การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease)
- โดย นายแพทย์ ธีรยุทธ เต็มธนะกิจไพศาล
- 28 พฤศจิกายน 2562
- Tweet
สารบัญ
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานคืออะไร?
- อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน?
- ปัจจัยเสี่ยงใดบ้างเพิ่มโอกาสติดเชื้อให้มากขึ้น?
- อาการจากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานมีอะไรบ้าง?
- แพทย์วินิจฉัยการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานอย่างไร?
- รักษาการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานอย่างไร?
- ถ้าไม่รักษาหรือรับประทานยาไม่สม่ำเสมอจะเกิดอะไรขึ้น?
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานทำให้มีบุตรยากได้อย่างไร?
- คู่นอนจะมีการติดเชื้อด้วยหรือไม่?
- ป้องกันการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้อย่างไร?
- ทำอย่างไรเมื่อมีอาการผิดปกติแล้วไม่แน่ใจว่าติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานหรือไม่? ดูแลตนเองอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ตกขาว (Leucorrhea)
- เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด (Irregular bleeding per vagina)
- ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
- ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy)
การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานคืออะไร?
การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (ท้องน้อยหรือช่องท้องน้อย) หรือโรคพีไอดี (PID, Pelvic inflammatory disease) คือ การอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์สตรีส่วนบน คือ ตั้งแต่ ภายในโพรงมดลูก, ท่อนำไข่, รังไข่, รวมถึงอาจทำให้เกิดถุงหนองที่ปีกมดลูก (รังไข่ ท่อนำไข่ และเนื้อเยื่อโดยรอบ) ได้
อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน?
ส่วนใหญ่สาเหตุของการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหนองใน (N. gonorrhea) และโรคหนองในเทียม (C. trachomatis) อย่างไรก็ตาม เชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดเองอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้เช่นกัน โดยเชื้อกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเชื้อชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจน
การติดเชื้อดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์(โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) โดยเชื้อจะเคลื่อนที่จากช่องคลอดขึ้นไปที่ปากมดลูก และในที่สุดทำให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์ส่วนบน ซึ่งใช้เวลา 2 - 3 วัน หรือเป็นเดือนกว่าจะแสดงอาการของการติดเชื้อ
ปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่เพิ่มโอกาสติดเชื้อให้มากขึ้น?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้แก่
1.เคยมีการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์มาก่อน (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
2.มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย (น้อยกว่าอายุ 25 ปี)
3.มีคู่นอนหลายคน
4.การสวนล้างช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในช่องคลอดลุกลามเข้าสู่โพรงมดลูก นำไปสู่การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานตามมา
5.การใส่ห่วงอนามัยเพื่อคุมกำเนิด
อาการจากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานมีอะไรบ้าง?
อาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานจะแตกต่างกัน ตั้งแต่อาการไม่มากจนกระทั่งติดเชื้อรุนแรง โดยอาการที่เกิดขึ้นส่วนมากคือ ปวดท้องน้อย
อาการอื่นที่พบร่วมได้ เช่น
- มีตกขาวปริมาณมากผิดปกติออกทางช่องคลอด มีสีเหลืองคล้ายหนอง
- มีไข้
- เจ็บมากขณะมีเพศสัมพันธ์
- ปัสสาวะแสบขัด
- อาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด
- อาจมีอาการปวดที่บริเวณใต้ชายโครงขวาได้
อนึ่ง ส่วนใหญ่ถ้าเป็นการติดเชื้อหนองในมักแสดงอาการรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้องน้อยหรือมีไข้
แพทย์วินิจฉัยการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานอย่างไร?
ในกรณีที่มีอาการดังกล่าวแล้ว ให้ผู้ป่วยรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป โดยแพทย์จะทำการตรวจภายใน เพื่อดูว่ามีตกขาวผิดปกติหรือไม่ มีอาการเจ็บที่อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหรือไม่ ตรวจเพื่อดูว่ามีถุงหนองเกิดขึ้นที่ปีกมดลูกแล้วหรือยัง
เนื่องจากการติดเชื้อดังกล่าวเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นอาจจะมีโรคที่เกิดตามมาจากการมีเพศสัมพันธ์อื่นๆด้วย (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) ดังนั้นผู้ป่วยจะถูกตรวจเลือดเพื่อตรวจดูว่ามีการติดเชื้อ โรคเอดส์ (เอชไอวี/HIV) โรคซิฟิลิส และโรคไวรัสตับอักเสบ ด้วยหรือไม่
นอกจากนั้น การตรวจปัสสาวะดูการตั้งครรภ์จะมีประโยชน์ในรายที่มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ เพราะอาการเลือดออกอาจเกิดจากการตั้งครรภ์ได้
ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่ามีถุงหนองเกิดขึ้นหรือยัง การตรวจอัลตราซาวด์ภาพช่องท้องน้อยก็จะช่วยการวินิจฉัยภาวะดังกล่าวได้
รักษาการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานอย่างไร?
