logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ สมองฝ่อ

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : สมองฝ่อ

สมองฝ่อ (Cerebral Atrophy) คือ เนื้อสมองมีปริมาณลดลง มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เป็นการเสื่อมของร่างกายและอวัยวะตามธรรมชาติไม่ใช่โรค และอวัยวะอื่นๆ ก็มีการฝ่อด้วย เช่น ผิวหน้าเหี่ยวย่น ผมหงอก ผมร่วง ฟันโยก ฟันหลุด ตามัว หูตึง ดังนั้น สมองฝ่อกับสมองเสื่อมมีความแตกต่างกัน “โรค/ภาวะสมองฝ่อไม่ใช่โรคสมองเสื่อม”

  • อายุที่มากขึ้น
  • อุบัติเหตุที่ศีรษะ
  • การกินยากันชักไดแลนติน (Dilantin)
  • โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน โรคไตวาย โรคติดเชื้อในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

สมองฝ่ออาจจะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ เพราะเป็นการเติบโตของสมองที่ลดจำนวนเซลล์ของสมอง ขนาดของเซลล์ที่ลดลง แต่ความสามารถหรือศักยภาพของสมองไม่ได้ลดลง ก็ไม่เป็นปัญหา ไม่มีอาการ กรณีที่มีอาการของสมองฝ่อ ได้แก่ ความจำไม่ค่อยดี หลง ลืม สติปัญญาลดลง อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง คล้ายกับอาการของโรคสมองเสื่อม แต่โรคสมองฝ่อไม่เหมือนกับโรคสมองเสื่อม และไม่ใช่โรคอัลไซเมอร์

ถ้าตรวจพบว่ามีสมองฝ่อ การรักษาสมองไม่ให้ฝ่อหรือให้กลับมาเป็นปกตินั้นไม่สามารถทำได้ แต่เราสามารถทำให้สมองมีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิมได้ และชะลอการฝ่อหรือการเสื่อมของสมองได้ โดยการออกกำลังสมอง และรักษาโรคที่เป็นโรคประจำตัว และสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของสมองฝ่อ

การฝึกสมอง หรือ การออกกำลังสมอง (Neurobic exercise) สามารถเพิ่มจำนวนแขนง/เส้นใยของเซลล์ประสาทได้ตลอดชีวิต สามารถเพิ่มความเชื่อมโยงของเซลล์สมอง ทำให้สมองมีการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การฝึก ใช้สมองตลอดเวลา ไม่ทำอะไรซ้ำซาก ก็จะกระตุ้นให้สมองมีการแตกแขนงเส้นใยประสาทให้แตกกิ่งก้านสาขามากขึ้น สมองเราก็จะดีขึ้น

การออกกำลังสมอง เกิดจากการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การได้ยิน มองเห็น ได้กลิ่น ลิ้มรส และสัมผัสอารมณ์ เช่น

  • เปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวัน เพราะการทำแบบเดิมโดยไม่คิดนั้น สมองจะไม่ถูกกระตุ้น เช่น เปลี่ยนลำดับกิจกรรมการใช้ชีวิต ตัวอย่าง เคยทานอาหารเช้าหลังอาบน้ำ ก็เปลี่ยนเป็นทานอาหารเช้าก่อนอาบน้ำ ดูทีวีรายการใหม่ ใช้มือซ้ายทำงานแทนมือขวา
  • ใช้ประสาทสัมผัสมากขึ้น ได้แก่ การคลำสัมผัสของแทนการมองหา พูดร่วมกับการแสดงท่าทาง เล่นเกมฝึกสมอง เช่น ไพ่ หมากรุก เกมความจำต่างๆ ฝึกคิดเลข จำสิ่งของ บอกชื่อสัตว์ให้เร็วและมากที่สุดในเวลาที่จำกัด
  • หาประสบการณ์ใหม่ เช่น ฝึกทำกิจกรรมใหม่ๆ เดินทางไปเที่ยว พบปะเพื่อนฝูง

เนื่องจากการทำงานของสมองเกี่ยวกับสารสื่อประสาทโดยเฉพาะ สารที่ชื่อว่า อะซีทิลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับความจำ พบว่ามีอาหารหลายชนิดที่มีการศึกษาว่า ช่วยบำรุงสมอง เช่น หอมหัวใหญ่ พริก ขิง ใบบัวบก ปลาทะเล เป็นต้น อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมเท่านั้น การดูแลร่างกายให้แข็งแรง ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ตรวจสุขภาพประจำปี ฝึกออกกำลังสมองสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่สำคัญ และถ้าร่วมกับทานอาหารที่มีคุณภาพ ก็จะยิ่งทำให้สมองเรามีความแข็งแรงมากขึ้น