีคือ
- เพศหญิง พบโรคนิ่วในถุงน้ำดีในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย 2 - 3 เท่า มักพบในผู้หญิงที่ใช้ยาฮอร์โมนในการคุมกำเนิด หรือกินฮอร์โมนเพศหญิงจากภาวะหมดประจำเดือน ทั้งนี้เพราะฮอร์โมนเพศหญิงจะช่วยเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดี จึงเพิ่มความเข็มข้นของคอเลสเตอรอลจึงตกตะกอนได้ง่าย
- อายุ เพราะพบโรคได้สูงในผู้สูงอายุโดยเฉพาะเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป อาจเพราะคนในช่วงอายุนี้มีโรคไขมันในเลือดสูง สูงกว่าอายุช่วงอื่นๆ
- เชื้อชาติ จากพบโรคได้สูงในบางเชื้อชาติเช่น คนในอเมริกา เพราะพบว่ามีพันธุกรรมที่ทำให้มีคอเลสเตรอลในน้ำดีสูง
- พันธุกรรม เพราะพบโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้สูงเมื่อมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
- อาหาร พบว่าการกินอาหารไขมันสูงและมีใยอาหารต่ำเพิ่มโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดี
- อ้วน โดยเฉพาะในผู้หญิงเพราะเพิ่มคอเลสเตอรอลในน้ำดี
- การเร่งลดน้ำหนัก เพราะถุงน้ำดีลดการบีบตัวลง น้ำดีจึงกักคั่งในถุงน้ำดีนานขึ้น จึงตกตะ กอนได้ง่ายขึ้น
- การกินยาลดไขมัน เพราะส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดี
- ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะมักมีไขมันทั้งคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซไรด์ (Triglyce ride, ไขมันอีกชนิดที่เพิ่มโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดี) สูง
- โรคเลือดบางชนิด จากเม็ดเลือดแดงถูกทำลายมากกว่าปกติ จึงมีสารให้สีบิลิรูบินในน้ำดีสูงขึ้น
- การอักเสบเรื้อรังของถุงน้ำดี เพราะส่งผลให้การบีบตัวของถุงน้ำดีลดลง
- โรคเรื้อรังต่างๆที่ส่งผลผู้ป่วยกินไม่ได้ ต้องให้อาหารทางหลอดเลือดดำต่อเนื่อง เพราะถุงน้ำดีจะไม่หดตัวจากไม่มีการย่อยอาหาร จึงเกิดการตกตะกอนของสารต่างๆในน้ำดีได้ง่าย จึงเกิดนิ่วได้ง่าย
นิ่วในถุงน้ำดีมีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยของนิ่วในถุงน้ำดีคือ ‘ไม่มีอาการ’ แต่เมื่อมีอาการ อาการที่พบได้บ่อยคือ
- ปวดท้องด้านขวาตอนบน (ตำแหน่งที่อยู่ของถุงน้ำดี) มักเป็นอาการปวดแบบเฉียบพลัน/เกิดทันที ปวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปวดนานแต่ละครั้งอย่างน้อย 30 นาทีถึงหลายๆชั่วโมง และมักปวดร้าวไปยังไหล่ขวา
- อาจมี คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วยเมื่อมีอาการปวดท้อง
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ บ่อย
- เมื่อมีการอักเสบติดเชื้อของถุงน้ำดีร่วมด้วย จะมีไข้ ซึ่งอาจเป็นไข้สูงหรือไข้ต่ำ และอาจมีตัว ตาเหลือง (โรคดีซ่าน) จากสารบิลิรูบินคั่งในถุงน้ำดีต่อเนื่องถึงในตับและในเลือดเพราะถุงน้ำดีไม่บีบตัว ปัสสาวะจึงมีสีเหลืองเข็ม และลำไส้ขาดน้ำดี อุจจาระจึงสีซีดลง
แพทย์วินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดีได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การเอกซเรย์ หรือ อัลตราซาวด์ภาพถุงน้ำดี และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์เช่น ตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ดูการติดเชื้อ และตรวจเลือดดูการทำงานของตับ หรือส่องกล้องตรวจระบบทางเดินน้ำดี เป็นต้น
รักษานิ่วในถุงน้ำดีอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีคือ การผ่าตัดถุงน้ำดี อาจโดยการผ่าตัดทางหน้าท้อง หรือการผ่าตัดผ่านทางกล้อง หรือบางครั้งอาจให้ยาละลายนิ่วแต่มักไม่ค่อยได้ผล
นอกจากนั้น คือการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น
- ยาลดไข้
- ยาแก้ปวด และ
- ยาปฏิชีวนะเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียของถุงน้ำดี/ท่อน้ำดีร่วมด้วย
มีผลข้างเคียงจากนิ่วในถุงน้ำดีไหม?
