การผ่าตัดต่อมทอนซิล (Tonsillectomy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ต่อมทอนซิล คืออะไร ?

ต่อมทอนซิล (Tonsil) คือ ต่อมน้ำเหลืองคู่ ซ้าย ขวา ที่อยู่ในช่องคอ มีหน้าที่คอยดักจับ ฆ่าเชื้อโรคต่างๆที่หลุดเข้าไปในช่องคอ เช่น เชื้อแบคทีเรีย

การผ่าตัดต่อมทอนซิลมีข้อบ่งชี้อย่างไร ?

การผ่าตัดต่อมทอนซิล

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต่อมทอนซิล คือ

1 เจ็บคอบ่อย ต่อมทอนซิลมีการติดเชื้อเรื้อรัง กลืนอาหารจะเจ็บคอ บางครั้งมีกลิ่นปาก ไอบ่อย และมีต่อมน้ำเหลืองข้างลำคอโต การเจ็บคออาจเจ็บ 3 ครั้ง ใน 3 ปี 5ครั้งใน 2 ปี หรือ 7 ครั้งใน 1 ปี เวลาเจ็บจะมีไข้สูง หนาวสั่น และปวดกระดูกทั้งตัว การเจ็บคอนี้ บางครั้งรบกวนต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ต้องหยุดเรียน หรือหยุดงานบ่อย

2 ต่อมทอนซิลโตมาก ทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้นอนกรน หยุดหายใจเป็นพักๆขณะนอนหลับ (โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ) นอกจากนั้น ต่อมที่โตมากอาจทำให้กลืนลำบาก หรือเด็กเกิดการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ รายเช่นนี้ ถ้าผ่าเอาต่อมออก อาการต่างๆจะหายไปได้ถึง 75%

3 เนื้อเยื่อรอบๆต่อมทอนซิลเป็นหนอง เพราะการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ผล

4 ต่อมทอนซิลโตข้างเดียว ซึ่งที่ต้องตัดออกเพราะอาจเป็นโรคมะเร็งต่อมทอนซิลข้างนั้นได้ จึงจำเป็นต้องตัดออก เพื่อนำทั้งต่อมมาเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

5 มีอาการชักหลังจากเจ็บคอ ไข้สูง หรือเป็นต่อมที่พิสูจน์ได้ว่า เป็นแหล่งของเชื้อโรค ที่ก่อโรคให้ตนเอง หรือที่คอยแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น เช่น เชื้อเบตา ฮีโมลัยติกสเตรปโตคอคไค กรุ๊ป A (Beta hemolytic streptococci group A) หรือเชื้อโรคคอตีบ

การผ่าตัดต่อมทอนซิลทำอย่างไร ?

การผ่าตัดต่อมทอนซิลทำอย่างไร ?

วิธีผ่าตัดที่นิยมทำกันมากในสถาบันที่มีการอบรมแพทย์ประจำบ้าน หู คอ จมูก คือ สแนร์ (Tyding Tonsil Snare) เป็นเครื่องมือที่มีปลายเป็นวงลวด รูดได้ วงลวดนี้จะไปคล้องเอาต่อมทอนซิล แล้วรูดออกจากช่องคอ วิธีนี้จะไม่มีแผลใดๆที่เกิดจากภายนอก

การผ่าตัดอาจทำแบบวางยาสลบ หรือใช้ยาชาเฉพาะที่ก็ได้ ก่อนผ่าตัด แพทย์จะตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ดูจำนวนเม็ดเลือดขาว และการตรวจเลือดอื่นๆเพื่อดูความผิดปกติของการหยุดไหลของเลือด ต้องตรวจปัสสาวะ เพื่อดูความผิดปกติของไต นอกนั้นต้องถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด ซึ่งขบวนการตรวจเหล่านี้ใช้เวลาหลายชั่วโมง และผู้ป่วยต้องอดอาหารและน้ำดื่มอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนเข้าห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันการสำลักเศษอาหารหรือน้ำเข้าไปในปอดขณะทำการผ่าตัด

หลังการผ่าตัดเจ็บคอมากไหม ?

