logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ เนื้องอก

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : เนื้องอก

เนื้องอก หมายถึง ก้อนเนื้อผิดปกติที่เกิดขึ้นในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เกิดจากการแบ่งตัวเพิ่มปริมาณของเซลล์ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้อวัยวะที่มีเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนใหญ่เนื้องอกเวลาคลำดูจะมีความแข็งมากกว่าเนื้อปกติของอวัยวะนั้นๆ โดยมากถ้าเป็นอวัยวะปกติที่คลำได้ง่าย เช่น ผิวหนัง เต้านม อวัยวะเพศ ช่องปาก ต่อมไทรอยด์ ต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำเหลือง ทวารหนัก และอัณฑะ เมื่อเกิดเนื้องอกขึ้นมาจะเห็นและคลำได้ง่าย เพราะจะเห็นเป็นก้อนทำให้อวัยวะนั้นมีขนาดใหญ่ผิดปกติ แต่ถ้าเป็นเนื้องอกที่เกิดที่อวัยวะภายในลึกๆ จะสังเกตเห็นหรือคลำตรวจพบได้ยากมากจนกว่าจะมีขนาดใหญ่มากแล้ว เช่น ปอด ตับ ไต มดลูก สมอง ตับอ่อน ม้าม ต่อมลูกหมาก และ กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

เนื้องอกแบ่งใหญ่ๆเป็น 2 ชนิดคือ เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง ไม่ใช่มะเร็ง (Benign tumor / Benign neoplasia) อีกชนิดคือ เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือที่เรียกว่าโรคมะเร็ง (Malignant tumor / Malignant neoplasia / Cancer)

เนื้องอกทั้งสองชนิดนี้มีความแตกต่างกันในพฤติกรรมของเซลล์ของเนื้องอก ได้แก่ เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงจะโตช้าๆ เพราะเซลล์ของเนื้องอกแบ่งตัวช้า ไม่ค่อยมีการแทรกตัวเข้าไประหว่างเซลล์ปกติ ไม่ค่อยมีการทำลายเซลล์ปกติใกล้เคียง และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่มีการกินทะลุเข้าไปในหลอดเลือดและท่อน้ำเหลือง ทำให้ไม่มีโอกาสที่เซลล์เนื้องอกจะแพร่กระจายตามหลอดเลือดและท่อน้ำเหลืองไปเติบโตเป็นก้อนที่อวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไปได้ จึงเป็นโรคที่มักรักษาได้หายโดยเพียงการผ่าตัด

ในทางตรงกันข้าม เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือโรคมะเร็ง จะมีขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเซลล์มะเร็งแบ่งตัวเพิ่มปริมาณเร็วมาก เซลล์มะเร็งจะเบียดแทรกตัวเข้าไปอยู่ระหว่างเซลล์ปกติใกล้เคียงและทำลายเซลล์ปกติเหล่านั้นด้วย ที่สำคัญที่สุดคือ เซลล์มะเร็งสามารถแทรกตัวทะลุเข้าไปในหลอดเลือดและท่อน้ำเหลืองได้ และอาศัยการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลือง นำพาเอาเซลล์มะเร็งเหล่านี้แพร่กระจายไปเจริญเติบโตเป็นก้อนมะเร็งก้อนใหม่ที่อวัยวะอื่นๆ ได้ ( Metastasis) ดังนั้นโรคมะเร็งจึงเป็นโรคเรื้อรัง รุนแรง มีการรักษาที่ซับซ้อนและต่อเนื่อง

  • ได้รับสารเคมีบางอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง เช่น จากสารพิษในควันบุหรี่ สารพิษในแอลกอฮอล์ สารพวกสีย้อมผ้าต่างๆ จากยาบางชนิด เช่น ยาสารเคมีที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง
  • ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเอชพีวีที่เป็นสาเหตุเกิดโรคหูด
  • ติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชื้อเอชไพโลริในกระเพาะอาหาร (โรคติดเชื้อเอชไพโลไร)
  • ติดเชื้อพยาธิบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ตับ
  • ได้รับรังสีบางชนิด เช่น เนื้องอกต่อมไทรอยด์จากได้รับรังสีจากสารไอโซโทป กรณีอุบัติเหตุต่อโรงงานที่ใช้พลังงานปรมาณู
  • มีพันธุกรรมผิดปกติ

เมื่อสงสัยมีเนื้องอกเกิดขึ้นในร่างกายของเรา เราควรจะสังเกตเบื้องต้นว่า ก้อนนี้มีมานานเท่าใด เจ็บปวดหรือไม่ นุ่มหรือแข็ง สัมพันธ์กับอาการ หรือ ภาวะอื่นๆ ของร่างกายหรือไม่ เช่น มีไข้ร่วมด้วยหรือไม่ สัมพันธ์กับการมีประจำเดือนหรือไม่ เป็นต้น เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปแจ้งให้แพทย์ผู้ตรวจรักษาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องตามขั้นตอนทางการแพทย์ต่อไป ซึ่งเมื่อมีก้อนเนื้อผิดปกติเกิดในตำแหน่งใดก็ตาม ไม่ว่าจะมีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ก้อนเล็กหรือก้อนใหญ่ควรรีบพบแพทย์ภายใน 1-2 สัปดาห์เสมอ เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย