คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : ฝีฝักบัว
ฝีฝักบัว (Carbuncle) คือโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด สแตฟฟีโลคอกคัส (Staphylococcus) และ/หรือชนิด สเตรปโตคอกคัส (Streptococcus) ที่ต่อมไขมันและที่ขุมขนของผิวหนัง เริ่มต้นจากผิวหนังมีรอยถลอกบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น จากการเกา การเสียดสี การสัมผัสสิ่งสกปรกต่างๆ จากมือสัมผัสรอยบาดเจ็บ จากนั้นเชื้อแบคทีเรียจึงเข้าสู่ผิวหนังทางรอยบาดเจ็บ ซึ่งลุกลามจนรวมกันเป็นกลุ่มก้อน มีหนองสะสมจนมีลักษณะเป็นก้อนหนองเรียกว่าเป็น “ฝีฝักบัว”
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดฝีฝักบัว ได้แก่ ผู้ที่ขาดการรักษาสุขอนามัยตนเอง ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น ติดเชื้อเอชไอวี กินยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (เช่น ในผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ)
ฝีฝักบัว ไม่ใช่โรคติดต่อ การเกิดโรคอาศัย 2 ปัจจัยคือ
- การบาดเจ็บที่ผิวหนังที่เกิดอยู่ก่อน และ
- เชื้อก่อโรค (เชื้อแบคทีเรีย) ที่อยู่ที่ผิวหนัง
อย่างไรก็ดี ทั้งผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดควรล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดปริมาณเชื้อก่อโรคนี้
- ผื่นแดง แข็ง เจ็บ ประกอบกับต่อมขุมขนที่อักเสบติดเชื้อหลายๆ อันมารวมกันอยู่ในผิวหนังชั้นลึก
- ที่ผิวหนังด้านบนจะมองเห็นผิวแดงอักเสบ
- มีตุ่มหนองหลายตุ่มตามรูขุมขนมองดูคล้าย “ฝักบัว”
- ต่อมาตุ่มหนองจะแตกออกเป็นหนองไหลออกมา
- โรคจะหายอย่างช้าๆ และเกิดเป็นแผลเป็นตามมา
ฝีฝักบัวนี้มักพบที่บริเวณ ต้นคอ ด้านหลัง และในรายที่ติดเชื้อมากอาจมีอาการไข้และอ่อนเพลียร่วมด้วย
รายที่มีการติดเชื้อลุกลาม ฝีฝักบัวอาจก่อผลข้างเคียงจากทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังเป็นวงกว้างส่งผลให้
- มีไข้
- อ่อนเพลีย
- การติดเชื้ออาจลุกลามเป็นการติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น กระดูก เกิดกระดูกอักเสบ
- มีการติดเชื้อในกระแสโลหิต เกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด)
- เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด ก่อการติดเชื้อของเยื่อบุหัวใจ เกิดเป็นเยื้อบุหัวใจอักเสบ และ/หรือ
- เมื่อแผลหายจะกลายเป็นแผลเป็นได้