โพลิพ โพลิบ โพลิป หรือ ติ่งเนื้อเมือก (Polyp)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 5 กันยายน 2558
- Tweet
- เนื้องอก (Tumor)
- มะเร็ง (Cancer)
- โรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ หรือ โพลิพลำไส้ใหญ่ (Colorectal polyp)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer)
โพลิพ หรือโพลิบ หรือโพลิป หรือติ่งเนื้อเมือก (Polyp) เป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับเยื่อเมือก (เยื่อบุภายในอวัยวะต่างๆ) ซึ่งเกิดได้กับทุกเยื่อเมือกเช่น โพรงจมูก ไซนัส กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ ปากมดลูก และเยื่อบุมดลูก (เยื่อบุโพรงมดลูก) มักมีลักษณะค่อน ข้างกลมออกสีชมพู โดยทั่วไปมักมีก้านแต่บางชนิดไม่มีก้านได้ โพลิพมีได้หลายขนาดตั้งแต่เป็นมิลลิเมตรไปจนถึงหลายเซนติเมตร อาจพบเพียงติ่งเดียวหรือหลายๆติ่งถึงหลายๆสิบติ่งพร้อมๆกัน และโพลิพยังแบ่งย่อยออกได้เป็นอีกหลายชนิดตามลักษณะภายนอกและตามชนิดของเนื้อเยื่อภายในโพลิพ
สาเหตุเกิดของโพลิพมีหลากหลายเช่น
- ไม่ทราบสาเหตุ
- เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อเมือก หรือ
- จากพันธุกรรม
ที่สำคัญคือ โพลิพกลายเป็นโรคมะเร็งได้ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดและชนิดของโพลิพ
อาการของโพลิพขึ้นกับตำแหน่งและขนาด ซึ่งโดยทั่วไปในระยะแรกเมื่อมีขนาดเล็กมักไม่ก่ออาการ แต่เมื่อขนาดใหญ่ขึ้นจะก่ออาการโดยอาจมีการอักเสบติดเชื้อ มีเลือดออก หรือ ก่อให้อวัยวะนั้นๆเกิดอุดตันจากก้อนเนื้อที่มีขนาดโต
แพทย์วินิจฉัยโพลิพได้จากอาการและการตรวจภายในแต่ละอวัยวะเช่น การส่องกล้อง และการตัดโพลิพเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
การรักษาคือการผ่าตัดโพลิพ อย่างไรก็ตามเมื่อตัดออกแล้ว โพลิพมีโอกาสย้อนกลับเป็นใหม่ได้อีกทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งและสาเหตุของโพลิพ
Updated 2015, Aug 15