การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง การตรวจอีอีจี (Electroencephalography; EEG)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 10 มีนาคม 2556
- Tweet
- บทนำ
- เมื่อไหร่จำเป็นต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง?
- ขั้นตอนการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองทำอย่างไร?
- ระหว่างการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง มีการทำอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง?
- ก่อนตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองใช้เวลานานเท่าไหร่?
- การตรวจมีความเสี่ยงหรือไม่?
- ดูแลตนเองหลังการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองอย่างไร?
- จำเป็นต้องมาพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ค่าตรวจแพงหรือไม่?
- สรุป
บทนำ
หลายคนคงสงสัยว่า การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือเรียกย่อวา อีอีจี (Electroencephalo graphy หรือ EEG) คืออะไร และทำไมต้องตรวจ ผมขออธิบายสั้นๆเพื่อความเข้าใจอย่างง่าย ปกติการวินิจฉัยโรคของแพทย์ จะต้องประกอบด้วยการสอบถามอาการโดยละเอียดจากผู้ป่วยและญาติ การตรวจร่างกาย และการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และการตรวจเลือด
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เป็นการตรวจพิเศษเฉพาะทางประสาทวิทยาชนิดหนึ่งที่สามารถบอกตำแหน่งและความผิดปกติในการทำงานของสมองได้
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เป็นการบันทึกสัญญาณไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากผลรวมของกระแสไฟ ฟ้าของกลุ่มเซลล์ในสมอง ผลการตรวจจะปรากฏเป็นรูปกราฟในจอภาพ ทั้งนี้โดยปกติสมองคนมีเซลล์ประสาทชนิดหนึ่งที่เรียกว่า นิวรอน (Neuron) จำนวนมากมายเป็นพันล้านเซลล์ เซลล์เหล่า นี้สามารถติดต่อถึงกันได้ โดยการขนส่งอนุภาคไฟฟ้าผ่านเยื่อเซลล์ เมื่อเซลล์ประสาทส่วนหนึ่งได้รับการกระตุ้นโดยสารเคมีที่เรียกว่า สารสื่อประสาท (Neurotransmitter) จะปล่อยอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าให้เดินไปตามเนื้อเยื่อที่เรียกว่า ใยประสาท (Nerve fiber) ที่เชื่อมระหว่างเซลล์ประ สาท โดยกระแสไฟฟ้าปริมาณน้อยๆที่เกิดขึ้นนี้ จะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทให้ปล่อยประจุไฟฟ้าต่อไปเป็นทอดๆ ซึ่งสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า คลื่นสมอง หรือ คลื่นไฟฟ้าสมอง (Brain wave)
คลื่นสมอง จะมีลักษณะเคลื่อนไหวขึ้นและลง เหมือนคลื่นทั่วไป โดยใช้หน่วยการวัดเป็นรอบต่อนาที เมื่ออยู่ในภาวะปกติ คลื่นไฟฟ้าสมองก็เป็นปกติ แต่เมื่อเกิดความผิดปกติของสมอง เช่น ภาวะชัก ภาวะสับสน ความผิดปกตินั้นก็สามารถตรวจได้จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
ลองติดตามรายละเอียดดูนะครับว่า การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองนั้น มีข้อบ่งชี้อะไรบ้าง ตรวจอย่างไร มีอันตรายอะไรหรือไม่ ราคาแพงไหม
เมื่อไหร่จำเป็นต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง?
