ความดันโลหิต ความดันเลือด (Blood pressure)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ความดันโลหิต

ความดันโลหิต หรือ ความดันเลือด (Blood pressure) คือ ความดันในหลอดเลือดเมื่อหัว ใจบีบตัวสูบฉีดเลือดเข้าสู่หลอดเลือด ซึ่งเรียกว่า ความดันโลหิตซีสโตลิค (Systolic blood pres sure) และเมื่อหัวใจพักคลายตัว ซึ่งเรียกว่า ความดันโลหิตไดแอสโตลิค (Diastolic blood pres sure) ดังนั้น การรายงานผลความดันโลหิต จึงประกอบด้วยตัวเลข 2 ตัวเสมอ โดยจะบันทึกความดันซีสโตลิกเป็นตัวแรก หรือ ตัวบน ส่วนความดันไดแอสโตลิกจะบันทึกเป็นตัวตาม หรือ ตัวล่าง เช่น วัดความดันโลหิตได้ 120/80 หมายความว่า ความดันซีสโตลิค คือ 120 ส่วนความดันไดแอสโตลิค คือ 80

หน่วยวัดความดันโลหิต คือ มิลลิเมตรปรอท (มม. ปรอท) ทั้งนี้เพราะเครื่องวัดความดันโลหิตที่ใช้ในระยะแรกก่อนมีเครื่องชนิดอัตโนมัติ (Automatic blood pressure monitor) วัดจากความดันเลือดที่สามารถดันสารปรอทให้เคลื่อนที่ได้สูงกี่มิลลิเมตร

การวัดความดันโลหิต โดยทั่วไปวัดที่แขน วัดได้ทั้งแขนซ้ายหรือแขนขวา ซึ่งให้ค่าความดันโลหิตได้เท่ากัน ยกเว้น เมื่อมีโรคของหลอดเลือดแขนตีบ (พบได้น้อยมากๆ) ทั้งนี้การวัดความดันฯ วัดได้ทั้งในท่านอนหงายหรือท่านั่ง และควรพักอย่างน้อย 5 - 10 นาทีก่อนวัดความดันฯ เพราะการออกแรงจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

ในภาวะทั่วไปที่ไม่ใช่โรคความดันโลหิตสูง แต่สามารถส่งผลให้ความดันฯสูงขึ้นได้ ที่พบบ่อย คือ การออกกำลังกาย การเคลื่อนไหว อาการไข้ ยาบางชนิด เช่น ยาไทรอยด์ฮอร์โมน(เช่น Levothyroxine) อารมณ์/จิตใจ (เครียด โกรธ กังวล) กินอาหารเค็ม นอกจากนั้น คือ ช่วงกลางวันความดันฯจะสูงกว่าช่วงนอนพักและช่วงกลางคืน และผู้ใหญ่ความดันฯจะสูงกว่าเด็ก

ความดันโลหิตจัดเป็นหนึ่งในสัญญาณชีพที่สำคัญ (ความดันโลหิต อัตราการหายใจ ชีพจร และอุณหภูมิของร่างกาย) ซึ่งสามารถบอกถึงสุขภาพและโรคต่างๆได้ โดยเฉพาะเป็นความ สำคัญเบื้องต้นที่บอกถึง โรคความดันโลหิตสูง การทำงานของหัวใจ และโรคหัวใจ

นอกจากนั้น ทุกๆคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว อาจเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 18 หรือ 20 ปี ควรมีการตรวจสุขภาพ วัดความดันโลหิต อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง และเมื่อพบเริ่มมีแนวโน้มที่จะมีความดันโลหิตสูง แพทย์ พยาบาลจะได้แนะนำการดูแลตนเองหรือวินิจฉัยหาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง เพื่อการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและเพื่อรัก ษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่างๆเหล่านั้นแต่เนิ่นๆ เพื่อผลการรักษาควบคุมโรคได้ดี กว่าเมื่อตรวจพบหลังจากมีอาการผิดปกติแล้ว

-ความดันโลหิตปกติ คือ 90 - 119 / 60 - 79 มม.ปรอท

  • ความดันโลหิตในผู้มีแนวโน้มจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง คือ 120 - 139 / 80 - 89 มม.ปรอท
  • โรคความดันโลหิตสูงระยะ 1 คือ ความดันโลหิตอยู่ในช่วง 140 - 159 / 90 - 99 มม.ปรอท
  • โรคความดันโลหิตสูงระยะ 2 คือ ความดันโลหิตอยู่ในช่วง ตั้งแต่ 160/100 มม.ปรอทขึ้นไป
  • โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องพบแพทย์ใน 24 ชั่วโมง คือ ความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 180/ 110 มม.ปรอทเป็นต้นไป เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาจจากโรคหัวใจล้มเหลว สมองสูญเสียการทำงาน และ/หรือไตล้มเหลว
  • โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องพบแพทย์ฉุกเฉิน คือความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 220/140 มม.ปรอทขึ้นไป เพราะเป็นอันตรายถึงชีวิต (ตาย) ได้ จากการทำงานล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง และไต

อนึ่ง ความดันโลหิตสูงวินิจฉัยจากความดันโลหิตตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัวขึ้นสูงกว่าปกติ ทั้งนี้เมื่อวัดความดันฯผิดปกติ ให้วัดซ้ำอีกครั้ง ห่างกันประมาณ 5 นาทีหลังพักประมาณ 5 - 10 นาที ถ้าค่าการวัดยังผิดปกติ จึงจะถือว่าความดันฯผิดปกติจริง

บรรณานุกรม

1. Madhur,M. et al. Hypertension http://emedicine.medscape.com/article/241381-overview#showall [2014,July26]

Updated 2014, July 26