logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ สครับไทฟัส

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : สครับไทฟัส

โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) หรือโรคไข้รากสาดพุ่มไม้ หรือโรคไข้รากสาดไรอ่อน หรือไข้ไรอ่อน หรือโรคธสุธสุกามูชิ เป็นโรคไข้สูงเฉียบพลันซึ่งเกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) เป็นโรคประจำถิ่นในชนบทแถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี โดยไรอ่อนจะอาศัยอยู่ตามใบไม้ ใบหญ้า ใกล้ๆ กับพื้นดิน (เพราะมีความชื้นมากกว่า) และจะกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าของคน และกัดผิวหนังที่สัมผัสกับเสื้อผ้า ซึ่งโดยปกติเราจะมองไม่เห็นตัวไรอ่อนเพราะตัวเล็กมากขนาดเพียงประมาณ 0.17-0.21 มิลลิเมตร แต่ถ้าสังเกตดีๆ หรืออยู่รวมกันหลายตัว อาจมองเห็นได้

จะพบอาการของโรคสครับไทฟัสเกิดได้ในช่วงประมาณ 6-20 วัน (ส่วนใหญ่ประมาณ 10 วัน) หลังถูกไรอ่อนกัด โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ

  • ตรวจพบแผลเนื้อตายบนผิวหนังในตำแหน่งที่ถูกไรอ่อนกัด ไม่เจ็บแต่มักคัน ซึ่งอาการคันอาจเกิดก่อนเกิดแผลเนื้อตาย (มักประมาณ 1-2 วันหลังถูกกัด) ซึ่งแผลเหล่านี้ จะหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แผลอาจแตกมีน้ำเหลือง หรือ มีหนองได้จากการติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ซ้ำซ้อนจากเล็บ จากการเกา
  • มีไข้สูงเกิดขึ้นทันที พบได้ประมาณ 98% หนาวสั่น ร่วมกับปวดศีรษะมาก อ่อนเพลีย และปวดเมื่อยตัว อาการไข้สูงมักเกิดพร้อมๆ กับมีแผลเนื้อตาย
  • มีต่อมน้ำเหลืองโต อาจเฉพาะบางแห่ง หรือ ทั่วตัว พบได้ประมาณ 40-97%
  • คลำได้ตับโตประมาณ 70% ม้ามโตประมาณ 20%
  • ตาแดง ตากลัวแสง พบได้ประมาณ 30 %
  • มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก (พบได้น้อยมาก) อาเจียน พบได้ประมาณ 0-30%
  • มีหัวใจเต้นเร็ว พบได้ประมาณ 40%
  • มีผื่นเป็นจุดแดงๆ แบนๆ ขึ้นบนลำตัว พบได้ประมาณ 30-40% มักเกิดขึ้นในปลายสัปดาห์แรกของการมีไข้ ซึ่งผื่นจะขึ้นรวดเร็วและหายไปเองได้อย่างรวดเร็ว
  • อาจมีโรคปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หายใจเร็ว และพบความผิดปกติของปอดจากเอกซเรย์ปอด ซึ่งอาจรุนแรงมากในผู้สูงอายุ
  • อาจมีสมองอักเสบ หรือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยผู้ป่วยจะกระสับกระส่าย ปวดศีรษะรุนแรง ตัว สั่น พูดไม่ชัด คอแข็ง และอาจ ชัก และโคม่า
  • อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ส่งผลให้หัวใจเต้นช้า แต่พบเกิดภาวะนี้ได้น้อยมาก
  • อาจก่อให้เกิดการอักเสบของไต/ไตอักเสบ และเกิดไตวายเฉียบพลัน เสียชีวิตได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยมาก
  • อาจก่ออาการช็อกจากมีภาวะลิ่มเลือดเกิดกระจายในหลอดเลือดทั่วตัว (DIC, Disseminated intravascular coagulation) แต่เป็นอาการพบได้น้อยมากเช่นกัน
  • สวมใส่เสื้อผ้า กางเกงแขน/ขายาว ใส่ปลายกางเกงไว้ในรองเท้า สวมถุงน่อง และรองเท้าชนิดหุ้มส้นให้มิดชิด เสื้อควรปิดคอ ใส่ชายเสื้อไว้ในกางเกง ทั้งนี้เพื่อป้องกันตัวไรกัด
  • ทายาป้องกันแมลง หรือตัวไร แต่ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี เพราะอาจปนเปื้อนเข้าปากจากมือเด็กได้
  • ไม่นั่ง นอนบนหญ้า ฟาง นานๆ หรืออยู่ใกล้ อยู่ใต้ต้นไม้ พุ่มไม้เตี้ยๆ นานๆ
  • กางเต็นท์ ในที่โล่งเตียน และได้มีการพ่นยาฆ่าตัวไรแล้ว
  • เมื่อกลับจากเดินป่าหรือทำงาน ถอดเสื้อผ้าออกซักทันทีให้สะอาด แล้วตากแดดจัดให้แห้งสนิท และต้องอาบน้ำทำความสะอาดเนื้อตัวทันที เพื่อกำจัดตัวไรที่อาจติดอยู่