หลังการผ่าตัด ชั่วโมงแรกๆจะเจ็บมาก แต่แพทย์จะให้ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันแผลผ่าตัดติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งภายหลังกินยา อาการปวดแผลจะค่อยๆลดน้อยถอยลง และจะหายภายในระยะเวลาประมาณ 10 วัน ส่วนแผลผ่าตัดจะหายเป็นปกติภายในระยะเวลาประมาณ 30 วัน

หลังผ่าตัดเสียงพูดจะเปลี่ยนไปไหม ?

หลังผ่าตัดสัปดาห์แรก เพดานอ่อนหรือผนังช่องคอจะบวมขึ้นมาก ทำให้หายใจลำบาก อึดอัด ดังนั้นการพูดหรือเปล่งเสียง อาจผิดไปจากเดิม แต่เมื่อแผลหายบวมแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

แต่อย่างไรก็ตามก็มีข้อยกเว้น คือ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการ วีพีไอ (VPI,Velopharyngeal insufficiency) กล่าวคือ มีเสียงขึ้นจมูกหรือคล้ายเสียงรั่วออกจากจมูก ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการนี้ คือ

  • ผู้ป่วยมักมีความผิดปกติของเพดาน เช่น เพดานโหว่
  • มีโครงสร้างของศีรษะและใบหน้าผิดปกติ
  • มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทใบหน้า หรือ
  • ในผู้ป่วยปัญญาอ่อน ซึ่งอาการ/ภาวะ VPI นี้ส่วนใหญ่เกิดชั่วคราว ส่วนน้อยต้องรักษาโดยการฝึกพูดหรือผ่าตัดรักษา

หลังการผ่าตัดต่อมทอนซิล ผู้ป่วยจะอ้วนไหม ?

ทุกรายหลังผ่าตัดประมาณ 1-2 เดือน น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้เพราะอุปสรรคในลำคอได้ถูกขจัดไป ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ทำให้กินอาหารได้อร่อย และกินได้มากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุ 3-7 ปี

หลังผ่าตัดแล้วร่างกายจะผิดปกติไหม?

การผิดปกติที่อาจพบได้หลังการผ่าตัดต่อมทอนซิล คือ

1 น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น ดังกล่าวแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้

2 เสียงพูดเปลี่ยนชั่วคราว ดังกล่าวแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้

3 ยังคงมีอาการเจ็บคออยู่ เพียงแต่ว่าการเจ็บจะไม่รุนแรง ไม่มีไข้สูง ไม่มีปวดเมื่อยกระดูก และไม่มีหนาวสั่น นอกนั้นการเจ็บคอหลังผ่าตัดก็ไม่ขัดขวางต่อการกินอาหาร

ฝ้าขาวบริเวณแผลผ่าตัดเกิดจากการอักเสบติดเชื้อหรือไม่ ?

หลังผ่าตัด 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีแผลในผนังช่องคอทั้งสองข้างในตำแหน่งเดิมของต่อมทอนซิล เห็นได้เป็นฝ้าขาวๆคล้ายหนองที่อักเสบบริเวณแผล อันนี้เป็นการหายของแผลไม่ใช่เป็นการติดเชื้อ และฝ้านี้จะค่อยๆหายภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

หลังผ่าตัดผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?

หลังผ่าตัดต่อมทอนซิล ควรปฏิบัติดังนี้

1 ผู้ป่วยจะเจ็บคอมาก ให้กินยาตามแพทย์แนะนำ อาจเอาน้ำแข็งห่อผ้าประคบข้างลำคอ (ด้านนอกของลำคอ แต่ตรงตำแหน่งที่เจ็บ) เพื่อลดบวมและเจ็บ

2 อาหารที่กินควรเป็นอาหารอ่อน (ประเภทอาหารทางการแพทย์) กลืนง่าย รสจืด เช่น ข้าวต้ม และควรเป็นอาหารเย็น เช่น ไอศกรีม เยลลี นมเย็น งดสูบบุหรี่ เหล้า เบียร์ ของรสจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด และของกินที่แข็ง งดออกกำลังกายจนกว่าแพทย์จะอนุญาตเพื่อป้องกันเลือดออกจากแผล หลีกเลี่ยงไม่ออกสังคมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

3 กลั้วคอบ่อยๆ และหลังอาหาร เครื่องดื่มทุกครั้ง ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดอ่อน หรือตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ

4 ไม่ขากเสลดหรือไอแรงๆ เพราะจะทำให้ไหมละลายที่เย็บหรือผูกไว้หลุด ทำให้มีเลือดออกหลังผ่าตัด ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ให้รีบกลับมาโรงพยาบาลฉุกเฉินเพื่อพบแพทย์

5 ในผู้ป่วยที่น้ำหนักตัวมาก/อ้วน นอนกรน หรือหยุดหายใจขณะนอนหลับ (โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ) หลังผ่าตัดอาจต้องให้แพทย์ดูแลใกล้ชิด อาจต้องดูการนอน การหายใจ ตลอดจนใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าจะปลอดภัย

6 พบแพทย์ตามนัดเพื่อดูแผล และรับทราบผลชิ้นเนื้อต่อมทอนซิล เพราะแพทย์ต้องตรวจชิ้นเนื้อต่อมทอนซิลร่วมด้วย (การตรวจทางพยาธิวิทยา)

การผ่าตัดต่อมทอนซิลอันตรายไหม?

ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดต่อมทอนซิลที่อาจพบได้ คือ การมีเลือดออกจากแผลผ่าตัดมาก ซึ่งพบได้ประมาณ 2-4%

อัตราเสียชีวิตจากผ่าตัดต่อมทอนซิล พบได้ประมาณ 1 ใน 25,000 ราย โดยสาเหตุของการเสียชีวิต คือ เลือดออกจากแผลไม่หยุด ภาวะหายใจล้มเหลว และจากแผลติดเชื้อ และประมาณ 1 ใน 40,000 ราย เสียชีวิตจากผลข้างเคียงจากการดมยาสลบ

สรุป ผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต่อมทอนซิล อาจมีได้ ดังนี้

1 แพ้ยาสลบ ถ้าแพ้เล็กน้อย ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปวดศีรษะ ถ้าเป็นมาก อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และมีภาวะหายใจล้มเหลว

2 เลือดออกมาก ต้องหยุดเลือดในห้องผ่าตัด ถ้าออกมากจนซีด อาจต้องให้เลือด แต่ถ้าหลังผ่าตัด 1-2 สัปดาห์ ยังมีเลือดออก ควรต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ โดยปกติหลังผ่าตัดใหม่ๆภายใน 24 ชั่วโมง อาจมีน้ำลายปนเลือด ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติ

3 ภาวะขาดน้ำ เพราะกิน/ดื่มไม่ได้ จากการเจ็บ/ปวดที่แผลผ่าตัดนานมากกว่าปกติ ปกติควรภายใน 1-2 วันหลังผ่าตัด) และการหายของแผลช้ากว่ากำหนด

4 เสียงเปลี่ยนชั่วคราวและอาจรู่สึกหายใจไม่เหมือนเดิม แต่อาการเหล่านี้จะหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน มีน้อยมากที่เสียงเปลี่ยนถาวร และต้องแก้ไขโดยผ่าตัด

5 หลังผ่าตัด อาจแก้ไขไม่สำเร็จในภาวะนอนกรน หรือการหยุดหายใจเป็นพักๆขณะนอนหลับ (โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ)

6 การเจ็บคออาจไม่หาย อาจเกิดโรคแทรกซ้อนไซนัสอักเสบ และ/หรือหูอักเสบ (หูติดเชื้อ) อาจต้องรักษาต่อเนื่องไปอีก

