logo

คำถามจาก วิกิยา

Home / FAQ ยา/ ยาคุม

คำถามเกี่ยวกับยา

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ยาคุม

ยาคุมกำเนิดเป็นยาที่ช่วยยับยั้งการเกิดปฏิสนธิระหว่างไข่และเชื้ออสุจิ โดยมีลักษณะและกลไกการทำงานที่แตกต่างกันไปในแต่ละชนิด เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง เป็นต้น

ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน และโปรเจสติน) มีผลป้องกันการตั้งครรภ์โดยยับยั้งการตกไข่ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวมีสภาพไม่พร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน และทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิจึงทำให้ไม่สามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ในท่อนำไข่ได้

ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดทั่วโลก เนื่องจากหาได้ง่าย ใช้ได้สะดวก มีหลายราคา หลายชนิดให้เลือกใช้ มีอัตราการล้มเหลวจากการใช้ยาน้อย ยาเม็ดคุมกำเนิดแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ 1) ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม 2) ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีโปรเจสตินอย่างเดียว 3) ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน

ยาฉีดคุมกำเนิด เป็นวิธีการคุมกำเนิดโดยการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อในระยะเวลาที่กำหนด เป็นที่นิยมใช้ในสตรีที่ต้องการเว้นระยะการมีบุตร เพราะประสิทธิภาพดี ราคาถูก ยาฉีดคุมกำเนิดที่มีในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) ยามีฮอร์โมนชนิดเดียว เป็นฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว 2) ยามีฮอร์โมนรวม คือ มีทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนเละโปรเจสติน

ยาฝังคุมกำเนิด เป็นวิธีการคุมกำเนิดโดยการฝังฮอร์โมนเพศหญิงที่ทำเป็นแท่งเล็กๆ เข้าไปที่ใต้ผิวหนังใต้ท้องแขนด้านที่ไม่ถนัด ซึ่งฮอร์โมนนี้จะค่อยๆ ซึมผ่านออกมาจากแท่งยาเข้าสู่ร่างกาย และไปทำการยับยั้งการเจริญเติบโตของฟองไข่ของสตรี ส่งผลทำให้ไม่มีการตกไข่ตามมา จึงสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ ฮอร์โมนนี้ยังทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ทำให้เชื้ออสุจิว่ายผ่านเข้าไปได้ยาก จึงช่วยลดโอกาสเกิดการผสมกับไข่ ยาฝังคุมกำเนิดจะประกอบด้วยฮอร์โมนเพศหญิงโปรเจสตินเพียงชนิดเดียว

ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง เป็นการคุมกำเนิดโดยใช้ยาฮอร์โมนที่เป็นแผ่นแปะซึ่งประกอบด้วยยาฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ยาในกลุ่มเอสโตรเจนสังเคราะห์และยาในกลุ่มโปรเจสติน ซึ่งเมื่อแปะบริเวณผิวหนังแล้วจะมีผลให้ตัวยาดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย โดยกลไกหลัก คือ ยาจะมีผลยับยั้งการตกไข่เช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดกินหรือชนิดยาฉีดคุมกำเนิด เพราะเป็นยาฮอร์โมนจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน ยานี้จะถูกผิวหนังดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างช้าๆ หลังจากแปะยาไปแล้วประมาณ 48 ชั่วโมง โดยระดับยาจะคงที่สม่ำเสมอ และระดับยาจะใกล้เคียงกันไม่ว่าจะแปะแผ่นยาที่บริเวณ สะโพก หน้าท้อง ต้นแขนด้านนอก หรือ แผ่นหลังด้านบน ทำให้มีการออกฤทธิ์อยู่ได้นาน ซึ่งยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังนี้ มีกลไกป้องกันการตั้งครรภ์หลักคล้ายกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดกิน กล่าวคือ ป้องกันการตกไข่ ป้องกันไม่ให้อสุจิผ่านเยื่อเมือกบริเวณปากช่องคลอดเข้ามาปฏิสนธิกับไข่บริเวณโพรงมดลูกและในท่อนำไข่ได้ และมีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางและไม่เหมาะสมในการฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิ