logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ สมาธิสั้น

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : สมาธิสั้น

โรคหรืออาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder ย่อว่า ADHD) เป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่งที่พบได้ตั้งแต่ในเด็กอายุ 4-5 ปีขึ้นไป และพบได้ประมาณ 5% ในเด็กวัยเรียน พบในเด็กผู้ชายมากกว่าในเด็กผู้หญิง ผู้ป่วยมักมีปัญหาการเรียน เช่น ไม่มีสมาธิ เรียนไม่รู้เรื่อง ทำงานไม่เสร็จ หรือมีปัญหาทางพฤติกรรม เช่น อยู่ไม่นิ่ง เล่นรุนแรง ดื้อ ต่อต้าน

ก. กลุ่มอาการอยู่ไม่นิ่ง/หุนหันพลันแล่น (Hyperactivity/Impulsivity) ซึ่งมักแสดงออกมาเป็นปัญหาพฤติกรรม ที่สามารถพบได้ตั้งแต่เด็กอนุบาลขึ้นไป

ข. กลุ่มอาการขาดสมาธิ (Inattention) ซึ่งมักแสดงออกมาเป็นปัญหาการเรียน ที่สามารถพบได้ตั้งแต่เด็กประถมศึกษาขึ้นไป

นอกจากนี้ โรคสมาธิสั้น สามารถพบร่วมกับโรคอื่นได้ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ภาวะการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disorder:LD) ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบทั้งในระยะสั้น เช่น เด็กต้องออกจากระบบการศึกษาก่อนเกณฑ์ หรือในระยะยาว เช่น เด็กติดสารเสพติด หรือปัญหาอาชญากรรมในวัยรุ่น

โรคนี้สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ ด้วยการปรับพฤติกรรมและการรักษาด้วยยา

ก. การปรับพฤติกรรม (Behavioral modification): ในเด็กสมาธิสั้นนั้นสามารถทำได้โดยการกำหนดข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมดีให้เป็นเป้าหมายที่ชัดเจน และให้แรงจูงใจ หรือคำชมเวลาที่เด็กสามารถทำพฤติกรรมดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การปรับพฤติกรรมต้องใช้เวลานาน และต้องทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยมีแพทย์คอยให้คำปรึกษาในแต่ละขั้นตอน

ข. การรักษาด้วยยา: ในปัจจุบันการรักษาด้วยยาเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากให้ผลรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย และสามารถทำควบคู่กับการปรับพฤติกรรมได้ ยารักษาโรคสมาธิสั้นในปัจจุบันมีหลากหลายชนิด ซึ่งผลในการรักษาขึ้นกับหลากหลายปัจจัย เช่น ความรุนแรงของอาการ ลักษณะของอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็ก หรือโรคอื่นๆ ที่แพทย์ตรวจพบร่วมกับโรคสมาธิสั้น  

ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นเมื่อมีอายุมากขึ้น อาจแสดงออกเป็นอาการหุนหันพลันแล่น ทำงานไม่เสร็จบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม การรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยๆ จะให้ผลการรักษาที่ดี ทำให้อาการหายจนไม่จำเป็นต้องรับประทานยาได้ โดย

  • ประมาณ 40% จะสามารถมีอาการดีขึ้นจนใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
  • ประมาณ 30% มีอาการคงที่
  • และประมาณ 30% จะมีอาการแย่ลง

ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นอย่างถูกต้อง จะช่วยลดอคติในตัวเด็กสมาธิสั้น พ่อแม่ควรอธิบายกับลูกถึงความจำเป็นในการรักษาและในการรับประทานยา และเนื่องจากเด็กมักรู้สึกว่าตนเองไม่ปกติ ไม่ควรให้การดูแลเด็กมากเกินไปจนทำให้เด็กได้สิทธิพิเศษ เพราะจะทำให้เด็กขาดทักษะชีวิตที่จำเป็น และเกิดปัญหาระหว่างพี่น้องได้ และไม่ควรละเลยการดูแลที่สำคัญโดยเฉพาะเรื่องการเรียน เพราะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกด้อยคุณค่าตนเอง โดยเฉพาะการออกจากระบบการเรียนก่อนวัย นอกจากนี้ พ่อแม่ควรอธิบายพี่น้องของเด็กในครอบครัว ในการลดตัวกระตุ้นอารมณ์ เช่น การเล่นรุนแรง หรือการล้อเลียนเกี่ยวกับโรคที่เด็กเป็นอยู่ เป็นต้น