งูสวัด (Herpes zoster)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 9 มีนาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคงูสวัดคือโรคอะไร? เกิดได้อย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดงูสวัด?
- โรคงูสวัดมีอาการอย่างไร?
- โรคงูสวัดติดต่อได้ไหม?
- แพทย์วินิจฉัยโรคงูสวัดได้อย่างไร?
- รักษาโรคงูสวัดได้อย่างไร?
- โรคงูสวัดรุนแรงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคงูสวัดอย่างไร? มีวัคซีนไหม?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เริม (Herpes simplex)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- เริมอวัยวะเพศหญิง
- สมองอักเสบ (Encephalitis)
- อีสุกอีใส (Chickenpox)
- วัคซีนงูสวัด (Zoster Vaccine)
- วัคซีนอีสุกอีใส หรือ วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส(Varicella Vaccine)
โรคงูสวัดคือโรคอะไร? เกิดได้อย่างไร?
โรคงูสวัด(Herpes zoster หรือ Shingles หรือบางคนเรียกสั้นๆว่า Zoster) คือ โรคผื่น/ตุ่มน้ำใส ที่มักเกิดรวมเป็นกระจุกตามแนวยาวของเส้นประสาท เจ็บมาก ที่เกิดตามผิวหนังตำแหน่งใดก็ได้ทั่วตัว แต่มักเกิดที่ลำตัว บริเวณเอว และที่สะโพก/แก้มก้น โดยเกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไวรัสที่เป็นสาเหตุโรคอีสุกอีใส ได้แก่ ‘วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella zoster virus หรือ เรียกย่อว่า VZV/วีซีวี ไวรัส)’
ทั้งนี้ เมื่อโรคอีสุกอีใสหายแล้ว จะยังคงมีเชื้อไวรัสนี้หลงเหลือซุกซ่อนอยู่ในปมประสาทต่างๆ โดยเฉพาะของลำตัว รอเวลาที่ร่างกายอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลง เช่น ผู้สูงอายุ พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ มีโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง หรือ กินยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ในการปลูกถ่ายอวัยวะ เชื้อไวรัสที่หลบอยู่นี้จึงเจริญเติบโตและก่อให้เกิดโรคงูสวัดได้
โรคงูสวัด เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่ง พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ มักพบในคนที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส (Chickenpox)มาก่อน และหลังจากโรคอีสุกอีใสหายแล้วนานเป็น เดือน ปี หลายปี หรือเป็น 10 ปี จึงเกิดโรคงูสวัดตามมาเมื่อมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอลง เช่น เมื่อสูงอายุ มีความเครียด หรือเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง
สถิติโรคงูสวัดใกล้เคียงกันทั่วโลก มีรายงานพบในคนปกติทั่วไป 1.2-3.4 รายใน1,000 แสนคนในแต่ละปี และพบในผู้อายุมากกว่า 65ปี 3.9-11.8 รายใน1,000คนต่อปี
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดงูสวัด?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดงูสวัด ได้แก่
- ผู้สูงอายุ จากมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ และมักมีโรคประจำตัว
- ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคออโตอิมมูน
- ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคออโตอิมมูน โรคปอด(เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง) โรคมะเร็ง
- ใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่อง เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหืด
- ผู้ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ปลูกถ่ายอวัยวะ
- ได้รับยาเคมีบำบัด เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง
- แต่ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่แน่ชัดว่า โรคนี้เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ทั้งกับชนิดถ่ายทอดได้ หรือกับ ชนิดไม่ถ่ายทอด
โรคงูสวัดมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคงูสวัด ได้แก่
- มีอาการคล้ายไข้หวัด/ โรคหวัด นำก่อน ประมาณ 2-3 วัน เช่น
- มีไข้(มีได้ทั้งไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ) หรือ ไม่มีไข้
- อาจปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดท้อง อ่อนเพลีย ตากลัวแสง และ
- มักเจ็บในบริเวณติดเชื้อมาก(ยังไม่มีผื่นขึ้น) หลังจากนั้น 2-3วัน จึงขึ้นผื่น
- ผื่นจะมีลักษณะ เป็นผื่นแดง คัน เป็นทางยาว และไม่กว้างมากนัก มักเป็นทางยาวตามแนวเส้นประสาทของร่างกาย โดยมักเริ่มในแนวใกล้ๆกลางลำตัวตามแนวปมประสาท เช่น ตามประสาทของ ลำตัว แขน ขา ตา และหู และมักเกิดเพียงด้านเดียว โดยทั่วไปมักพบที่ลำตัวบ่อยที่สุด
- ผู้ป่วยจะมีอาการ คันในบริเวณขึ้นผื่น เจ็บปวดมาก อาจร่วมกับปวดแสบปวดร้อน บางคนร่วมกับอาการชาในบริเวณนั้นๆ
- อาการปวดมักนำมาก่อนเกิดผื่นแดง และเมื่อเกิดผื่นแล้ว อาการปวดก็ยังคงอยู่ และบ่อยครั้ง เมื่อโรค และผื่นหายแล้ว ก็ยังปวดได้ต่อเนื่อง อาจเป็นปีๆ แต่อาจปวดมาก หรือ น้อยไม่เท่ากันในทุกราย ซึ่งอาการปวดในบางราย(ทั้งระหว่างเกิดโรค หรือ ภายหลังโรคหายแล้ว) อาจปวดมากจนต้องรักษาอาการปวดด้วย ยาแก้ปวดในกลุ่มยาเสพติด หรือ ใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือ ฉีดยาชาเข้าเส้นประสาท
ทั้งนี้มีการศึกษา พบอาการปวดเส้นประสาทตามตำแหน่งรอยโรคหลังโรคนี้หาย
- หลังเกิดผื่นได้ประมาณ 1-2 วัน ผื่นจะกลายเป็นตุ่มพอง/ตุ่มน้ำใส ตุ่มพองมักเกิดใหม่ตลอดระยะเวลา 2-3 วัน โดยมีน้ำใสๆในตุ่ม แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นตุ่มสีเหลือง อาจเป็นน้ำเลือด ในที่สุด จะตกสะเก็ดเป็นสีดำ และสะเก็ดค่อยๆหลุดจางหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ อาจหายโดยไม่มีแผลเป็น หรือ เป็นแผลเป็นเมื่อตุ่มพองเกิดติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
- อย่างไรก็ตาม มีบางคนแต่พบได้น้อยมาก มีอาการทุกอย่างดังกล่าว ยกเว้นไม่มีผื่นขึ้น(โรคงูสวัดชนิดไม่มีผื่น/Zoster without herpes) ซึ่งเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากมาก
โรคงูสวัดติดต่อได้ไหม?
โรคงูสวัด เป็นโรคติดต่อได้จากการสัมผัส ผื่น หรือ ตุ่มพองของโรค โดยผู้สัมผัส ไม่เกิดเป็นงูสวัด แต่จะเกิดเป็นโรคอีสุกอีใส เมื่อไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน หรือ ไม่เคยฉีด วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส หรือ บางครั้งแม้เคยฉีดวัคซีนนี้มาแล้วก็ตาม(พบได้น้อย)
แพทย์วินิจฉัยโรคงูสวัดได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคงูสวัดได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการเป็นโรคอีสุกอีใส ประวัติการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส ประวัติโรคประจำตัวต่างๆ
- การตรวจร่างกาย และการตรวจลักษณะของผื่น
- แต่ในคนไม่มีผื่น เมื่อแพทย์สงสัย จะใช้การเจาะเลือดตรวจสารภูมิต้านทาน/ แอนติบอดี(Antibody)ของโรคนี้
รักษาโรคงูสวัดได้อย่างไร?
