คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : ไทรอยด์
โรคของต่อมไทรอยด์ที่พบได้บ่อย คือ โรค/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน โรคคอพอก โรคปุ่มเนื้อต่อมไทรอยด์ และโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
ก. ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism): คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานสูงขึ้นผิดปกติจึงส่งผลให้มีฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย/ในเลือดสูงกว่าปกติ จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ขึ้น ทั้งนี้ อาการจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินที่พบบ่อย ได้แก่ ผอมลงทั้งๆ ที่กินจุ หัวใจเต้นเร็วและแรง เหงื่อออกมาก กล้ามเนื้อแขนและขาลีบ อุจจาระบ่อยขึ้น/ท้องเสีย ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ ผมเปราะแห้ง ผมร่วง มือสั่น หงุดหงิดง่าย กังวลเกินเหตุ อารมณ์แปรปรวน อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เป็นต้น
ข. ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนหรือโรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ (Hypothyroidism): ได้แก่ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติหรือเสียหายจากสาเหตุต่างๆ เช่น จากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ จึงส่งผลให้มีไทรอยด์ฮอร์โมนในร่างกาย/ในเลือดต่ำกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการต่างๆ ซึ่งที่พบบ่อย ได้แก่ ทนหนาวไม่ได้ ท้องผูก ประจำเดือนแต่ละครั้งมามากผิดปกติ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อ้วนฉุ เฉื่อย ช้า เสียงแหบ ผิวหนังดูหนากว่าปกติ ผิวแห้ง เล็บแตกง่าย ใบหน้า รอบดวงตา มือ เท้าบวม (โดยเฉพาะเมื่อตื่นนอน) ซึมเศร้า เป็นต้น
ค. โรคคอพอก (Goiter หรือ Goitre): คือ โรคต่อมไทรอยด์โต อาจโตเรียบทั่วทั้งสองกลีบ โตเรียบเพียงกลีบเดียว โตแบบเป็นตะปุ่มตะป่ำ หรือเป็นปุ่มก้อนเนื้อ อาจเกิดเพียงก้อนเนื้อเดียวหรือหลายๆก้อน เกิดกับต่อมไทรอยด์เพียงกลีบใดกลีบหนึ่งหรือกับทั้งสองกลีบพร้อมกัน มักมีสาเหตุจากขาดเกลือแร่ไอโอดีน ต่อมไทรอยด์จึงเพิ่มปริมาณเซลล์ให้มากขึ้น ต่อมจึงมีขนาดโตขึ้น
ง. โรคปุ่มเนื้อต่อมไทรอยด์ หรือ ก้อนเนื้อต่อมไทรอยด์ (Thyroid nodule): คือ ปุ่มเนื้อต่อมไทรอยด์ซึ่งเป็นปุ่มเนื้อที่ไม่ใช่เนื้องอกมะเร็ง
จ. โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid cancer): เป็นโรคมะเร็งพบบ่อยชนิดหนึ่งของคนไทย เป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ แต่พบได้ตั้งแต่ในเด็กโตไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงพบเป็นโรคได้สูงกว่าผู้ชายถึงประมาณ 3 - 4 เท่า เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ การได้รับรังสีในบริเวณต่อมไทรอยด์โดยเฉพาะในช่วงเป็นเด็ก
ก. ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน: การรักษาคือ การกินยาลดการทำงานของต่อมไทรอยด์ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ และ/หรือ การกินน้ำแร่รังสีไอโอดีน โดยจะเป็นวิธีการใดขึ้นกับ อายุ สุขภาพ ผู้ป่วย ดุลพินิจของแพทย์ และความสมัครใจของผู้ป่วย
ข. ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน: การรักษาคือ การกินยาไทรอยด์ฮอร์โมน และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น กินยาขับน้ำลดบวม (ยาขับปัสสาวะ) เป็นต้น
ค. โรคคอพอก: คือ รักษาตามสาเหตุของคอพอก เช่น รักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น
ง. โรคปุ่มเนื้อต่อมไทรอยด์: คือ การรักษาตามสาเหตุ เช่น รักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เป็นต้น
จ. เนื้องอกต่อมไทรอยด์: การรักษาคือ กินยาไทรอยด์ฮอร์โมน แต่เมื่อก้อนโตขึ้นหรือก้อนไม่ยุบหลังกินยา การรักษาคือ การผ่าตัดก้อนเนื้อหรือการผ่าตัดต่อมไทรอยด์
ฉ. โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์: การรักษาคือ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ และอาจร่วมกับการกินยาน้ำแร่รังสีไอโอดีน การฉายรังสีรักษา หรือยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรคมะเร็งและชนิดของเซลล์มะเร็ง