logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ ภาวะขาดไอโอดีน

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ภาวะขาดไอโอดีน

ภาวะขาดไอโอดีน มักเกิดจากในอาหารที่บริโภคประจำทุกวันขาดหรือมีไอโอดีนต่ำ หรือร่างกายมีภาวะต้องการไอโอดีนสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อย คือ

  • อาศัยอยู่ในที่สูงหรือที่ห่างไกลจากทะเล เพราะแหล่งอาหารสำคัญของไอโอดีน คือ อาหารทะเลและเกลือทะเล
  • คนที่ใช้เกลือสินเธาว์/เกลือจากดินเค็มเป็นประจำ ทั้งนี้เพราะในดินจะมีไอโอดีนต่ำกว่าในทะเลมาก
  • การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร เป็นภาวะที่ร่างกายต้องการไอโอดีนสูงขึ้นเพื่อการเจริญพัฒนาทุกเซลล์โดยเฉพาะเซลล์สมองตั้งแต่ทารกในครรภ์และช่วยในการสร้างน้ำนม
  • ต่อมไทรอยด์นำไอโอดีนไปใช้ไม่ได้ เพราะอาหารหรือยาบางชนิดที่บริโภคต่อเนื่องมีคุณสมบัติต้านการจับกินไอโอดีนของเซลล์ต่อมไทรอยด์ (Goitrogen) จึงทำให้ต่อมไทรอยด์ขาดไอโอดีน จึงสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนลดลง จึงอาจส่งผลให้เกิดอาการของการขาดไอโอดีน
  • ยาที่มีผลข้างเคียงเป็น Goitrogen เช่น ยาโรคไทรอยด์บางชนิด ยาจิตเวชบางชนิด
  • อาหารที่มีสารกลุ่ม Goitrogen เช่น กะหล่ำ ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง หัวผักกาด ข้าวฟ่าง ข้าวเดือย (แต่การบริโภคอาหารเหล่านี้ด้วยการปรุงสุกจะทำลายสารตัวนี้ลงได้)
  • สำหรับทารกในครรภ์ ร่างกายและสมองเจริญเติบโตช้าซึ่งจะก่อให้เกิดความพิการแต่กำเนิด (แคระแกรน ตาเข หูหนวก เป็นใบ้ กล้ามเนื้อชักกระตุก) และภาวะปัญญาอ่อน
  • กรณีขาดไอโอดีนในเด็กหลังคลอด จะพบว่าเด็กเจริญเติบโตช้า มีสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ และอาจมีต่อมไทรอยด์โต (คอพอก)
  • ส่วนอาการจากการขาดไอโอดีนในผู้ใหญ่ที่สำคัญ คือ ต่อมไทรอยด์โต และอาจมีอาการของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เช่น อ้วนฉุ เชื่องช้า หัวใจเต้นผิดปกติ บวมน้ำ เป็นต้น

การขาดไอโอดีนในช่วงเป็นทารกในครรภ์และในวัยเด็กถือว่าสำคัญมาก เพราะมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและต่อสมอง/ภาวะเชาว์ปัญญา แต่การขาดไอโอดีนในผู้ใหญ่มักเป็นภาวะที่รักษาได้

สามารถป้องกันภาวะขาดไอโอดีนได้โดยการกินอาหารที่มีไอโอดีนสมบูรณ์ การเลือกใช้เกลือและน้ำปลาที่ทำจากเกลือทะเลหรือเกลือที่เสริมไอโอดีน โดยเฉพาะในเด็ก วัยรุ่น ภาวะตั้งครรภ์ และภาวะให้นมบุตร และเมื่อมีการตั้งครรภ์ควรพบแพทย์เพื่อการดูแล และควรเพิ่มอาหารที่สมบูรณ์ด้วยไอโอดีนตามคำแนะนำของแพทย์

อนึ่ง เนื่องจากร่างกายต้องการไอโอดีนในปริมาณไม่มาก จึงไม่ควรกินไอโอดีนในรูปแบบของยาเกลือไอโอดีนเสริมอาหารโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะการกินไอโอดีนเสริมอาหารปริมาณสูงๆ ต่อเนื่องอาจมีโทษได้ เช่น เกิดผื่นคัน หรือบางคนอาจแพ้ถึงช็อกได้ บางคนอาจทำให้เป็นสิวมากขึ้น กล้ามเนื้อมือและเท้าชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจมีสับสน อาจเกิดได้ทั้งโรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (เพราะไอโอดีนที่มากเกินไปจะไปยับยั้งการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน) หรือภาวะ/โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (จากต่อมไทรอยด์นำไอโอดีนมาสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเพิ่มผิดปกติ) ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบ และโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองของต่อมไทรอยด์