แพทย์จะตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือ ข้อบ่งชี้การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง มีดังนี้
- เพื่อการวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก รวมทั้งติดตามผลของการรักษา และอาจบอกชนิดของการชักได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคลมชักกว่า 40% มีผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองที่ปกติ เนื่อง จากพยาธิสภาพเกิดจากสมองส่วนลึก หรือกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้น มีความแรงน้อยเกินกว่าที่เครื่องจะสามารถบันทึกได้ ดังนั้นการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองจึงไม่สามารถใช้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยโรคลมชักได้ทั้งหมด แต่มีประโยชน์อย่างมากในการสืบค้น เพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคลมชัก และช่วยแยกชนิดของโรคลมชัก เพื่อช่วยในการเลือกยากันชักที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และช่วยวาง แผนในการหยุดยากันชักในผู้ป่วยโรคลมชัก
- ช่วยวินิจฉัยแยกโรคระหว่าง โรคลมชักกับการแกล้งชัก หรืออาการชักปลอม (Non-epileptic seizures) ผู้ป่วยโรคลมชักที่หมดสติไปจะพบคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติเสมอ เช่น ช้าหรือลดลง หรือมีคลื่นที่มีลักษณะเร็วและแหลมสูง เรียกว่า Spike หรือ Sharp wave แต่ทั่วๆไป หากผู้ป่วยแกล้งชัก จะตรวจไม่พบคลื่นไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงเลย แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการชักทั้งตัวหรือผู้ป่วยหมดสติไปหลังการชักก็ตาม
- ช่วยในการวินิจฉัยโรคทางสมองและบอกตำแหน่งของพยาธิสภาพในสมอง เช่น เนื้องอกสมอง ฝีในสมอง โรคติดเชื้อของระบบประสาท ได้แก่ สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เลือดออกในสมอง โรคหลอดเลือดสมองทั้งชนิดที่เกิดจากการขาดเลือด (Cerebral infarction) หรือชนิดที่เกิดจากหลอดเลือดแตก (Intracerebral hemorrhage) ถ้ามีขนาดใหญ่และอยู่ใกล้กับผิวสมอง ทำให้เกิดคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติได้
- บอกระดับการตื่นของสมอง ในผู้ป่วยที่มีความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วยวินิจฉัยผู้ ป่วยที่ซึมลง สับสน หรือหมดสติ (โคม่า) และสงสัยว่าผู้ป่วยนั้นมีอาการชักที่ไม่มีการเกร็งกระ ตุก (Non-convulsive seizure)
- ช่วยแพทย์วินิจฉัยภาวะสมองตาย (Brain death) เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยร่วม กับลักษณะทางคลินิกอย่างอื่น
- เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าของการนอนหลับ เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคที่เกี่ยว ข้องกับการหลับ เช่น โรคง่วงหลับ (Narcolepsy)
- ช่วยแยกผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวชว่า มีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของจิตใจ หรือเกิดจากพยาธิสภาพในสมองหรือโรคลมชัก เนื่องจากบางครั้งผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของสมองหรือโรคลมชัก อาจแสดงอาการหรือพฤติกรรมคล้ายกับผู้ป่วยทางจิตเวชได้ เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับบาด เจ็บที่ศีรษะ หรือมีเนื้องอกของสมอง อาจแสดงอาการประสาทหลอนหรืออาการหลงผิด หรือผู้ ป่วยโรคลมชักในขณะชัก อาจมีพฤติกรรมการเคลื่อนไหวแปลกๆ อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ซึ่งอา การดังกล่าว คล้ายอาการทางจิตเวชมาก ทำให้การสอบถามประวัติและการตรวจร่างกายไม่สามารถแยกสาเหตุได้ชัดเจน การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองสามารถแยกสาเหตุดังกล่าวได้ กล่าวคือ ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของสมองหรือมีโรคลมชัก มักตรวจพบคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติ เช่น ตรวจพบคลื่นช้า (Slow wave) ในส่วนของสมองที่มีเนื้องอก หรือตรวจพบคลื่นชักในกรณีผู้ป่วยเป็นโรคลมชัก เป็นต้น ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวช ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของจิตใจ มักจะพบคลื่นไฟฟ้าสมองปกติ
อย่างไรก็ตาม ขอย้ำอีกครั้งว่า การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองแล้วไม่พบความผิดปกติ ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยไม่เป็นโรคลมชัก
น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังคืออะไร?
