ความรู้และทัศนคติของประชาชนต่อผู้ป่วยโรคลมชัก (Knowledge and attitude toward epilepsy)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 19 กรกฎาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ความรู้และทัศนคติของคนทั่วไปต่อโรคลมชักเป็นอย่างไร?
- ความรู้และทัศนคติของครูต่อโรคลมชักเป็นอย่างไร?
- ความรู้และทัศนคติต่อผู้ป่วยโรคลมชักในแต่ละประเทศเป็นอย่างไร?
- แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อโรคลมชักอย่างไร?
- การศึกษาเรื่องความรู้ทัศนะคติต่อโรคลมชักในประเทศไทยเป็นอย่างไร?
- 10 ประเด็นคำถามที่พบบ่อยในโรคลมชัก
- สรุป
- บรรณานุกรม
- ลมชัก (Epilepsy)
- ลมชักในผู้หญิง (Epilepsy in women)
- โรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวี (Epilepsy in HIV Patient)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
บทนำ
เป็นที่ทราบกันดีกว่าโรคลมชัก (Epilepsy) เป็นโรคหนึ่งทางระบบประสาทที่พบบ่อยและสร้างความตกใจวิตกกังวลหรือหวาดกลัวต่อผู้ปกครอง ผู้พบเห็น ผู้ร่วมงาน หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียน ผู้ป่วย มักมีตราบาปติดตัวไปตลอด อาจถูกรังเกียจจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน ครู เพื่อนร่วมงาน รวมถึงนายจ้าง เนื่องจากความเข้าใจผิด ทั้งที่จริงแล้วผู้ป่วยโรคลมชักควรมีการดำเนินชีวิตใกล้เคียงหรือเหมือนกับ คนทั่วไปไม่ควรถูกกีดกันจากสังคม
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากประชาชนทั่วไปยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผู้ป่วยและ โรคลมชัก อาจทั้งได้รับการถ่ายทอดความรู้และทัศนคติที่ไม่ถูกต้องจากผู้ใหญ่อาทิเช่น สาเหตุของ โรคลมชักเกิดจากสิ่งเร้นลับ ถูกผีเข้า การช่วยเหลือผู้ป่วยโดยการนำวัสดุต่างๆเช่น ช้อน ไม้ หรือนิ้ว มือใส่ปากผู้ป่วยขณะชักเพื่อป้องกันการกัดลิ้น การกดปั๊มหน้าอกผู้ป่วย การผูกแขนขาหรือนั่งทับไว้ ขณะชัก การบีบมะนาวหรือนำเม็ดพริกใส่ปากผู้ป่วยขณะชัก ซึ่งการกระทำต่างๆเหล่านั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้องทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่แพทย์ต้องเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคลมชักที่ถูกต้องต่อประชาชน เพื่อประชาชนจะได้มีความรู้และทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วยโรคลมชัก อันจะนำมาซึ่งคุณภาพ ชีวิตที่ดีของผู้ป่วยต่อไป
ความรู้และทัศนคติของคนทั่วไปต่อโรคลมชักเป็นอย่างไร?
การศึกษาแรกๆที่ศึกษาเกี่ยวกับความรู้และทัศนคติของคนอเมริกาต่อโรคลมชัก เริ่มในปี พ.ศ. 2492 โดย Lennox และคณะ1 ต่อจากนั้นได้ทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องทุกๆ 5 ปี ก็ยังพบว่า
- ประชาชน 57 - 89% เท่านั้นที่อนุญาตให้ลูกเล่นกับเด็กที่เป็นโรคลมชัก
- 5 - 10% ไม่เคยทราบเกี่ยวกับโรคลมชัก
- และเมื่อถามถึงสาเหตุของโรคลมชักพบว่า 39 - 57% ตอบว่าไม่ทราบ 22 - 36% เท่านั้นที่ตอบว่าเป็นความผิดปกติทางระบบประสาท
ในปีพ.ศ. 2545 ได้มีการศึกษาความรู้และทัศนคติของนักศึกษาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 ในประ เทศแคนนาดา รายละเอียดดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ความรู้โรคลมชักของนักศึกษาในประเทศแคนนาดา
ความรู้และทัศนคติของครูต่อโรคลมชักเป็นอย่างไร?
