logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ อีสุกอีใส

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : อีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใสเป็นโรคติดต่อได้อย่างรวดเร็วมาก แต่น้อยกว่าโรคหัด ทั้งนี้เกิดจากการสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วยทั้งจากละอองเชื้อในอากาศ จากละอองการไอ จาม การหายใจ และจากการสัมผัสเชื้อผู้ป่วยโดยตรง เช่น สัมผัสผื่นที่ผิวหนัง และ/หรือน้ำเหลืองจากตุ่มน้ำของโรค รวมไปถึงการสัมผัสเสื้อผ้า สิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ ของผู้ป่วย

ทั้งนี้ โรคอีสุกอีใสมีระยะฟักตัวประมาณ 10-21 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มแพร่เชื้อได้ในช่วงประมาณ 2-5 วันก่อนขึ้นผื่น ยาวไปจนถึงเมื่อตุ่มน้ำแห้งแตกเป็นสะเก็ดหมดแล้ว (การสัมผัสสะเก็ดแผลไม่ติดโรค) ดังนั้นระยะแพร่เชื้อในโรคอีสุกอีใสจึงนานได้ถึง 7-10 วันหรือนานกว่านี้ในผู้ใหญ่ จึงเป็นสาเหตุให้เป็นโรคติดต่อระบาดได้อย่างกว้างขวางถ้าไม่แยกผู้ป่วยให้ดี

มีไข้ได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ ปวดศีรษะ ปวดท้อง เจ็บคอ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบาย ประมาณ 1-2 วันหลังจากอาการดังกล่าว ไข้จะลง อาการต่างๆ ดังกล่าวดีขึ้น

  • แต่ผิวหนังจะขึ้นผื่นอย่างรวดเร็ว โดยผื่นจะขึ้นบริเวณใบหน้าและลำตัวก่อน ต่อจากนั้นจึงขึ้นไปที่หนังศีรษะ ที่แขนขา โดยผื่นขึ้นหนาแน่นในส่วนใบหน้าและลำตัว และอาจขึ้นในเยื่อบุช่องปากและผิวหนังของอวัยวะเพศภายนอก
  • ผื่นมีลักษณะเป็นผื่นแดง เม็ดเล็กๆ คันมาก
  • ต่อจากนั้นภายใน 1 วัน ผื่นจะกลายเป็นตุ่มพอง มีน้ำใสๆในตุ่ม (อาจเป็นหนองเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย) อาจมีตุ่มพองทยอยเกิดต่อเนื่องได้อีกภาย ใน 3-6 วัน และ
  • ต่อจากนั้น ผื่นจะแห้งตกสะเก็ดภายใน 1-3 วัน และสะเก็ดแผลจะค่อยๆ ลอกจางหายไปกลับเป็นปกติภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

โดยทั่วไปโรคอีสุกอีใสเป็นโรคไม่รุนแรง/มีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้หาย ถึงแม้จะติดต่อได้รวดเร็วก็ตาม ดูแลรักษาหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ และร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ไปจนตลอดชีวิตคือไม่ติดโรคนี้อีก ยกเว้นเมื่อเกิดภาวะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี

ตุ่มพองติดเชื้อแบคทีเรียกลายเป็นตุ่มหนองซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดแผลเป็นได้ โรคปอดบวม โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคสมองอักเสบ นอกจากนี้ เมื่อโรคหายแล้วเชื้อบางส่วนอาจยังไม่หมดไป แต่จะแฝงตัวอยู่ตามปมประสาทต่างๆ โดยเฉพาะลำตัว เมื่อแก่ตัวลงหรือมีภูมิต้านทานคุ้มกัน โรคต่ำจะก่อให้เกิดเป็นโรคงูสวัดได้

เมื่อฉีดวัคซีนอีสุกอีใสแล้ว เมื่อสัมผัสเชื้อนี้อีก มีโอกาสเป็นอีสุกอีใสได้ประมาณ 2-10% นอกจากป้องกันโรคได้แล้ววัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสยังช่วยลดโอกาสเกิดแผลเป็น และช่วยลดความรุนแรงของโรคเมื่อเกิดเป็นโรคอีสุกอีใสหลังฉีดวัคซีนแล้ว อย่างไรก็ตาม มีข้อห้ามไม่ให้ฉีดวัคซีนอีสุกอีใสใน

  • ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ต่างๆ ควรต้องปรึกษาแพทย์ เพราะอาจแพ้วัคซีนได้ (การแพ้ยา)
  • คนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เพราะวัคซีนเป็นชนิดวัคซีนเชื้อเป็น จึงอาจก่อการติดเชื้อรุนแรงได้ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีโรคเรื้อรังต่างๆ คนที่กินยากดภูมิคุ้มกัน หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจก่อให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อนี้ และเกิดความพิการแต่กำเนิดได้
  • เคยแพ้วัคซีนต่างๆ มาแล้วและ/หรือแพ้วัคซีนอีสุกอีใสเข็มแรกมาแล้ว