คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : เกาต์
โรคเกาต์ (Gout) มีสาเหตุเกิดจากมีกรดยูริคในเลือดสูง จนส่งผลให้เกิดการตกผลึกของกรดยูริค (Uric acid crystal) ในข้อต่างๆ จึงเป็นผลให้ข้ออักเสบ เกิดอาการ บวม แดง ร้อน ปวด และเจ็บเมื่อสัมผัสถูกต้อง โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคเกาต์ที่พบบ่อย ได้แก่ปัจจัยที่ทำให้มีกรดยูริคในเลือดสูง เช่น
- กินอาหารมีสารพิวรีนสูงต่อเนื่องเป็นประจำ / กินอาหารที่หมักด้วยยีสต์
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์ / เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล Fructose สูง
- เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เพราะโรคเหล่านี้มีความผิดปกติในการสันดาปสารต่างๆ จึงมักส่งผลให้มีกรดยูริคในเลือดสูง
- เป็นโรคต่อมไร้ท่อบางชนิด เพราะส่งผลให้มีกรดยูริคในเลือดสูง เช่น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ส่งผลให้ไตขับกรดยูริคออกทางปัสสาวะน้อยลง เช่น ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ
- โรคไต เพราะไตทำงานต่ำลง จึงขับกรดยูริคออกน้อยลง
- อาจเกิดจากพันธุกรรม (พบโรคในผู้ชายได้สูงกว่าในผู้หญิง)
โรคเกาต์มักเกิดอาการกับข้อเพียงข้อเดียว อาการจะค่อยดีขึ้นภายหลังการรักษาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่เมื่อควบคุมโรคได้ไม่ดี โรคจะย้อนกลับมาอีก และเป็นๆ หายๆ กลายเป็นการอักเสบเรื้อรังของข้อ โดยอาการพบบ่อยของโรคเกาต์ ได้แก่
- มักเกิดอาการกับข้อเพียงข้อเดียว (แต่สามารถเกิดได้กับหลายๆ ข้อ)
- ข้อที่เกิดโรค อักเสบ บวม แดง ร้อน ปวดมาก และเจ็บมากเมื่อสัมผัสถูกต้อง (มีข้อบวมเพียงด้านเดียวของร่างกาย-ซ้ายหรือขวา)
- ข้อที่เป็นโรคเคลื่อนไหวไม่ค่อยได้เพราะเจ็บ ซึ่งการอักเสบมักเกิดอย่างรวดเร็วภายในหนึ่งวัน (การอักเสบเฉียบพลัน)
- ช่วงมีข้อบวมอาจมีไข้ได้
- อ่อนเพลีย
- เมื่อกลายเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง ผลึกของกรดยูริคอาจเข้าไปจับรอบๆ ข้อ และ/หรือ ตามเนื้อเยื่อต่างๆ ที่ไม่ใช่ข้อ เกิดเป็นก้อน/เป็นปุ่ม เช่น ที่ใต้ผิวหนัง และที่ใบหู เรียก ว่า ‘ปุ่มโรคเกาต์ (Tophus หรือ Tophi)’
เกาต์เทียม (Pseudogout) คือ โรคที่เกิดจากการสะสมผลึกสารเคมีชื่อ ‘Calcium pyrophosphate’ ในข้อต่อต่างๆ โดยยังไม่ทราบสาเหตุเกิดโรคที่ชัดเจน โรคนี้มีอาการคล้ายโรคเกาต์ (แต่โรคเกาต์เกิดจากการสะสมผลึกของกรดยูริค) ปัจจัยเสี่ยงของโรคเกาต์เทียมที่พบบ่อย ได้แก่
- โรคที่มีฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์สูงผิดปกติ
- โรคที่มีการสะสมธาตุเหล็กในร่างกายมากผิดปกติ (Hemochromatosis)
- โรคที่มีฟอสฟอรัสในเลือดต่ำกว่าปกติ
- โรคที่มีแมกนีเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ (Hypomagnesemia)
- โรคอื่นๆ ที่พบว่าอาจทำให้มีโอกาสเป็นเกาต์เทียมได้มากขึ้น เช่น โรคเกาต์ โรคข้อเสื่อม ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ
- มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบนโครโมโซมแท่งที่ 5 หรือ 8 (เพศหญิงพบบ่อยกว่าเพศชาย)
ผู้เป็นโรคนี้ มีทั้งผู้ที่ไม่มีอาการ หรือ ที่มีอาการของข้ออักเสบเฉียบพลันเหมือนกับโรคเกาต์ชนิดเฉียบพลัน หรือมีอาการปวดข้อแบบเรื้อรังก็ได้ ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่จะต้องตระหนัก คือ
- ผู้ป่วยอาจเป็นทั้งข้ออักเสบเฉียบพลันจากโรคเกาต์เทียมและจากโรคเกาต์ร่วมกันได้
- อาจเป็นโรคข้อเสื่อมอยู่แล้วและเกิดข้ออักเสบเฉียบพลันจากโรคเกาต์เทียมขึ้นมาก็ได้