ความรู้และทัศนคติของครูต่อโรคลมชักเป็นอย่างไร?
การศึกษาในประเทศซิมบับเวปีพ.ศ. 2540 ศึกษาในครู 165 คน พบว่ามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ป่วยโรคลมชัก เช่น
- 20% จะไม่ทำงานร่วมกับผู้ป่วย
- 44% จะไม่จ้างงานผู้ป่วย
- รวมทั้ง 16.8% ไม่อยากสอนนักเรียนที่เป็นโรคลมชัก รายละเอียดดังตารางที่ 2
ตารางที่ 2 ความรู้และทัศนคติของครูต่อโรคลมชักในประเทศซิมบับเว
ดังนั้นจะเห็นว่าครูซึ่งเป็นผู้มีระดับการศึกษาสูงในสังคมของประเทศกำลังพัฒนายังมีความรู้ความเข้าใจโรคลมชักไม่ดีพอ และยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องต่อผู้ป่วยโรคลมชักค่อนข้างสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก
ความรู้และทัศนคติต่อผู้ป่วยโรคลมชักในแต่ละประเทศเป็นอย่างไร?
ตั้งแต่มีการศึกษาในปีพ.ศ. 2492 ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้นมา ก็มีการศึกษาลักษณะเดียวกันในหลายประเทศได้แก่ ฟินแลนด์ อิตาลี จีน เดนมาร์ก แทนซาเนีย และไต้หวัน รายละเอียด ดังตารางที่ 3
ตารางที่ 3 ความรู้และทัศนคติต่อโรคลมชักในประเทศต่างๆ
ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าทัศนคติของกลุ่มประชาชนที่ศึกษาต่อผู้ป่วยโรคลมชักมีความไม่เหมาะสมในหลายประเด็นเช่น การไม่อยากทำงานร่วมกันหรือการไม่อนุญาตให้ลูกเล่นร่วมกับเด็กที่เป็นโรคลมชัก เพราะคนทั่วไปยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาเหตุของโรคลมชักว่าสามารถติดต่อกันได้โดยการสัมผัสหรือพูดคุย เป็นต้น
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อโรคลมชักอย่างไร?
มี 2 การศึกษาในเรื่องนี้ใน 2 ประเทศคือการศึกษาในประเทศฮังการีและในสหรัฐอเมริกา ซึ่งในที่นี้ขอสรุปรายละเอียดผลการศึกษาในประเทศฮังการี ดังตารางที่ 4
ตารางที่ 4 ทัศนคติต่อโรคลมชักในปี พ.ศ. 2537 และ 2543 (ผลการศึกษาในประเทศฮังการี)
จะเห็นได้ว่าทัศนคติต่อโรคลมชักมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ทั้งๆที่ได้มีการเผยแพร่ความรู้อย่างต่อเนื่อง สำหรับความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของโรคลมชักที่ได้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องในประเทศสหรัฐอเมริกา รายละเอียดดังตารางที่ 5
ตารางที่ 5 ความรู้ต่อสาเหตุโรคลมชักในช่วงเวลาต่างๆ (ผลการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา)
การศึกษาเรื่องความรู้และทัศนะคติต่อโรคลมชักในประเทศไทยเป็นอย่างไร?
