คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : เอดส์ HIV
เอดส์ (AIDS) เป็นชื่อโรค ย่อมาจากคำว่า Acquired immunodeficiency syndrome มีความหมายกว้างๆ ว่า “โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด” เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งย่อมาจากคำว่า Human immunodeficiency virus จัดเป็นไวรัสในกลุ่ม Retro virus ทั้งนี้การติดเชื้อไวรัสเอชไอวีระยะที่ 1 (ระยะติดเชื้อปฐมภูมิ) และระยะที่ 2 (ระยะติดเชื้อเรื้อรัง) ยังไม่เรียกว่าเป็นโรคเอดส์ แต่เมื่อโรคเข้าสู่ระยะที่ 3 ของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจึงจะเรียกว่าเป็นโรคเอดส์โดยสมบูรณ์
มีอาการผิดปกติจากเดิมเกิดขึ้น เช่น น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่งทั่วตัว มีไข้เรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง มีฝ้าขาวที่ลิ้น มีผื่นหรือเชื้อราตามผิวหนัง มีโรคงูสวัด แขนขาอ่อนแรง หรืออาการชัก
โรคเอดส์สามารถติดต่อได้โดยการได้รับเลือด และ/หรือสารคัดหลั่ง (Secretion) เช่น น้ำอสุจิ น้ำเมือกในช่องคลอด จากผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การมีเพศสัมพันธ์ (ประมาณ 78% ของการติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด) การใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดโดยใช้เข็มฉีดร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ (ประมาณ 20%) การสักผิวหนัง การเจาะส่วนต่างๆ ของร่างกาย การรับเลือดจากผู้อื่นที่มีเชื้อไวรัสอยู่ การติดต่อจากแม่ที่ติดเชื้อสู่ลูก เป็นต้น
- หาความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ให้มากที่สุด
- กินยาต้านไวรัส (Antiretroviral therapy) เป็นประจำ ตรงเวลา และอย่าให้ขาดยา
- ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโรคอื่นๆ จากผู้อื่น เช่น ไม่เข้าไปใกล้ชิดกับคนที่กำลังไม่สบาย ใช้หน้ากากอนามัยเสมอ หลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลหรือในสถานที่มีคนอยู่หนาแน่น
- รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง ผู้ที่ติดเชื้อแล้วจะยังไม่เกิดอาการรุนแรง หรือไม่มีอาการอยู่เป็นเวลานานประมาณ 7-10 ปี บางคนไม่มีอาการผิดปกติเป็นเวลานานกว่า 10 ปีก็มี ในช่วงเวลาเหล่านี้ควรออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เลิกดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ เลิกพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม หาวิธีลดความเคร่งเครียดทางจิตใจ
- ศึกษาวิธีป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น เช่น
- ใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และงดการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (Oral sex)
- ห้ามบริจาคโลหิตให้ผู้อื่น
- ผู้ติดเชื้อเพศหญิง ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์
- เมื่อผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล หรือผ่าตัด หรือคลอดบุตร ควรแจ้งให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบว่า ตนเองติดเชื้อ เพื่อบุคลากรทางการแพทย์จะได้ป้องกันอย่างถูกวิธี
- โรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อฉวยโอกาส: เช่น เชื้อราแคนดิดา (Candidiasis) เชื้อวัณโรค เชื้อไวรัสเริม (Herpes simplex) เชื้อไวรัสงูสวัด (Herpes zoster) เป็นต้น ซึ่งเชื้อฉวยโอกาสเหล่านี้มักจะทำให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะภายใน เช่น ปอด สมอง ตับ ไต ต่อมน้ำเหลือง และมักจะมีความรุนแรงของโรคมากกว่าปกติ รักษายากกว่าปกติ
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งคาโปสิซาร์โคมา รวมทั้งโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ
- โรคแทรกซ้อนทางสมอง ทำให้มีอาการทางสมองได้หลายอย่าง เช่น ซึม โวยวาย ความจำเสื่อม หมดสติ ชัก และ/หรือ อาการคล้ายโรคจิต เป็นต้น