logo

คำถามจาก วิกิยา

Home / FAQ ยา/ ยาบํารุงสมอง

คำถามเกี่ยวกับยา

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ยาบํารุงสมอง

ยาบำรุงสมอง (Smart drugs หรือ Cognitive enhancers) หรือในที่นี้คือกลุ่มยานูโทรปิก (Nootropic drug) เป็นกลุ่มสารประกอบ อาจจะเป็นยาหรือเป็นอาหารเสริมที่ช่วยกระบวนการรับรู้ของสมอง (Cognitive enhancers) เช่น ความจำ ความคิดสร้างสรรค์ หรือแรงจูงใจต่างๆ ปกติพบการใช้ยานี้กับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ทั้งนี้ ทางคลินิกยังไม่มีข้อสรุปว่ายากลุ่มนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองจริงหรือไม่ โดยกลไกของการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงของกลุ่มยานูโทรปิกจะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับธรรมชาติและโครงสร้างของตัวยาแต่ละชนิด ซึ่งสามารถแบ่งยานูโทรปิกออกเป็นกลุ่มย่อยได้ดังนี้

ก. กลุ่มกระตุ้นประสาท (Stimulants): เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นต่อสมองโดยตรง หรือช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองภายใต้กระบวนการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองอย่างมีสมดุล ขนาดการใช้ยากลุ่มนี้มักจะเป็นปริมาณที่ต่ำ เพราะการใช้ยากลุ่มนี้ขนาดสูงเพื่อกระตุ้นการทำงานของประสาทจะส่งผลตรงกันข้าม กล่าวคือจะทำให้สมองสูญเสียกระบวนการรับรู้และไม่สามารถควบคุมระบบประสาทของตนเองได้อีกต่อไป ตัวอย่างของกลุ่มยาในหมวดนี้ เช่น Amphetamine, Methylphenidate, Eugeroics, Xanthines และ Nicotine

ข. เรสแตมส์ (Racetams): เป็นอีกหมวดหนึ่งของยานูโทรปิกที่มีคุณสมบัติเสริมสร้างกระบวนการรับรู้ของสมอง มีขายตามร้านขายยาทั่วไป หนึ่งในกลไกการออกฤทธิ์ของยาหมวดเรสแตมส์คือ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในสมองโดยยับยั้งการรวมตัวของลิ่มเลือดที่อาจก่อตัวหรืออุดกั้นหลอดเลือด จึงทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมองทำได้ไม่ดีพอ จากกลไกดังกล่าวจึงสามารถใช้ช่วยบำบัดอาการความจำเสื่อม อารมณ์ซึมเศร้าและวิตกกังวล ทั้งนี้ อาจพบผลข้างเคียงของการใช้ยาในกลุ่มนี้ได้ เช่น รู้สึกวิตกกังวลมากขึ้น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ตัวสั่น ซึมเศร้ามากขึ้น และอ่อนแรง ตัวอย่างของยาในหมวดนี้ เช่น Piracetam, Etiracetam, Oxiracetam และ Aniracetam

ค. โภชนเภสัช (Nutraceutical): เป็นกลุ่มสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยบำบัดอาการเจ็บป่วยคล้ายกับเป็นยาหรือใช้รักษาโรค ปกติจะจำหน่ายในลักษณะของอาหารเสริม ซึ่งพบเห็นได้มากมายหลายยี่ห้อในท้องตลาด มีการทำวิจัยและค้นคว้าเกี่ยวกับโภชนเภสัชจนมีข้อสรุปออกมาเป็นจุดขายว่า ช่วยกระบวนการเพิ่มความจดจำของสมอง ทำให้ผ่อนคลาย ลดอาการเหนื่อยเพลีย แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มที่มีความเห็นตรงกันข้ามว่า โภชนเภสัชดังกล่าวไม่มีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้างมา ตัวอย่างของกลุ่มโภชนเภสัชดังกล่าว เช่น พรมมิ (Bacopa monnieri), โสม (Panax ginseng) แปะก๊วย (Ginkgo biloba)

ง. กลุ่มอื่นๆ: เช่น Theanine, Tolcapone, Levodopa, Atomoxetin, Despiramine

อย่างไรก็ตาม ก่อนการเลือกใช้ยาในกลุ่มนูโทรปิกตัวใด ผู้บริโภคควรต้องปรึกษาแพทย์/เภสัชกรเพื่อทราบข้อเท็จจริง ข้อมูลด้านความปลอดภัยของตัวผลิตภัณฑ์ว่ามีความเหมาะสมกับผู้บริโภคหรือไม่

ผลข้างเคียงเท่าที่พบเห็นของยากลุ่มนูโทรปิกอาจเกิดที่ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ อ่อนแรง ปวดศีรษะ โดยอาการข้างเคียงจากยานี้จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับขนาดการกิน และ/หรือการใช้ยาในกลุ่มนี้ตรงกับอาการโรคหรือไม่