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากโรคนิ่วในถุงน้ำดีคือ
- ถุงน้ำดีอักเสบจากติดเชื้อ หรือ
- ก้อนนิ่วหลุดเข้าท่อน้ำดี ก่อให้เกิดการอุดตันและ/หรือการอักเสบของท่อน้ำดี หรือ
- ก้อนนิ่วหลุดเข้าท่อตับอ่อน (อยู่ติดกับท่อน้ำดี) ก่อให้เกิดตับอ่อนอักเสบ
ซึ่งทั้ง ท่อน้ำดีอักเสบและตับอ่อนอักเสบ เป็นโรครุนแรง อาจเป็นสาเหตุให้ติดเชื้อในกระแสโลหิต (เลือด) หรือภาวะพิษเหตุติดเชื้อ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต (ตาย) ได้
นิ่วในถุงน้ำดีรุนแรงไหม?
โดยทั่วไปนิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคไม่รุนแรง รักษาได้เสมอ แต่โรคจะรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดผลข้างเคียงจากนิ่วหลุดเข้าท่อน้ำดีหรือเข้าท่อตับอ่อนดังกล่าวแล้ว
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีนิ่วในถุงน้ำดี? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีนิ่วในถุงน้ำดีและการพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ได้แก่ เมื่อมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลใน 24 ชั่วโมง หรือพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ หลังจากพบแพทย์แล้ว การดูแลตนเองขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์
อนึ่ง เมื่อตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดีโดยบังเอิญขณะยังไม่มีอาการเช่น จากตรวจภาพตับด้วย อัลตราซาวด์ในการตรวจสุขภาพทั่วไป แพทย์จะพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไปเพื่อดูปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงต่างๆ(ดังกล่าวในหัวข้อ’ผลข้างเคียงฯ’) แต่โดยทั่วไปมักแนะนำผ่าตัดเพราะการผ่าตัดขณะยังไม่มีอาการ ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดจะน้อยกว่าเมื่อผ่าตัดช่วงมีอาการเช่น โอกาสติดเชื้อในทางเดินน้ำดี เป็นต้น
ป้องกันนิ่วในถุงน้ำดีได้อย่างไร?
ป้องกันนิ่วในถุงน้ำดีได้โดย หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่หลีกเลี่ยงได้ดังกล่าวแล้วในหัว ข้อ ‘ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี’
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจให้พบนิ่วในถุงน้ำดีตั้งแต่ยังไม่มีอาการ หรือตั้งแต่เริ่มเป็นโรค และการตรวจภาพถุงน้ำดีบ่อยๆด้วยเอกซเรย์และ/หรืออัลตราซาวด์ไม่ช่วยให้วินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น และยังไม่มีรายงานชัดเจนว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรค
บรรณานุกรม
- Bellows, C., Berger, D., and Crass, R. (2005). Management of gallstones. Am Fam Physician. 72, 637-642.
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- http://en.wikipedia.org/wiki/Gallstone [2018,Oct6]
- https://emedicine.medscape.com/article/175667-overview#showall [2018,Oct6]