logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ ฟันผุ

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ฟันผุ

โรคฟันผุ หรือ ฟันผุ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Streptococcus mutans เข้าร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง และน้ำตาลในอาหารที่ตกค้างบนฟันหรือคราบจุลินทรีย์ ให้เป็นกรดที่สามารถสลายแร่ธาตุซึ่งเป็นโครงสร้างของฟัน ทำให้ฟันผุกร่อน โดยการสลายแร่ธาตุของฟันจะทำให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุจากตัวฟัน ซึ่งเป็นกระบวนการเริ่มต้นของโรคฟันผุ

ฟันที่เริ่มผุจะซ่อมแซมเองได้ เพราะน้ำลายในช่องปากจะมีกระบวนการแลกเปลี่ยนแร่ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสระหว่างชั้นผิวเคลือบฟันกับแร่ธาตุที่มีอยู่ในน้ำลายตลอดเวลา โดยจะมีทั้งการสูญเสียแร่ธาตุจากฟันและการคืนกลับแร่ธาตุสู่ฟันอย่างสมดุล ในสภาวะที่สภาพน้ำลายในช่องปากค่อนข้างเป็นกลางจะไม่มีการสูญเสียแร่ธาตุออกจากผิวฟัน แต่ในสภาวะที่จุลินทรีย์มีการย่อยสลายอาหารแป้งและน้ำตาลเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของน้ำลายเป็นกรด กรดจะกัดกร่อนฟัน ทำให้สูญเสียแร่ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสออกจากตัวฟันไปยังน้ำลายมากกว่าการได้รับกลับคืน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นบ่อยจะทำให้ฟันผุ

  1. ธรรมชาติพื้นผิวของฟัน ถ้าฟันเป็นร่องหลุมมาก อาหารตกค้างง่าย จะก่อให้เกิดฟันผุได้ง่าย
  2. Streptococcus mutans ซึ่งมีในปากทุกคนแต่มากน้อยต่างกัน คนที่มีมากจะฟันผุง่าย
  3. อาหาร น้ำตาล และอาหารรสเปรี้ยวบางชนิดมีค่าความเป็นกรดต่ำ จะทำให้เกิดฟันผุได้มาก
  4. คราบจุลินทรีย์ การมีเศษอาหารตกค้างอยู่บนผิวฟันนาน มีโอกาสเกิดฟันผุง่าย

ระยะที่ 1: กรดเริ่มทำลายเคลือบฟัน อาจเห็นเป็นรอยสีขาวขุ่นบริเวณที่เป็นผิวเรียบของฟันหรือหลุมร่องฟัน ยังไม่มีอาการ การแปรงฟันให้สะอาดและใช้ฟลูออไรด์ทาเฉพาะที่ ฟลูออไรด์จะช่วยการคืนกลับแร่ธาตุสู่ฟัน ช่วยยับยั้งการลุกลามของโรคฟันผุได้

ระยะที่ 2: การกัดกร่อน ลึกลงไปถึงชั้นเนื้อฟัน มีสีเทาดำ เห็นรูผุ มีเศษอาหารติด การผุจะลุกลามเร็วกว่าระยะแรก เนื่องจากชั้นเนื้อฟันแข็งแรงน้อยกว่าชั้นเคลือบฟัน จะเริ่มมีอาการเสียวฟันเมื่อถูกของร้อน เย็น หรือหวานจัด ระยะนี้จำเป็นต้องพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยการอุดฟัน

ระยะที่ 3: เป็นขั้นรุนแรงขึ้น มีการทำลายลึกถึงโพรงประสาทฟัน มีการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟัน มีอาการปวด อาจปวดตลอดเวลาหรือปวดเป็นพักๆ มีการตกค้างของเศษอาหาร มีกลิ่น เมื่อฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟันแล้ว การอุดฟันตามปกติทำไม่ได้ ต้องรักษาคลองรากฟันก่อน หากติดเชื้ออาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะก่อนการรักษาคลองรากฟัน

ระยะที่ 4: ถ้าผู้ป่วยอดทนต่อความเจ็บปวดของการอักเสบจนผ่านเข้าสู่ระยะนี้ เนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันจะถูกทำลายลุกลามไปที่ปลายราก จะเจ็บๆ หายๆ เป็นช่วงๆ เกิดฝีหนองบริเวณปลายราก มีอาการบวมหรือมีฝีทะลุมาที่เหงือก ฟันโยก เชื้อโรคลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและระบบน้ำเหลืองของร่างกาย การรักษาจำเป็นต้องถอนฟัน และหลังการถอนฟันควรต้องใส่ฟันเทียมทดแทนเพื่อความสวยงาม เพื่อการบดเคี้ยวและเพื่อป้องกันฟันข้างเคียงไม่ให้ล้มเอียง

  1. การสังเกตมองด้วยตาเปล่า เพื่อตรวจหาบริเวณที่ผิวฟันเป็นรู มีการเปลี่ยนสีเป็นสีดำร่วมกับมีอาการปวดฟัน
  2. การไปพบทันตแพทย์ทุก 3-6 เดือน เพื่อตรวจช่องปากและขูดหินปูนทำความสะอาดฟัน ซึ่งจะลดโอกาสในการเกิดโรคฟันผุ
  3. การแปรงฟันโดยใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์หรือน้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ และการใช้ไหมขัดฟันเพื่อขจัดคราบจุลินทรีย์ และเศษอาหารออกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ฟลูออไรด์ช่วยการคืนกลับแร่ธาตุสู่ฟัน เป็นการเสริมสร้างผิวฟันให้แข็งแรง และการใช้ไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาดซอกฟันที่แปรงฟันไม่ถึง