logo

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus)

โรค/ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ คือ โรค/ภาวะที่มีความผิดปกติของระบบน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cere brospinal fluid: CSF) จึงส่งผลให้เกิดการคั่งของ CSF ในโพรงสมอง ส่งผลให้โพรงสมองขยายใหญ่ขึ้น และมักมีความดันในโพรงสมองสูงขึ้นร่วมด้วย จึงส่งผลให้เกิดการกดเบียด ดันให้เนื้อสมองไปกดเบียดกับกะโหลกศีรษะ ส่งผลให้เนื้อสมองเกิดบาดเจ็บเสียหาย จนถึงขั้นอาจเกิดการตายของเนื้อสมองได้ถ้าแรงดันนี้สูงและกดเนื้อสมองอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน

  • มีการสร้าง CSF มากเกินไป ได้แก่ จากโรคเนื้องอกของเนื้อเยื่อในสมองที่สร้าง CSF (Choroid plexus)
  • มีการอุดตันทางเดิน CSF เช่น
    • จากเนื้องอกสมอง
    • มีเลือดออกในโพรงสมอง หรือในเนื้อสมอง หรือในเยื่อหุ้มสมอง เช่น จากโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
    • จากความพิการแต่กำเนิดของสมอง
    • จากสมองติดเชื้อพยาธิตืดหมู
    • จากการบาดเจ็บที่ศีรษะ เช่น จากอุบัติเหตุที่ศีรษะ
  • มีการดูดซึม CSF ผิดปกติ เช่น หลอดเลือดดำในสมองอุดตัน การอักเสบของเยื่อหุ้มสมองชั้นอะแรชนอยด์ (Arachnoid)

ในเด็กจะพบอาการผิดปกติได้ดังนี้

  • หัวโต หรือ หัวบาตร จากการที่กระดูกของกะโหลกศีรษะชิ้นต่างๆ ในเด็กยังไม่ผสมผสานติดกันเป็นชิ้นเดียวเหมือนในผู้ใหญ่ ดังนั้นเมื่อมีความดันในโพรงสมองสูงขึ้น/โพรงสมองใหญ่ขึ้น จึงดันให้กระดูกแต่ละชิ้นแยกออกจากกัน ศีรษะของเด็กจึงขยายใหญ่/โตขึ้นตามไปด้วย
  • หนังศีรษะบางและเห็นหลอดเลือดดำ
  • เสียงเคาะกะโหลกเหมือนเสียงหม้อแตก
  • อาการจากความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง เช่น ปวดศีรษะ (อาการแสดงของเด็กเล็ก คือ เด็กร้องกวนตลอดเวลา และไม่ดูดนม/ไม่กินอาหาร) ตามัว อาเจียน
  • ลูกตามองลงล่าง กลอกลูกตาขึ้นไม่ได้ และลูกตาเขเข้าใน / มองเห็นภาพซ้อน
  • หายใจผิดปกติ
  • พัฒนาการในการเจริญเติบโตของร่างกายช้า / สติปัญญาอ่อน / เลี้ยงไม่โต

ในผู้ใหญ่จะพบอาการผิดปกติได้ดังนี้

  • อาการความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง เช่น ปวดศีรษะ ตามัว อาเจียน
  • ระดับการรู้สึกตัวลดลง ซึม โคม่า
  • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
  • ลูกตามองลงล่างตลอดเวลา ตาเขเข้าใน กลอกลูกตาขึ้นบนไม่ได้ / มองเห็นภาพซ้อน
  • เดินเซ
  • สมองเสื่อม
  • กลั้นปัสสาวะไม่ได้
  • แขนขาอ่อนแรง
  • ให้การวินิจฉัยตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ เพื่อให้การรักษาอย่างรวดเร็วก่อนที่เนื้อสมองจะถูกทำลาย
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่เป็นสาเหตุการติดเชื้อของสมอง (สมองอักเสบ) หรือของเยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ
  • ป้องกันอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น การสวมหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่จักรยานยนต์ เป็นต้น