logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ หลอดลมอักเสบ

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : หลอดลมอักเสบ

  • หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute bronchitis) ได้แก่ การอักเสบเฉียบพลันของหลอดลม ซึ่งประมาณ 90% เกิดจากการติดเชื้อไวรัส และประมาณ 10% เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้โดยทั่วไปมักมีอาการไอ มีเสมหะ และมีไข้ แต่อาการต่างๆ เหล่านี้มักหายภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางคนยังอาจมีอาการไอต่อเนื่องได้นานถึงประมาณ 4 -8 สัปดาห์จนกว่าร่างกายจะฟื้นตัวได้เต็มที่
  • หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) มักเป็นอาการไอเรื้อรังร่วมกับมีเสมหะเหนียวข้น โดยมีอาการเรื้อรังนานตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปใน 1 ปีและเกิดติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป สาเหตุหลักเกิดจากเยื่อเมือกหลอดลมได้รับการระคายเคืองต่อเนื่องเรื้อรัง เช่น จากการสูบบุหรี่ จากควันบุหรี่ และ/หรือจากมลภาวะในสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลอดลมอักเสบเรื้อรัง มักมีหลอดลมอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อแทรกซ้อนร่วมด้วยได้เสมอเป็นระยะๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงขึ้นมาก เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
  • อาการของหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ที่พบได้บ่อย คือ
    • ไอ มักมีเสมหะร่วมด้วย เสมหะอาจมีสีขาว ใส สีเหลือง เขียว เทา และสีอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเชื้อที่ก่อโรค
    • อาจร่วมกับ เจ็บระคายคอ เสียงแหบ
    • อาจมีไข้ มักมีไข้ต่ำๆ แต่มีไข้สูงได้
    • อ่อนเพลีย
  • อาการของหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ที่พบได้บ่อย คือ
    • ไอเรื้อรัง มีเสมหะเหนียวข้น มักมีสีเหลือง หรือเขียว บางครั้งอาจมีเสมหะเป็นเลือดได้ ทั้งนี้จะมีอาการนานต่อเนื่องตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปใน 1 ปี และมีอาการติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี มักร่วมกับประวัติการได้รับสารก่อการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ/หลอดลมเรื้อรัง เช่น สูบบุหรี่ หรือจากการงานอาชีพ
    • อาจหายใจมีเสียงหวีด
    • หายใจเหนื่อยหอบ หรือ หายใจลำบากเมื่อออกแรง
    • มีอาการของหลอดลมอักเสบเฉียบพลันร่วมด้วย เมื่อมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนร่วมด้วย
  • หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โดยทั่วไปเป็นโรคไม่รุ่นแรง มักรักษาได้หายเสมอภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไอต่อเนื่องได้อีกนานประมาณ 2-4 สัปดาห์ บางรายอาจถึง 8 สัปดาห์ได้ แต่ทั้งนี้มักไม่ใช่อาการไอรุนแรง อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องหรือต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอาจรุนแรงและ/หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ซ้ำซ้อน ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง คือ ปอดอักเสบ ปอดบวม และเป็นสาเหตุเสียชีวิตได้ประมาณ 5-10%
  • หลอดลมอักเสบเรื้อรัง มักเป็นโรคที่รักษาไม่หาย เพราะเมื่อเนื้อเยื่อหลอดลมเสียหายและถูกทำลายไปแล้ว มักจะเสียหายถาวร แต่การรักษาจะช่วยหยุดหรือชะลอการทำลายเพิ่มเติมลงได้ ดังนั้นการรักษาโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น จึงได้ผลในการควบคุมโรคได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่รักษาควบคุมโรคไม่ได้ หลอดลมและปอดจะค่อยๆ ถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และเกิดภาวะหายใจล้มเหลวซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
  • ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน คือ ผู้ที่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อโรคทางเดินหายใจ หรืออยู่ในถิ่น/ในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ และอยู่ในที่แออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน ค่ายผู้อพยพ ค่ายทหาร เป็นต้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และรู้จักใช้หน้ากากอนามัยเมื่อต้องใกล้ชิดผู้ป่วย หรือเมื่ออยู่ในที่แออัดในช่วงที่มีการระบาดของโรคทางเดินหายใจ
  • ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดลมอักเสบเรื้อรัง คือ สูบบุหรี่ ได้รับควันบุหรี่เรื้อรัง คนในเมืองที่ได้รับฝุ่นละอองหรือมลภาวะทางอากาศเรื้อรัง มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการมีมลภาวะในอากาศ เช่น ทำเหมืองแร่ เป็นต้น