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง จะทำโดยใช้ขั้วไฟฟ้าวางบนหนังศีรษะ (Scalp electrodes) ซึ่งมีขั้นตอนการตรวจดังนี้
- ให้ผู้ป่วยนอนราบบนเตียง
- เจ้าหน้าที่ทำการวัดศีรษะ เพื่อหาตำแหน่งสำหรับวางขั้วไฟฟ้าบนหนังศีรษะในตำ แหน่งต่างๆกัน ซึ่งตำแหน่งที่วางเป็นไปตามมาตรฐานสากล
- เจ้าหน้าที่เตรียมและทำความสะอาดหนังศีรษะบริเวณที่จะวางขั้วไฟฟ้าด้วยน้ำยาสำ หรับทำความสะอาดผิวหนังโดยเฉพาะ
- วางขั้วไฟฟ้าบนหนังศีรษะในแต่ละตำแหน่งจนครบตามวิธีมาตรฐานสากล โดยใช้ครีมทาหนังศีรษะ (ชนิดที่สามารถนำคลื่นไฟฟ้าสมองได้) ในตำแหน่งที่วางขั้วไฟฟ้า และตรวจ สอบแรงต้านทานไฟฟ้าของขั้วไฟฟ้าในแต่ละตำแหน่ง โดยแรงต้านทานไฟฟ้าต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- หลังจากนั้น เปิดเครื่องตรวจ ทำการบันทึกภาพคลื่นไฟฟ้าสมองบนกระดาษกราฟ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการบันทึกภาพคลื่นไฟฟ้าสมอง โดยใช้เวลาการตรวจประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง
ระหว่างการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง มีการทำอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง?
วิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง แบ่งออกเป็นระยะต่างๆ ดังนี้
- การบันทึก (การตรวจ) ขณะผู้ป่วยตื่น ระหว่างบันทึก ผู้ป่วยควรนอนนิ่งๆ ไม่ควรพูดคุย เพราะจะทำให้เกิดศักย์ไฟฟ้ารบกวนคลื่นไฟฟ้าสมองได้ ในระหว่างการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองนั้น จะมีขั้นตอนที่จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าสมอง เพื่อนำมาใช้ประ กอบในการแปลคลื่นไฟฟ้าสมอง ได้แก่
-
การลืมตาและการหลับตา (Eye close and eye open) เจ้าหน้าที่จะบอกให้ผู้ป่วยลืมตาและหลับตาเป็นช่วงๆ ตลอดระยะเวลาการบันทึก
-
การหายใจแรงลึก (Hyperventilation) ให้ผู้ป่วยหายใจแรงลึกและรวดเร็ว ติดต่อกันเป็นเวลา 3 นาที การหายใจแรงลึกและรวดเร็วที่ถูกต้อง จะทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง ซึ่งจะก่อให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง เกิดภาวะสมองขาดเลือดและขาดออกซิเจน ซึ่งกรณีที่สมองมีความผิดปกติจะก่อให้เกิดคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติตามมา หรืออาจจะก่อให้เกิดอาการชักตามมาได้ นอกจากนี้ ในขณะที่ทำการหายใจแรงลึก ยังอาจมีอาการที่เป็นผลข้างเคียง เช่น มึนงง (วิงเวียน) ชั่วขณะ หรืออาจมีอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า ซึ่งจะหายเองภายใน 2-3 นาที
อนึ่ง ในการตรวจ ทุกๆคนไม่จำเป็นต้องตรวจช่วงหายใจแรงลึกทุกคน เพราะบางกรณี/บางคน ก็มีข้อห้ามหรือไม่จำเป็นต้องทำ เพราะจะทำให้อาการของโรคต่างๆที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น หรือมีอาการจากผลข้างเคียงดังกล่าวแล้วที่รุนแรง ซึ่งข้อห้ามในการตรวจช่วงหายใจแรงลึก มีดัง นี้
- ถ้า EEG มีความผิดปกติมากอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติมากขึ้น
- มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง เพราะอาจทำให้เกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะเป็นรุนแรงขึ้น (Rebound phenomenon)
- มีประวัติของอาการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เกิดขึ้นภาย ใน 2 สัปดาห์ก่อนตรวจ
- ภายหลังการผ่าตัดสมอง (Craniectomy)
- ปวดศีรษะไมเกรนที่มีภาวะแทรกซ้อน (Complicated migraine) เช่น มีอาการอ่อนแรงของแขนข้างใดข้างหนึ่ง หรือการเคลื่อนไหวลูกตาผิดปกติ (Opthalmoplegic migraine)
