คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : ไส้ติ่งอักเสบ
- ส่วนใหญ่เกิดจากการอุดตันที่ไส้ติ่ง จากก้อนอุจจาระที่แข็ง
- เนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองที่ผนังไส้ติ่งหนาตัวขึ้น ตามการอักเสบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย
- สาเหตุอื่นๆ ที่พบได้น้อยกว่า เช่น พยาธิในลำไส้ (เช่น พยาธิตืดหมู) หรือเนื้องอก
อาการสำคัญ คือ ปวดท้องที่มีลักษณะ เช่น
ก. ระยะแรก: ระยะไส้ติ่งเริ่มอุดตัน: จะมีอาการ เช่น
- ปวดท้องกะทันหันและเป็นอาการเกิดก่อนอาการอื่นๆ
- มักปวดตำแหน่งรอบสะดือ ปวดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- มักมีอาการเบื่ออาหาร จุก แน่นท้อง เกิดร่วมด้วยตามมา
ข. ระยะต่อมา: ระยะไส้ติ่งบวมโป่งขึ้น เชื้อโรคขยายลุกลามถึงชั้นนอกของไส้ติ่ง อาการ เช่น
- ปวดท้องมากขึ้นในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่เกิน 1 - 2 วัน
- ย้ายตำแหน่งมาปวดที่ท้องน้อยด้านขวา
- การเคลื่อนไหว ไอ จาม ทำให้ปวดมากขึ้น
- อาจเกิดอาการท้องเสียหรือท้องผูก ในระยะนี้ก็ได้
ค. ระยะรุนแรง: ไส้ติ่งอักเสบแตกกระจายในช่องท้อง: เมื่อปล่อยไว้จนไส้ติ่งอักเสบแตก (พบได้บ่อยประมาณ 20%) หากไม่ได้รับการผ่าตัดออก จะเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนได้ 2 แบบ คือ
- ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อห่อหุ้มไส้ติ่งที่แตกนั้นไว้ ทำให้คลำได้มีก้อนเจ็บที่ท้องน้อย และมีไข้
เชื้อโรคและหนองกระจายไปทั่วท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ) อาจเข้ากระแสเลือดซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้
การผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกซึ่งคือการรักษาตามมาตรฐาน ส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ไม่ยุ่งยาก นอนโรงพยาบาล 2-3 วัน แต่กรณีไส้ติ่งอักเสบที่แตกแล้ว มักใช้เวลาที่นานกว่า และอาจเกิดแผลผ่าตัดติดเชื้อภายหลังได้
การรักษาไส้ติ่งอักเสบโดยหวังให้อาการดีขึ้นโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยหวังว่าการอุดตันที่ไส้ติ่งจะหลุดคลายออกไปได้เองนั้น พบได้น้อยมาก และมีความเสี่ยงสูงที่ไส้ติ่งแตกทะลุ ดังนั้นจึงควรผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ
ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคเร่งด่วน ต้องไปพบแพทย์ทันทีที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล และไม่ควรกินยาระบายหรือสวนอุจจาระ เพราะอาจทำให้ไส้ติ่งอักเสบนั้นแตกเร็วขึ้น