คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : หิด
โรคหิด (Scabies) เกิดจากตัวหิด เป็น ไร (Mite) ชนิดหนึ่งที่เป็นปรสิต (Parasite) อาศัยบนร่างกายคน โดยดำรงชีวิตอยู่บนผิวหนังของคน และกินเซลล์ผิวหนังเป็นอาหารโรคหิดมี 2 ประเภท ได้แก่
- ประเภทแรกเป็นโรคหิดที่มีตัวหิดอยู่บนร่างกายไม่มาก เรียกว่า โรคหิดต้นแบบ (Classic scabies) การติดหิดประเภทนี้เกิดจากการอยู่ใกล้ชิดและมีการสัมผัสผิวหนังกับผู้ที่เป็นหิดเป็นระยะเวลานาน เช่น อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กเดียวกัน ส่วนการจับมือหรือการกอดทักทายเพียงชั่วครู่ ไม่ได้ทำให้ติดหิด
- โรคหิดอีกประเภทหนึ่งคือ ชนิดที่มีหิดอยู่บนร่างกายปริมาณมากเรียกว่า โรคหิดนอร์เวย์ (Norwegian scabies) บุคคลที่จะเป็นหิดประเภทนี้ คือ คนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอัมพาต หรือผู้เป็นโรคทางระบบประสาทและสมองช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งการสัมผัสผิวหนังในทุกรูปแบบ รวมทั้งทางเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นหิด แม้เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ของคนกลุ่มนี้ก็อาจติดหิดมาได้
ผู้ที่ติดหิดครั้งแรก จะเริ่มแสดงอาการเมื่อได้รับหิดมาแล้วเป็นเวลา 2-6 สัปดาห์ (ระยะฟักตัวของโรค) แต่ในช่วงระยะเวลาที่ยังไม่มีอาการนี้ สามารถที่จะแพร่ตัวหิดให้ผู้อื่นได้ อาการที่เกิดจากหิด เกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายที่มีต่อทั้งตัวหิด ไข่หิด และขี้ของหิด (Scybala)
- อาการหลักคือ อาการคัน ซึ่งจะคันมากในช่วงกลางคืน ตำแหน่งของร่างกายที่หิดมักจะอยู่ คือ ตามง่ามนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก รอบสะดือ ท้อง เอว ก้น องคชาติ หัวนม จะไม่พบหิดที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ใบหน้า ศีรษะ และลำคอ เพราะชั้นผิวหนังบริเวณนี้หนาและมีไขมันมาก หิดจึงขุดผิวหนังได้ยาก ยกเว้นในเด็กทารกและเด็กอายุน้อยๆ ที่จะพบบริเวณนี้ได้ ในคนๆ หนึ่งจะมีหิดอาศัยอยู่ประมาณ 10-15 ตัว บางครั้งอาจสามารถมองเห็นตัวหิดซึ่งจะเห็นเป็นจุดกลมๆ ขาวๆ ได้ ผู้ป่วยบางคนอาจมีตุ่มนูนแข็งสีแดงขนาดใหญ่มากกว่า 0.5 ซม. โดยอาจมี 2-3 ตุ่มหรือหลายๆ ตุ่มขึ้นที่ผิวหนังโดยเฉพาะที่รักแร้และขาหนีบ เรียกว่า Nodular scabies ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อองค์ประกอบสารต่างๆ ของหิด แต่ไปปรากฏตรงผิวหนังตำแหน่งอื่นที่ไม่มีตัวหิดอยู่
- เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีหิดเพียงไม่กี่ตัว แต่เนื่องจากหิดชนิดนี้มักเกิดในคนที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ระบบประสาทและสมอง เป็นอัมพาต ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะสูญเสียการรับรู้ความรู้สึกของผิวหนัง จึงอาจไม่แสดงอาการคันให้เห็น ไม่มีรอยข่วนเกาบนผิวหนัง ไม่มีตุ่มนูนแดงหรือตุ่มน้ำใสปรากฏ หรือถ้าขยับแขนขาไม่ได้ ก็ย่อมเกาไม่ได้ จึงยิ่งทำให้ไม่มีใครสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยเป็นหิด จนกระทั่งเวลาผ่านไปนานเข้าโดยที่ไม่ได้รักษา หิดก็จะเพิ่มจำนวนจนอาจมีปริมาณมากถึง 2 ล้านตัวใน 1 คน ผิวหนังชั้นบนสุดของผู้ป่วยเหล่านี้จะมีการหนาตัวและมีสะเก็ดปกคลุม โดยจะเห็นชัดที่บริเวณ ข้อศอก ข้อเข่า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า
ผู้ที่เป็นหิดนานๆ แบคทีเรียบางชนิดที่อยู่บนผิวหนังจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นร่วมด้วย ได้แก่ แบคทีเรียชนิด Group A streptococci และชนิด Staphylococcus aureus ประกอบกับการข่วนเกา ก็จะทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนขึ้นมา กลายเป็นผิวหนังและเนื้อเยื่ออักเสบ เกิดฝีหนองได้ แต่ที่สำคัญคือ เมื่อเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้มีโอกาสทำให้เกิดโรคไตอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตเรื้อรังในอนาคต นอกจากนี้แบคทีเรียยังมีโอกาสทำให้เกิดโรคอื่น เช่น โรคกรวยไตอักเสบ โรคปอดอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งหากได้รับการรักษาล่าช้าก็มีโอกาสเสียชีวิตได้
การป้องกันการแพร่กระจายของหิด คือต้องนำผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน คู่นอนของตนเอง มารักษาไปด้วยพร้อมๆ กัน และการกำจัดหิดที่อาจหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้กลับเป็นหิดซ้ำ ได้แก่
- ของใช้ที่มีการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว ที่ใช้มาน้อยกว่า 3 วันที่แล้ว ก่อนที่จะได้ยารักษา จะต้องนำมาซักทำความสะอาด และต้องแช่น้ำร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 60 องศาเซลเซียส สำหรับสิ่งของที่นำมาซักล้างไม่ได้ ให้ใช้วิธีใส่ถุง พลาสติก และปิดปากถุงให้มิดชิด ทิ้งไว้อย่างน้อย 72 ชั่วโมงเพื่อให้ตัวหิดตายหมด แล้วจึงนำของใช้ดังกล่าวมาใช้ต่อได้
- ในกรณีที่เป็นของใช้ที่มีขนาดใหญ่ เช่น โซฟา พรม เก้าอี้ อาจใช้เครื่องดูดฝุ่นช่วยกำจัดได้
- ผู้ที่ต้องทำงานดูแลรักษาผู้ป่วย ควรสวมถุงมือทุกครั้งหากจะต้องสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการคัน และยังไม่ทราบสาเหตุ