คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : อหิวาตกโรค
อหิวาตกโรค (Cholera) คือโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ ‘วิบริโอ โคเลอรี (Vibrio cholerae)’ ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบของลำไส้เล็ก และส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรงจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาเป็นชั่วโมง เป็นโรคติดต่อที่เชื้ออยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย (แบคทีเรียสามารถอยู่ได้นานถึง 7 - 14 วัน) แล้วปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม น้ำแข็ง จากผิวน้ำในแหล่งน้ำดื่ม จากน้ำตามชายฝั่ง ชายคลอง น้ำใช้ เมื่อกินอาหารและ/หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระเหล่านี้ จึงก่อการติดโรค นอกจากนั้น อาจพบเชื้ออหิวาตกโรคได้ในอาหารทะเลโดยเฉพาะในหอย ในแพลงตอน (สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากที่อาศัยอยู่ในน้ำ) และในสาหร่าย
อหิวาตกโรค จะมีอาการหลังได้รับเชื้อแล้ว 2 - 3 ชั่วโมงไปจนถึงประมาณ 5 วัน (ระยะฟักตัวของโรค ทั่วไปประมาณ 2-3 วัน) ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณเชื้อที่ได้รับ และความรุนแรงของเชื้อซึ่งมีหลายชนิดย่อยที่มีความรุนแรงโรคต่างกัน โดยอาการสำคัญของอหิวาตกโรค คือ
- ท้องเสียเฉียบพลัน
- ท้องเสียเป็นน้ำโกรก มีเศษอุจจาระปนได้เล็กน้อย
- อุจจาระมีสีขาวเหมือนน้ำซาวข้าว
- อุจจาระมีกลิ่นเหม็นเหมือนคาวปลา
- อาจมีคลื่นไส้อาเจียนหรือไม่ก็ได้ และมักไม่มีไข้
นอกจากนั้น อาการอื่นๆ ที่พบร่วมได้ (ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ) คือ
- ปวดท้องแบบปวดบีบ
- อาการจากภาวะขาดน้ำและขาดเกลือแร่ที่ออกมาพร้อมกับอุจจาระ เนื่องจากอุจจาระเป็นน้ำอย่างมาก รวมทั้งเมื่อมีอาเจียนร่วมด้วย อาการจากการขาดน้ำและเกลือแร่ที่สำคัญคือ กระหายน้ำมาก รอบตาคล้ำลึกโบ๋ (ในเด็กอ่อนจะร้องไห้ไม่มีน้ำตาและมีกระหม่อมบุ๋ม) ปัสสาวะน้อย สีเหลืองเข้มมาก หรือไม่ถ่ายปัสสาวะเลย เหนื่อยอ่อนเพลียมาก ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ และโคม่าในที่สุด
- เมื่อรักษาได้ทันท่วงทีก่อนเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง โอกาสเสียชีวิตจากอหิวาตกโรคน้อยกว่า 1%
- กรณ๊ที่พบแพทย์ช้า โอกาสเสียชีวิตสูงถึงประมาณ 50 - 60% เพราะอาจถ่ายอุจจาระได้ถึงวันละ 10 - 20 ลิตร
แต่อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรคนี้ยังขึ้นกับ
- ชนิดย่อยของเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยอาจเสียชีวิตภายใน 2 ชั่วโมงหลังอาการท้องเสีย
- การได้รับเชื้อในปริมาณมาก
- สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยก่อนติดเชื้อ
- อายุ โดยโรคจะรุนแรงมากขึ้นในเด็กและผู้สูงอายุ
ในส่วนผลข้างเคียงจากโรคคือ ภาวะร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่