ในประเทศไทยได้มีการศึกษาเกี่ยวกับความรู้และทัศนคติของครู 284 คนต่อโรคลมชักใน พ.ศ. 2542 พบเพียง 38% ที่เคยได้ยินหรืออ่านหนังสือโรคลมชักโดย
- 38.7% ทราบจากสื่อต่างๆเช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ นิตยสาร
- 1.8% ทราบจากครอบครัว
- 5.8% ทราบจากแพทย์
- 34% เคยมีนักเรียนในห้องเป็นโรคลมชัก
- 46.6% เชื่อว่าโรคลมชักรักษาไม่หาย
- และ 38% คิดว่าเด็กที่เป็นโรคลมชักจะมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเด็กทั่วไป
- 59% ไม่ยินยอมให้บุตรของตนแต่งงานกับผู้ป่วยโรคลมชัก
- แต่ที่น่าตกใจคือ 86.4% ให้การช่วยเหลือเด็กขณะชักไม่ถูกต้อง เช่น ยึดผู้ป่วย นำช้อนใส่ปากผู้ป่วยเพื่อป้องกันการกัดลิ้น เป็นต้น
การศึกษาในจังหวัดขอนแก่น:
ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาใน 4 กลุ่มประชากรได้แก่ ญาติผู้ป่วยโรคระบบประสาท ครูระดับ ประถมศึกษา นักศึกษาแพทย์ และพยาบาล รายละเอียดดังตารางที่ 6
ตารางที่ 6 ความรู้ต่อโรคลมชัก
ดังนั้น เห็นได้ว่าทุกกลุ่มประชากรที่ศึกษายังมีความรู้ต่อโรคลมชักค่อนข้างต่ำ จึงมีความจำเป็น ต้องให้การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคลมชักอย่างต่อเนื่องต่อไป
10 ประเด็นคำถามที่พบบ่อยในโรคลมชัก
จากบทความนี้ผู้เขียนขอสรุปเป็น 10 ประเด็นที่พบบ่อยในโรคลมชักดังนี้
1. คำถาม : โรคลมชักเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
คำตอบ : โรคลมชักเป็นโรคที่มีสาเหตุทางพันธุกรรมน้อยมาก (1 - 2% เท่านั้น) โดยส่วนใหญ่แล้วสาเหตุการเกิดโรคลมชักในประเทศไทยมีสาเหตุหลักจากอุบัติเหตุที่ศีรษะ การติดเชื้อในสมองเช่น จากพยาธิตัวตืด โรคหลอดเลือดสมอง การผ่าตัดสมอง และแพทย์หาสา เหตุไม่พบ
2. คำถาม : โรคลมชักเป็นโรคที่ติดต่อทางอาหาร น้ำลายและการสัมผัสได้หรือไม่
คำตอบ : เป็นไปไม่ได้เลย โรคลมชักไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อที่สามารถติดต่อได้โดยการทานอาหาร น้ำลายหรือการสัมผัสใดๆ ถึงแม้ว่าส่วนหนึ่งจะเกิดจากการติดเชื้อ แต่เชื้อดัง กล่าวส่งผลต่อเนื้อสมองโดยตรง ทำให้มีกระแสไฟฟ้าในสมองผิดปกติและก่อให้เกิดอาการชัก เชื้อดังกล่าวไม่สามารถติดต่อได้ทางการสัมผัสหรือการทานอาหาร
3. คำถาม : การช่วยเหลือผู้ป่วยกำลังมีอาการชัก ต้องป้องกันการกัดลิ้นโดยการนำของแข็งงัดปากผู้ป่วยหรือนำนิ้วมือไปงัดปากผู้ป่วย
คำตอบ: การช่วยเหลือด้วยวิธีดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ถูกอย่างยิ่ง เพราะโดยปกติแล้วโอกาสที่ผู้ป่วยจะกัดลิ้นนั้นพบได้น้อยกว่า 4% และถ้าเกิดการกัดลิ้นจริงๆก็ไม่มีอันตรายใดๆ การช่วยเหลือด้วยวิธีดังกล่าวส่งผลเสียมากกว่า เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้เช่น ฟันหัก ฟันหลุดลงในคอและอุดหลอดลม หรือผู้ช่วยเหลือถูกกัดนิ้วมือได้บ่อย
4. คำถาม : การช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังชักที่ถูกต้องควรทำอย่างไร?
