คุยกับหมอสมศักดิ์ เทียมเก่า ตอน: พบแพทย์ที่ห้องตรวจหรือที่แผนกฉุกเฉิน
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 15 ธันวาคม 2560
- Tweet
ระบบบริการทางการแพทย์เฉพาะผู้ป่วยนอกนั้นจะมี 2 ส่วน คือ การบริการตามปกติ ภายในเวลาราชการ หรือที่เรียกว่า ผู้ป่วยนอก (OPD: out patient department) อีกส่วนหนึ่ง คือ การบริการแผนกฉุกเฉิน หรือแผนกอุบัติเหตุ และฉุกเฉิน (AE: accident and emergency, ER: emergency room) เวลาที่เจ็บป่วยจะไปรับการรักษาส่วนไหนดี
1. กรณีการเจ็บป่วยนั้นไม่รุนแรง ไม่เร่งด่วน รอได้ ก็ควรเข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก เช่น ปวดท้องมาหลายวันแล้ว จุกๆ แน่น ๆ เป็นไข้หวัด เป็นต้น
2. กรณีการเจ็บป่วยนั้นรุนแรงเป็นแบบปัจจุบันทันด่วน ก็ต้องเข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉิน ทันที ไม่ว่าจะเป็นในเวลาหรือนอกเวลาราชการ
3. กรณีผู้ป่วยนัด ผู้ป่วยเก่าต่อเนื่อง ถ้ามารักษาตามนัดก็ต้องเป็นแผนกผู้ป่วยนอก ถ้ามาผิดนัด เนื่องจากไม่สะดวกตามนัด ก็ต้องดูว่าเดิมนั้นแพทย์นัดในวันไหนของสัปดาห์ เช่น นัดวันจันทร์ก็ควรพบแพทย์ในวันจันทร์ในสัปดาห์ต่อไป เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ก็จะออกตรวจผู้ป่วยในลำดับวันเดิมๆ ของสัปดาห์ หรือถ้าสอบถามแพทย์ล่วงหน้าไว้ก่อนว่าถ้าไม่ว่างมาตามนัด จะทำอย่างไร
4. กรณีประสบอุบัติเหตุ ก็ต้องพบแพทย์ที่แผนกฉุกเฉิน
5. กรณีไม่มั่นใจว่าควรพบแพทย์ที่แผนกฉุกเฉินหรือแผนกผู้ป่วยนอก ให้สอบถามเจ้าหน้าที่แผนกคัดกรองว่าอาการดังกล่าวนั้นควรเข้ารับการตรวจที่แผนกใด
อาการอะไรที่เรียกว่าอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ผมอยากบอกว่าไม่มีเกณฑ์ที่สามารถบอกได้ครอบคลุมทั้งหมด ผมยกตัวอย่างต่อไปนี้ที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าควรเป็นกรณีฉุกเฉิน ได้แก่ อาการใดๆ ที่เป็นขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วน เป็นขึ้นมาทันที ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน และมีอาการรุนแรงจนทนไม่ได้ อาการเป็นลม ล้มหมดสติ อาการแขนขาอ่อนแรงทันที ปวดหัวทันทีแบบรุนแรงสุดๆ อาการตาบอด มองไม่เห็นทันที อาการหูดับทันที อาการหน้ามืดเป็นลม อาการท้องเสียอย่างรุนแรง อาการชักหมดสติ อุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดแผล ความเจ็บปวด กระดูกหัก หรืออาการอะไรก็ตามที่ทำให้สัญญาณชีพผิดปกติ หยุดหายใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
ถ้าเราไม่มั่นใจว่าอาการตนเองนั้นเป็นภาวะฉุกเฉินหรือไม่ ก็ให้ไปพบแพทย์ที่แผนกฉุกเฉินก่อน เพื่อให้มีการคัดกรองว่าเป็นภาวะฉุกเฉินหรือไม่ ถ้าการคัดกรองแล้วว่าไม่ใช่ฉุกเฉิน ก็จะได้รับคำแนะนำให้มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก ก็ขอให้เรายอมรับผลการคัดกรองดังกล่าว อย่าถกเถียงกับเจ้าหน้าที่ว่าอาการของเรานั้นฉุกเฉิน ต้องตรวจให้เรา ไม่ยอมไปที่แผนกผู้ป่วยนอก เกิดความขัดแย้งกันได้
อีกอย่างหนึ่งที่ผมพบเห็นเป็นประจำ คือ การที่ผู้ป่วยบางรายไม่สะดวกเวลากลางวัน จะมาหาหมอกลางคืนนอกเวลาราชการตลอด ตรงนี้ผมอยากขอร้องให้เข้าใจระบบการบริการของโรงพยาบาลด้วย เพื่อที่จะลดความแออัดของผู้ป่วยที่แผนกฉุกเฉิน ถ้าเราไม่ได้ป่วยแบบฉุกเฉิน ขอความร่วมมือให้มารับบริการแบบผู้ป่วยนอกเวลาราชการ หรือคลินิกพิเศษก็ได้ครับ ซึ่งในเกือบทุกโรงพยาบาลเปิดบริการระบบพิเศษนี้ เพื่อความสะดวกของผู้รับบริการที่ไม่สะดวกมาตรวจในเวลาปกติ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง แต่ก็ช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยนอกเวลาที่ห้องตรวจฉุกเฉิน และผู้ป่วยเองก็ได้รับความสะดวกเพิ่มเติมด้วยครับ ช่วยๆ กันครับ เพื่อให้ผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริงๆ ดีรับการรักษาที่ดีและรวดเร็วครับ