คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน แพทย์ไทยทำงานหนักไปหรือเปล่า

somsaktalk-4


      

      หลายต่อหลายครั้งในแต่ละปีที่จะมีข่าวหมอประสบอุบัติเหตุรถประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต โดยส่วนใหญ่จะเป็นหมอที่จบการศึกษามาไม่นาน และเป็นเวลาหลังจากลงเวรดูรักษาผู้ป่วยมาทั้งคืน เนื่องจากการหลับในหรือความง่วงส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าในแต่ละวันนั้นหมอเราทำงานตลอดเวลา ลองดูครับแล้วท่านจะเข้าใจหมอมากขึ้น

      1. การทำงานประจำมี 2 ส่วน คือ การออกตรวจผู้ป่วยนอก (OPD: โอพีดี) และการให้การรักษาผู้ป่วยในหอผู้ป่วย (IPD : ไอพีดี) การออกตรวจผู้ป่วยนอกก็จะออกตรวจตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00-12.00 น. หรือจนกว่าผู้ป่วยจะหมด ส่วนผู้ป่วยในก็ต้องให้การดูแลตั้งแต่เช้าก่อนที่จะมาออกตรวจผู้ป่วยนอก ถ้าผู้ป่วยในมีจำนวนมากก็จะต้องรีบมาดูผู้ป่วยตั้งแต่เช้าเลยก็มี ส่วนใหญ่แล้วจะมาดูผู้ป่วยในประมาณ 7.30 หรือ 8.00 น. ถึงเวลา 9.00 น. แล้วก็ไปออกตรวจผู้ป่วยนอกต่อ

      2. งานบริการรักษาผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่ง คือ การออกเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน เข้าห้องผ่าตัด ออกตรวจผู้ป่วยเฉพาะโรคในช่วงบ่ายของแต่ละวัน

      3. งานด้านคุณภาพของโรงพยาบาล ซึ่งเวลาส่วนใหญ่ก็คือ การประชุม งานด้านเอกสาร

      4. การดูแลรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการ หรือการอยู่เวรตั้งแต่เวลา 16.30 ถึงเช้า คือ ประมาณเวลาประมาณ 6.00 น. ของวันใหม่ ถ้าวันไหนอยู่เวร ก็ต้องทำงานตั้งแต่เช้าวันนี้ถึงเช้าวันรุ่งขึ้น และต้องรีบไปอาบน้ำ ทานอาหารเช้า เพื่อเตรียมตัวทำงานในวันรุ่งขึ้นจนเย็น

      5. งานด้านบริหารอีกที่หมอส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถ แต่ต้องทำ ก่อให้เกิดความเครียดพอสมควร

      6. การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ

      ดังนั้นจะเห็นว่าในบางวันแพทย์ต้องทำงานต่อเนื่องถึง 36 ชั่วโมง ถึงแม้ว่าการอยู่เวรจะได้นอน แต่ก็ต้องพร้อมลุกขึ้นมาดูคนไข้ทันทีเมื่อมีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแล ซึ่งประเด็นนี้ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน การตื่นตัวและการมีสติในการใช้ชีวิต รวมทั้งการขับขี่รถยนต์ด้วย ผมหวังว่าบทความนี้จะทำให้คนทั่วไปในสังคมเข้าใจการทำงานของแพทย์เรามากขึ้นครับ