คลอกซาซิลลิน (Cloxacillin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคลอกซาซิลลิน (Cloxacillin) เป็นยาปฏิชีวนะจัดอยู่ในยากลุ่มยาเพนนิซิลิน (Penicillins)

ยาคลอกซาซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

คลอกซาซิลลิน

ยาคลอกซาซิลลินมีสรรพคุณใช้รักษาการติดเชื้อของกระดูกและข้อ การติดเชื้อของเยื่อหุ้มหัวใจ การติดเชื้อที่ผิวหนัง และการติดเชื้อทางเดินหายใจ

ยาคลอกซาซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคลอกซาซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยยับยั้งการสร้างผนังเซลของแบคทีเรีย แบคทีเรียจึงเจริญเติบโตไม่ได้จึงตายในที่สุด

ยาคลอกซาซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคลอกซาซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้คือ

  • แคปซูล ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม
  • ยาผงละลายน้ำ ขนาด 125 และ 250 มิลลิกรัม
  • ยาฉีด ขนาด 1 กรัม

ยาคลอกซาซิลลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

การใช้ยาคลอกซาซิลลินสำหรับผู้ใหญ่ขนาดที่รับประทานอยู่ในช่วง 250 - 500 มิลลิกรัม/ครั้ง 4 ครั้งต่อวัน ควรรับประทานยาคลอกซาซิลลินก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงหรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง เพราะอาหารจะรบกวนการดูดซึมยาคลอกซาซิลลินและลดประสิทธิภาพในการรักษา อย่างไรก็ตาม ในการรักษาโรคต่างๆมีขนาดการให้ยาที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคและความรุนแรง ดังนั้นควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยสั่งจ่ายยาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อรับประทานเองหรือควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยารับประทานเอง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาคลอกซาซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดและอาการจากการแพ้ยาเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือแน่น หายใจติดขัด
  • โรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยามักผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคลอกซาซิลลินสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาคลอกซาซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคลอกซาซิลลินมีผลอันไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) คือ อาจมีผลให้เกิดตับอักเสบ ผื่นคัน ตัว/ตาเหลือง (ดีซ่าน) เลือดออกง่าย เลือดจาง ใจสั่น อาจมีไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ และท้องร่วง

มีข้อควรระวังการใช้ยาคลอกซาซิลลินอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาคลอกซาซิลลินคือ

  • ระวังการใช้ยาในผู้ที่แพ้ยา (การแพ้ยา) กลุ่มเพนนิซิลิน
  • ถ้ามีอาการหอบหืดเกิดขึ้นหลังกินยาให้รีบหยุดยาและรีบพบแพทย์
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคลอกซาซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาคลอกซาซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยาคลอกซาซิลลินกับยาตัวอื่นคือ

  • การกินยาร่วมกับยาคุมกำเนิดจะลดประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด จึงอาจตั้งครรภ์ได้ ตัวอย่างยาคุมกำเนิดเช่น ไดเนสตรอล (Dienestrol) ไดเอธิลสติลเบสทรอล (Diethylstilboestrol) และสติลเบสทรอล (Stilboestrol)
  • การกินยาร่วมกับยาลดการดูดซึมไขมันโคเลสเตรอล (Cholesterol) จะทำให้การดูดซึมยาคลอกซาซิลลินลดน้อยลงไปส่งผลให้การรักษาการติดเชื้อไม่ได้ผล ตัวอย่างยาลดการดูดซึมไขมันโคเลสเตอรอลเช่น โคเลสไตรามีน (Colestyramine)

ควรเก็บรักษายาคลอกซาซิลลินอย่างไร?

การเก็บรักษายาคลอกซาซิลลินทุกรูปแบบบรรจุ ให้เก็บในที่แห้ง ระวังความชื้น เก็บในที่ที่พ้นแสงแดด อุณหภูมิไม่ควรเกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ยาผงสำหรับเด็กที่ละลายน้ำแล้วจะต้องเก็บในตู้เย็นเพื่อชะลอความเสื่อมของยา ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาคลอกซาซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคลอกซาซิลลินมีชื่อทางการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทยเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cloxa T.O. (คลอซาทีโอ) T.O. Chemical
Cloxacillin Osoth (คลอซาซิลลิน โอสถ) Osoth Interlab
Cloxa M H (คลอซา เอม เอช) M & H Manufacturing
Cloxacillin (คลอซาซิลลิน) Community Pharm
Cloxanbin (คลอซานบิน) ANB
Cloxam (คลอซาม) Macro Phar
Cloxgen (คลอกเจน) General Drugs House
Cloxil (คลอซิล) Ranbaxy Unichem

บรรณานุกรม

1. Antibiotics. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/ [2014,Oct18]
2. Antimicrobial http://en.wikipedia.org/en.wikipedia.org/wiki/Antimicrobial [2014,Oct18]

Updated 2014, Oct 18