logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ สายตา

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : สายตา

  • ภาวะสายตาสั้น: อาจเกิดจากกำลังหักเหของแสงของกระจกตาและแก้วตามากเกินไป หรือถ้ากำลังหักเหของแสงปกติ ก็อาจเกิดจากลูกตายาวเกินไปหรือตาโตเกินไป
  • ภาวะสายตายาว: อาจเกิดจากกำลังหักเหแสงของกระจกตาและแก้วตาน้อยเกินไป หรือจากลูกตาสั้นเกินไป (ตาเล็ก)
  • ภาวะสายตาเอียง: มักพบปนไปกับสายตาสั้นหรือสายตายาว ส่วนใหญ่เกิดจากความโค้งของกระจกตาในแต่ละแนวไม่เท่ากัน ทำให้แสงโฟกัสเกิดกระจายหลายจุด จึงส่งผลให้เห็นภาพไม่ชัดและปวดเมื่อยตา ส่วนน้อยเกิดจากแก้วตาซึ่งอยู่คลาดเคลื่อนไปจากที่ควร
  • สายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia): เกิดจากความสามารถในการมองระยะใกล้ลดลงตามอายุ (มองใกล้ไม่ชัด) มักเกิดในผู้ที่อายุตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป 

การแก้ไขสายตาผิดปกติทำได้หลายวิธี ได้แก่ การใช้แว่นตาตลอดจนเลนส์สัมผัส (Contact lens) ซึ่งเป็นการแก้ไขชั่วคราว การผ่าตัดซึ่งประกอบด้วยการผ่าตัดด้วยมีด การใส่เลนส์เสริมแก้วตา (Phakic intraocular lens) และใช้แสงเลเซอร์ (ที่เรียกกันว่า  Lasik) ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขแบบถาวร แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป

สำหรับความจำเป็นของการแก้ไขสายตาที่ผิดปกติ ขึ้นกับว่าความผิดปกติของสายตานั้นรบกวนหรือบั่นทอนภารกิจประจำวันหรือคุณภาพชีวิตก็ควรแก้ไข เช่น กรณีนักเรียนที่มีสายตาสั้นมองกระดานไม่ชัดเป็นผลทำให้ผลการเรียนตกต่ำลง หรือกรณีสายตาเอียงหรือสายตายาวที่แม้จะมองเห็นได้ชัดเจน แต่มีอาการปวดศีรษะปวดตาเป็นประจำ ทั้งสองกรณีก็จำเป็นต้องรับการแก้ไข

ในทางตรงข้าม แม้จะสายตาสั้นหรือตายาวหรือตาเอียงค่อนข้างมาก แต่ผู้นั้นไม่ต้องใช้สายตามองไกล ภารกิจประจำวันไม่เดือดร้อน ไม่มีอาการปวดตาเวลาใช้สายตา ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไข ยกเว้นกรณีที่สายตาผิดปกตินั้น อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบการทำงานอย่างอื่น เช่น สายตายาวจนก่อให้เกิดตาเข หรือสายตาผิดปกตินั้นอาจก่อให้เกิดภาวะ “ตาขี้เกียจ (ตามัว/Amblyopia)” ซึ่งหมายถึงการไม่รับรู้การเห็นอย่างถาวร มักพบเกิดในเด็ก โดยเป็นภาวะมักพบในสายตาผิดปกติที่ไม่เท่ากันระหว่างตา 2 ข้าง ในกรณีนี้ ควรรับการแก้ไขสายตาที่ผิดปกติอย่างเคร่งครัด เช่น การสวมแว่นตลอดเวลา ไม่ใช่ใส่ๆ ถอดๆ ทั้งนี้ โดยทั่วไปการแก้ไขสายตาผิดปกติในเด็กควรพิถีพิถันกว่าผู้ใหญ่ เพราะการแก้ไขที่ถูกต้องนอกจากช่วยให้สายตาดีขึ้นแล้วยังทำให้การพัฒนาการของสายตาดำเนินไปอย่างปกติด้วย

ในทางการแพทย์คำว่า “สายตายาว” หมายถึง อาการสายตายาวที่เกิดตั้งแต่อายุยังน้อยยังไม่ถึงวัยสูงอายุ ส่วนคำว่า “สายตาผู้สูงอายุ” หมายถึง อาการสายตายาวที่เกิดกับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งทั้ง 2 สภาวะมีวิธีแก้ไขโดยการใช้เลนส์แว่นตาเป็นเลนส์นูน ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังหักเหของแสงเหมือนกัน แต่เป็นคนละโอกาสกัน กล่าวคือ

  • สายตาผู้สูงอายุ ใช้เลนส์นูนเฉพาะเวลามองใกล้เท่านั้น
  • ส่วนสายตายาวทั่วไป ใช้แว่นเลนส์นูนทั้งชนิดมองไกลและชนิดมองใกล้