คำตอบ : การช่วยเหลือที่ถูกต้องนั้นคือ การที่ผู้พบเห็นต้องไม่ตกใจและตั้งสติให้ดี เพียงแค่ระวังไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายจากการชัก ไม่สำลักน้ำลายหรืออาหาร โดยการจับศีรษะและลำ ตัวตะแคงไปด้านข้าง ไม่ให้มีสิ่งของที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยอยู่ใกล้ตัวเช่น กาน้ำร้อน หรืออุปกรณ์ต่างๆที่เป็นของแข็ง เพื่อไม่ให้แขนขาของผู้ป่วยมากระแทก ทีสำคัญถ้าเป็นอา การชักครั้งแรก ผู้เห็นเหตุการณ์ควรตั้งสติและสังเกตอาการชักให้ละเอียด ถ้าเป็นไปได้คือ บันทึกภาพเคลื่อนไหวของอาการชักที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาให้แพทย์ดูว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นใช่อาการชักหรือไม่ และถ้าใช่เป็นการชักชนิดไหน
5. คำถาม : เด็กที่เป็นโรคลมชักสามารถเรียนหนังสือได้หรือไม่?
คำตอบ: เด็กที่เป็นโรคลมชักสามารถเรียนหนังสือได้เหมือนกับเด็กทั่วไป โดยครูและเพื่อนต้องทราบวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมชักทั้งในด้านการเรียนและในด้านการเจ็บป่วยที่ถูก ต้องด้วย เพื่อให้การช่วยเหลือที่ถูกต้องและไม่ควรล้อเลียนเพื่อนด้วย มีเพียงส่วนน้อยของเด็กเท่านั้นที่มีปัญหาด้านสติปัญญาและต้องการการดูแลเป็นพิเศษ
6. คำถาม : ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่?
คำตอบ : ไม่มีเหตุผลใดๆที่ต้องห้ามผู้ป่วยโรคลมชักมีเพศสัมพันธ์ เพราะการมีเพศสัมพันธ์นั้นไม่มีอันตรายใดๆ และไม่มีการถ่ายทอดอาการชักไปสู่คู่ที่มีเพศสัมพันธ์ได้ และก็ไม่ได้เป็นการกระตุ้นให้มีอาการชัก
7. คำถาม : ผู้ป่วยโรคลมชักแต่งงานได้หรือไม่?
คำตอบ : การแต่งงานสามารถทำได้และก็มีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่การตั้งครรภ์นั้นต้องพิจารณาเกี่ยวกับอาการชัก การควบคุมอาการชักว่าทำได้ดีหรือยัง และต้องคำนึงถึงโอกาสการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ตั้งแต่กำเนิด ดังนั้นต้องมีการวางแผนครอบครัวที่ดีและต้องแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบถึงความต้องการว่าจะมีบุตรหรือไม่ ต้องการมีบุตรเมื่อไหร่?
8. คำถาม : ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถทำงานได้หรือไม่?
คำตอบ : ผู้ป่วยสามารถทำงานได้เกือบเหมือนคนอื่นๆ เพียงแต่ไม่ควรทำอาชีพต่อไปนี้คือ ขับรถ ขับเรือ ขับเครื่องบิน ทำงานกับเครื่องจักรกล และควรหลีกเลี่ยงการทำงานในที่สูง ดัง นั้นนายจ้างควรเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยโรคลมชักเข้าทำงาน
9. คำถาม : ผู้ป่วยโรคลมชักทานเนื้อหมูได้หรือไม่?