- ความดันโลหิตสูงรุนแรง หรือ Hypertensive encephalopathy
- มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด/กล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) ใน 4 สัปดาห์ ก่อนการตรวจ
- มีภาวะหัวใจวาย
- มีภาวการณ์เต้นของหัวใจช้าผิดปกติ (Heart block)
- โรคปอด
- อายุมากกว่า 60 ปี
- การกระตุ้นด้วยแสงไฟ (Photic stimulations) การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองนั้น จะมีการกระตุ้นด้วยแสงไฟที่เปิดและปิดเป็นจังหวะด้วยความถี่ที่แตกต่างกัน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมอง ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยโรคลมชักได้
ก่อนตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
การเตรียมตัวสำหรับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองนั้นไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องอดน้ำ อดอาหาร ไม่มีการใช้ยาแก้ปวด หรือการฉีดยาร่วมด้วย เป็นการตรวจแบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาล โดยมีการเตรียมตัว ดังนี้
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองใช้เวลานานเท่าไหร่?
ระยะเวลาการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
การตรวจมีความเสี่ยงหรือไม่?
โดยปกติแล้วการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเป็นวิธีการตรวจที่ทำได้ง่ายและสะดวก ไม่มีความเสี่ยงหรืออันตรายใดๆ ไม่มีความเจ็บปวด แต่ในระหว่างการบันทึกจะมีขั้นตอนที่จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมองดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ขั้นตอนการตรวจที่ทำเพิ่มเติม เช่น การหายใจแรงลึก การกระตุ้นด้วยแสงไฟกระพริบ ซึ่งอาจเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดอา การชักได้ และขณะที่ผู้ป่วยหายใจแรงลึก อาจจะมีอาการชาที่ปลายมือและ/หรือที่ปลายเท้า อาจจะมีเสียงดังในหูหรือมีตาพร่าได้ แต่อาการเหล่านี้จะหายไปและกลับสู่ภาวะปกติ ภายใน 2-3 นาที
ดูแลตนเองหลังการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองอย่างไร?
หลังการตรวจ แนะนำผู้ป่วยให้ใช้น้ำอุ่นในการสระผม (แชมพู ใช้ได้ตามปกติ) เนื่องจากครีมที่ใช้ติดขั้วไฟฟ้ามีความเหนียว แต่ไม่ต้องมีการดูแลอะไรเป็นพิเศษ รวมทั้งในเรื่องต่างๆ เช่น อาหาร น้ำดื่ม และการออกกำลังกาย
จำเป็นต้องมาพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
หลังการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง แพทย์จะนัดให้ผู้ป่วยมาฟังผลการตรวจ หากผู้ป่วยมีอา การชักถี่มากขึ้น ก็สามารถมาพบแพทย์ก่อนนัดได้ แต่ทั้งนี้ อาการไม่ได้เกิดจากการตรวจ แต่เป็นอาการของโรคที่อาจเกิดจากการควบคุมโรคยังไม่ดีพอ
ค่าตรวจแพงหรือไม่?
ราคาค่าตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองที่โรงพยาบาลของรัฐบาลประมาณ 1,800–2,500 บาท ซึ่งอยู่ในสิทธิ์การรักษาทั้งสามกองทุนครับ คือท่านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย ส่วนโรงพยาบาลเอก ชน ราคาค่าตรวจจะสูงกว่านี้
สรุป
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เป็นการตรวจที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีอันตราย ตรวจได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ไม่มีการฉีดยา หรือกินยาแก้ปวด และไม่ต้องอยู่โรงพยาบาล
เมื่อท่านทราบรายละเอียดดีแล้ว ผมหวังว่าท่านคงตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองด้วยความสบายใจ โชคดีครับ