คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : อัลไซเมอร์
ประมาณ 7% มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมและสามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้ ผู้ที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมเหล่านี้จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่อายุน้อยกว่าคนที่ไม่ได้มีความผิดปกติทางพันธุกรรม นอกจากนี้พบว่าในผู้ป่วยโรคกลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome) ซึ่งมีความผิดปกติคือมีสารพันธุกรรมของโครโมโซมแท่งที่ 21 เกินมา หากมีชีวิตอยู่เกิน 40 ปี จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ในที่สุด
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เหลือไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่พบปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ เช่น อายุที่มากขึ้น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ เคยประสบอุบัติเหตุที่สมอง หรือสมองได้รับบาดเจ็บ เป็นโรคอ้วน เป็นโรคเบาหวาน (เพิ่มความเสี่ยงขึ้นประมาณ 3 เท่า) เป็นโรคความดันโลหิตสูง และเป็นโรคไขมันในเลือดสูง แต่ระดับการศึกษาและระดับสติปัญญาไม่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่าสารเคมีในธรรมชาติบางตัว เช่น อะลูมิเนียม ปรอท รวมทั้งไวรัสบางชนิด อาจเป็นสาเหตุของโรคนี้ แต่หลักฐานก็ยังไม่ชัดเจน
อาการของโรคนี้จะค่อยเป็นค่อยไป และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด โดยคร่าวๆ จะแบ่งอาการเป็น 1. ระยะก่อนสมองเสื่อม 2. สมองเสื่อมระยะแรก 3. สมองเสื่อมระยะปานกลาง และ 4. สมองเสื่อมระยะสุดท้าย
โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 8-10 ปี นับตั้งแต่มีอาการ ผู้ป่วยบางคนอาจมีการดำเนินของโรคเร็วกว่านี้ และบางคนมีอาการดำเนินช้ากว่านี้ได้ ในระยะแรกผู้ป่วยจะรู้สึกลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ในระยะหลังๆ ของโรค ภาระทางการเงินและความลำบากจะตกอยู่กับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดที่จะต้องดูแลผู้ป่วยตลอดเวลา โดยที่ผู้ป่วยก็ไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป เพราะความทรงจำต่างๆ ได้จางหายไปหมดแล้ว อีกทั้งนิสัยและพฤติกรรมก็เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้ใกล้ชิดเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด การรักษาด้วยยาอาจช่วยรักษาอาการที่เป็นได้มากน้อยแตกต่างกันไป แต่ไม่มียาตัวไหนที่จะสามารถชะลอหรือหยุดการดำเนินของโรคได้ ส่วนการรักษาทางจิตสังคม ได้แก่ การรักษาที่มุ่งเน้นการกระตุ้นสมอง เช่น ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด การบำบัดโดยอาศัยสัตว์เลี้ยง หรือการบำบัดด้วยการรำลึกถึงเรื่องราวในอดีต
1. ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการของความจำเสื่อมควรหยุดขับรถด้วยตนเองคนเดียว ไม่ควรไปยังสถานที่ไม่คุ้นเคยเพียงลำพังหรือไปทำธุระคนเดียวโดยเฉพาะหากเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ธุรกรรมทางการเงิน และเมื่อมีอาการมากแล้วจะต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา
2. ผู้ดูแลผู้ป่วยต้องพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อประเมินอาการต่างๆ ติดตามการใช้ยา และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
3. ผู้ป่วยควรพกป้ายประจำตัว หรือใส่สายข้อมือที่ระบุชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการพลัดหลงหากต้องออกนอกบ้าน หรือเกิดเดินหนีออกนอกบ้านไปคนเดียว
4. ภายในบ้านที่มีผู้ป่วยอยู่ควรมีการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและลดภาระต่อผู้ดูแลได้บ้าง เช่น การล็อกบ้านและรั้วไม่ให้ผู้ป่วยออกนอกบ้านไปคนเดียว การติดป้ายบนเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้านให้ชัดเจนโดยระบุว่าคืออะไร ใช้งานอย่างไร การติดป้ายหน้าห้องต่างๆ ให้ชัดเจนว่าเป็นห้องอะไร เป็นต้น
5. ไม่ควรจำกัดกิจกรรมและบริเวณที่ผู้ป่วยอยู่ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเครียด วิตกกังวล ควรหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ และควรเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้ที่ดูแลและคนที่อยู่ในบ้าน เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ผู้ป่วยสม่ำเสมอ
6. ขณะเดียวกันครอบครัวก็ควรต้องรู้จักดูแลตนเองจากภาระในการดูแลผู้ป่วยด้วย