เนื่องจากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นยาที่ใช้ในการรักษาจึงเป็นยาปฏิชีวนะ โดยแพทย์จะเป็นคนพิจารณาให้ยาแก่ผู้ป่วยตามความเหมาะสม ผู้ป่วยจะต้องรับประ ทานยาให้ครบตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อจะได้ฆ่าเชื้อที่มีอยู่ให้หมด ส่วนใหญ่จะใช้เวลารักษาประ มาณ 2 สัปดาห์ แต่แพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อติดตามผลการรักษาประมาณ 2 - 3 วันหลังจากได้รับการรักษา เพื่อดูว่าอาการดีขึ้นและตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่
ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก เช่น มีไข้สูง ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับ ประทาน รับประทานยาไม่ได้เนื่องจากคลื่นไส้ อาเจียนมาก มีถุงหนองเกิดขึ้นในอุ้งเชิงกราน หรือตั้งครรภ์ มักได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบฉีดซึ่งจะมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า
ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะเลย การผ่าตัดมดลูกและ/หรือปีกมดลูกก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา
ถ้าไม่รักษาหรือรับประทานยาไม่สม่ำเสมอจะเกิดอะไรขึ้น?
โรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานเป็นโรคที่รักษาได้หายเมื่อวินิจฉัยโรคและได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ แต่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาไม่ครบตามที่แพทย์แนะนำ ในอนาคตผลข้าง เคียงที่ตามมา คือ อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก นอกจากนั้นบางรายอาจเกิดการตั้งครรภ์นอกมด ลูก หรือมีปัญหาของการปวดท้องน้อยเรื้อรังได้
การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานทำให้มีบุตรยากได้อย่างไร?
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานจะส่งผลมีการอักเสบของท่อนำไข่ร่วมด้วย ถ้าได้ยาปฏิชีวนะไม่เพียงพอ รักษาล่าช้าไปหรือไม่ได้รับการรักษา จะเกิดพยาธิสภาพที่ท่อนำไข่อย่างถาวร ส่งผลให้ท่อนำไข่ตีบหรือตันได้ การที่ท่อนำไข่ตีบหรือตันนั้น ทำให้ไข่ไม่สามารถมาพบกับตัวอสุจิได้ ทำให้ไม่เกิดตัวอ่อนในการตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงไม่สามารถมีบุตรได้ และยิ่งติดเชื้อบ่อยครั้งก็จะทำให้โอกาสการมีบุตรลดลงอีก
คู่นอนจะมีการติดเชื้อด้วยหรือไม่?
คู่นอนอาจจะมีอาการหรือไม่มีอาการจากการติดเชื้อก็ได้ อย่างไรก็ตามคู่นอนควรจะได้รับการรักษาด้วยไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากการติดเชื้อดังกล่าวอาจไม่แสดงอาการ
ป้องกันการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้อย่างไร?
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานคือ การไม่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งคงเป็นวิธีที่ยากในทางปฏิบัติ แต่เราสามารถลดการติดเชื้อได้โดย
- มีคู่นอนแค่หนึ่งคน และคู่นอนของเราต้องมีคู่นอนแค่คนเดียวเช่นกัน
- สวมถุงยางอนามัยชายทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์ เพราะนอกจากจะช่วยคุมกำเนิดแล้วยังป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ด้วย
- ไม่สวนล้างช่องคลอด เนื่องจากการสวนล้างช่องคลอดจะเป็นการชะล้างเอาแบคทีเรียปกติที่มีอยู่ในช่องคลอดออกไป ทำให้แบคทีเรียก่อโรคเข้ามาอยู่ในช่องคลอดแทน จึงเกิดการติดเชื้อขึ้น
ทำอย่างไรเมื่อมีอาการผิดปกติแล้วไม่แน่ใจว่าติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานหรือไม่? ดูแลตนเองอย่างไร?
ในกรณีที่มีอาการต่างๆดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ จากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือ ไม่แน่ใจว่าใช่การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานหรือไม่ ให้รีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลได้เลย ไม่ต้องรีรอ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา ถ้ามัวแต่อายหมอไม่กล้ามาตรวจก็จะทำให้การรักษาล่าช้าไปอีก และอาจทำให้อาการเป็นมากขึ้นนำไปสู่ผลข้างเคียงอื่นๆตามมาดังที่ได้กล่าวแล้ว
อนึ่ง ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เพราะมักไม่ถูกชนิดกับเชื้อ และมักได้ยาในขนาดไม่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเชื้อดื้อยา โรคจึงมักรุนแรงขึ้น
บรรณานุกรม
- ธีระ ทองสง, จตุพล ศรีสมบูรณ์, ธีระพร วุฒยวนิช, ประภาพร สู่ประเสริฐ, สายพิณ พงษธา. Upper genital tract infections. นรีเวชวิทยา, 3rd edition. พี.บี.ฟอเรน บุ๊คส์ เซนเตอร์, p239-49.
- https://www.cdc.gov/mmwr/pdf/rr/rr6403.pdf [2019,Nov9]