7 บวมที่บริเวณแผลผ่าตัด หรือบริเวณเนื้อเยื่อข้างเคียง เช่น ที่ลิ้น สาเหตุอาจเกิดจากติดเชื้อในช่องปาก อาจพบหนองในลำคอ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น การรักษา คือการให้ยาปฏิชีวนะ

8 บริเวณโพรงหลังจมูกตีบตัน (Nasopharyngeal stenosis) มักเกิดในเด็กที่มีการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) ร่วมด้วย แต่พบผลข้างเคียงนี้ได้น้อย

หลังผ่าตัดเมื่อไรต้องรีบพบแพทย์ก่อนนัด?

ต้องรีบพบแพทย์ทันที/ฉุกเฉิน เมื่อมีเลือดออกต่อเนื่องนานกว่า 1 ชั่วโมง มีไข้สูง และมีการบวมในคอเพิ่มขึ้นจนมีปัญหาต่อการหายใจ ซึ่งแพทย์อาจหยุดเลือดโดย

1 เอาก้อนเลือดที่แข็งตัว (Blood clot) อยู่บริเวณแผลผ่าตัดโดยใช้เครื่องดูดหรือปากคีบหยิบออก และใช้ผ้าก๊อซกดไว้จนกว่าเลือดจะหยุดไหล

2 ถ้าวิธีดังกล่าวไม่สำเร็จ อาจต้องนำผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด ฉีดยาชาหรือวางยาสลบแล้วเย็บผูกหลอดเลือดที่เป็นต้นเหตุ

การรักษาอาการไข้สูง คือ การให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจจำเป็นต้องเป็นยาฉีด ส่วนการรักษาอาการคอบวม คือ การให้ยาลดบวม และให้ยาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบวม

อยู่ในโรงพยาบาลนานกี่วัน ?

โดยทั่วไป ผู้ป่วยผ่าตัดต่อมทอนซิลจะอยู่โรงพยาบาลประมาณ 1 วัน ถ้าผู้ป่วยฟื้นคืนสภาพของร่างกายดี เช่น เดินได้เป็นปกติ กินได้ ไม่มีเลือดออก แพทย์ก็แนะนำให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้

บรรณานุกรม

  1. Hollingshead WH. Text book of anatomy 3rdedi New york. Harper & Row,1974.
  2. Buehholy DW. What is dysphagia? Dysphagia 1996; 23-24.
  3. H-ornibrook J. Response to : the role of tonsillectomy in reducing recurrent pharyngitis : A systemic review. Otolaryngology-Head and Neck surgery 2009;141:155-156
  4. Windluhr JP, Chen YS, Remmert S. Hemorrhage following tonsillectomy in 15, 218 patients. Otolaryngology-Head and Neck surgery 2005 ; 132 : 281-286.
  5. Avior G, Fishman G, Leor A, et.al. The effect of tonsillectomy and adenoidectomy on inattention and impulsivity as measured by the test of variables of a attention (Tova) in children with obstructive sleep apnea syndrome. Otolaryngology-Head and Neck surgery 2004; 131 : 367-371
  6. Ray RM, Bower CM. Pediatric obstructive sleep apnea : the year in review. Otolaryngology-Head and Neck surgery 2005; 13: 360-365.
  7. Paradise JL. Tonsillectomy and Adenoidectomy Pediatric otolaryngology 1983; 14 : 122-126.
  8. Lee KL. Clinical indicators compendium clinical indicator : tonsillectomy, adenoidectomy adenotonsillectomy 2000 ; 544
  9. Marshall T. Effectiveness of tonsillectomy ? A Rephy to Howel et al. Family practice 2002 ; 19:707-708.
  10. McNeill RA. A history of tonsillectomy : Two Millennia of trauma, Haemorrhage and controversy. Ulser medical journal 1960 ; 29 : 59-63.
Updated 2016,Aug20