คำตอบ: เป็นความเข้าใจผิดที่พบบ่อยที่สุด เพราะจากชื่อโรคที่คนไทยเรียกโรคลมชักว่า โรคลมบ้าหมู จึงมีความเชื่อว่าโรคนี้มีเทพเจ้าที่ควรเคารพคือ หมู จึงห้ามทานเนื้อหมู ซึ่งจริงๆแล้วไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย อย่างไรก็ตามการทานเนื้อหมูสุกๆดิบๆก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะมีโอกาสเกิดการติดเชื้อพยาธิได้
10. คำถาม : ผู้ป่วยโรคลมชักควรทานยากันชักเฉพาะวันพระ วันโกน หรือวันพระ จันทร์เต็มดวงเท่านั้น
คำตอบ : ความเชื่อนี้เกิดจากการสังเกตว่าผู้ป่วยจะมีอาการชักบ่อยๆในช่วงวันดังกล่าวร่วม กับเข้าใจว่ายาที่ทานนั้นเป็นยากันชัก ดังนั้นจึงทานยาเฉพาะช่วงที่มีอาการชักบ่อยเท่านั้น ซึ่งการสังเกตนั้นมีความถูกต้อง เพราะจากการศึกษาแบบเป็นระบบพบว่าผู้ป่วยโรคลมชักมีอาการบ่อยขึ้นช่วงวันดังกล่าว แต่ญาติและผู้ป่วยไม่เข้าใจว่าการรักษาโรคลมชักนั้นต้องทานยาต่อเนื่องติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี เพื่อควบคุมอาการชักให้ดี แล้วจึงค่อยๆลดยาจนสามารถหยุดยาได้
สรุป
จากการศึกษาทั้งในประเทศไทยและในประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่ายังมีปัญหาทั้งทางด้านความรู้และทัศนคติต่อโรคลมชักของคนทั่วไป ที่ต้องการการปรับปรุงให้มีความรู้และทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคลมชักมีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงปกติให้ได้มากที่สุด
บรรณานุกรม
- Caveness WF, Gallup GH. A survey of public attitudes toward epilepsy in 1979 with an indication of trends over the past thirty years.Epilepsia 1980;21:509-18.
- Young GB, Derry P, Hutchinson I, et al. An epilepsy questionnaire study of knowledge and attitudes in Canadian college students. Epilepsia 2002;43:652-8.
- Mielke J, Adamolekun B, Ball D, Mundanda T. Knowledge and attitudes of teacheres towards epilepsy in Zimbabwe. ActaNeurolScand 1997;96:133-7.
- Iivanainen M, Uutela A, Vilkkumaa I. Public awareness and attitudes toward epilepsy in Finland. Epilepsia 1980;21:413-23.
- Canger R, Cornaggia C. Attitudes toward epilepsy in Italy: results of a survey and comparison with U.S.A. and west German data. Epilepsia 1985;26:221-6.
- Lai CW, Huang X, Lai YHC, Zhang Z, Liu G, Yang MZ. Survey of public awareness, understanding, and attitudes toward epilepsy in Henna province, China. Epilepsia 1990;31:182-7.
- Jensen R, Dam M. Public attitudes toward epilepsy in Denmark. Epilepsia 1992;33:459-63.
- Rwiza HT, Matuja WBP, Kilonzo GP, et al. Knowledge, attitude, and practice toward epilepsy among rural Tanzanian residents. Epilepsia 1993;34:1017-23.
- Chung MY, Chang Yc, Lai YHC, Lai CW. Survey of public awareness, understanding and attitudes toward epilepsy in Taiwan. Epilepsia 1995;36:488-93.
- Mirnics Z, Czikora G, Zavecz T, Halasz P. Changes in public attitudes toward epilepsy in Hungary: results of surveys conducted in 1994 and 2000. Epilepsia 2001;42:86-93.
- Kankirawatana P. Epilepsy awareness among school teachers in Thailand. Epilepsia 1999;40:497-501.
- Tiamkao S, Pongchaiyakal C. Knowledge of teachers, medical students and relative of patientson epilepsy in KhonKaen. ClinNeurosci 2004;11:S66.