การรักษาโรคงูสวัด คือ
- การใช้ยาต้านไวรัส (เช่นยา Aciclovir) ซึ่งจะได้ผลดี ลดความรุนแรงของอาการ และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้นเมื่อได้รับยาภายใน 3 วันหลังเกิดผื่น ที่มีทั้ง ยาทา ยากิน และ ยาฉีด ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค
- นอกจากนั้น คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ โดยเฉพาะ
- ยาแก้ปวด และ
- ยาบรรเทาอาการคัน/ยาแก้คัน
โรคงูสวัดรุนแรงไหม?
โดยทั่วไป โรคงูสวัด เป็นโรคไม่รุนแรง/มีการพยากรณ์โรคที่ดี มักรักษาหายภายใน 2-3 สัปดาห์ และไม่ค่อยเกิดเป็นซ้ำ(แต่เมื่อเกิดเป็นซ้ำ มักไม่ค่อยเกิน 3 ครั้ง)
- แต่เมื่อเกิดกับเส้นประสาทของกล้ามเนื้อ อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงอยู่ระยะเวลาหนึ่ง(ไม่มีใครรู้ว่านานเท่าไร)
- เมื่อเกิดที่ตา อาจรุนแรงส่งผลให้กระจกตาอักเสบ และ ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอาจส่งผลถึงการมองเห็นได้
- เมื่อเกิดกับประสาทหู อาจหูหนวกได้
- กรณีโรครุนแรงที่มักพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เชื้ออาจแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต
- เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) หรือ
- ก่อให้เกิดโรคสมองอักเสบ หรือ
- ปอดอักเสบ หรือ
- ตับอักเสบ
- นอกจากนั้น ภายหลังรักษาหายแล้ว ผู้ป่วยประมาณ20% ยังอาจมีอาการปวดเรื้อรังได้เป็นปีๆในตำแหน่งเกิดโรค ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ’อาการฯ’
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง การพบแพทย์/การมาโรงพยาบาล เมื่อเป็นงูสวัด หรือสงสัยเป็นงูสวัด ได้แก่
- สวมใส่เสื่อผ้าที่หลวมสบาย
- ทาน้ำยาคาลามาย(Calamine lotion) บรรเทาอาการคัน อาจร่วมกับกินยาบรรเทาอาการคัน/ยาแก้คัน และยาแก้ปวด(เมื่อซื้อยาเอง ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา)
- ประคบบริเวณที่ปวดด้วยความเย็น/การประคบเย็น (ระวังความสะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนของผื่น และตุ่มน้ำ)
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เมื่อ
- มีอาการปวดมาก หรือ มีผื่นขึ้นมาก
- ตุ่มพองเป็นหนอง เพราะต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งควรให้การรักษาโดยแพทย์
- มีไข้สูง ไข้ไม่ลงหลังกินยาลดไข้ 1-2 วัน
- เมื่อมีความกังวลในอาการ
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลฉุกเฉินเมื่อ
- มีอาการของสมองอักเสบ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง สับสน แขน/ขาอ่อนแรง ร่วมกับมีไข้
- มีอาการผิดปกติกับตา เช่น ปวด เคือง ตาแดง มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
- การได้ยินลดลง
ป้องกันโรคงูสวัดอย่างไร? มีวัคซีนไหม?
การป้องกันโรคงูสวัด คือ หลีกเลี่ยงสัมผัสผื่นและตุ่มโรคของผู้ป่วยโรคนี้ รวมถึงโรคอีสุกอีใส โดยเฉพาะเมื่อไม่เคยฉีด วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส หรือ ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส มาก่อน
บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (วัคซีนคนละชนิดกับ วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส แต่เป็นวัคซีนที่ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย)ในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ซึ่งในประเทศเรา เมื่อสนใจวัคซีนตัวนี้ ควรปรึกษาแพทย์(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘วัคซีนงูสวัด’)
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Shingles [2019,Feb16]
- https://emedicine.medscape.com/article/1132465-overview#showall [2019,Feb16]
- https://www.msdmanuals.com/professional/infectious-diseases/herpesviruses/herpes-zoster [2019,Feb16]