คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : น้ำในหูไม่เท่ากัน
น้ำในหูไม่เท่ากันหรือโรคเมนิแยร์ (Meniere's disease / MD) มีกลไกเกิดจากความผิดปกติของน้ำในหูชั้นในที่ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดชัดเจน โดยอาจเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม โรคออโตอิมมูน การติดเชื้อไวรัสของหู หรือโรคหลอดเลือดของหู เป็นโรคพบได้ทั่วโลก พบได้ประมาณ 15 รายต่อประชากร 1 แสนคน พบทุกอายุ แต่มักพบในช่วงอายุ 40-50 ปี โดยในผู้สูงอายุพบเป็นประมาณ 15% ของผู้ป่วยโรคนี้ทั้งหมด ผู้หญิงพบบ่อยกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า
อาการที่พบในทุกคน คือ บ้านหมุนเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ร่วมกับมีหูอื้อ รู้สึกแน่นในหู และมีการได้ยินลดลงเป็นๆ หายๆ จนในที่สุดอาจเกิดหูหนวกถาวร มักเกิดกับหูเพียงข้างเดียว (ข้างซ้ายหรือข้างขวามีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน) อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ ร่วมด้วย หรืออาการเหล่านั้นอาจเป็นอาการนำมาก่อน (Aura) บ้านหมุน อาการอาจเป็นอยู่นานประมาณอย่างน้อย 20 นาทีถึง 1 วัน เป็นๆ หายๆ พยากรณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดอาการเมื่อไร บ่อยขนาดไหน อาจเกิดทุกสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี หรือหลายปี
โรคนี้เป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีที่รักษาให้หาย แต่การรักษาปัจจุบันจะช่วยให้อาการดีขึ้น โรคไม่รุนแรงขึ้น และอาจป้องกันหูหนวกถาวรได้ เช่น
- การใช้ยาต่างๆ เช่น ยาขับน้ำ ยาแก้บ้านหมุน ยาแก้คลื่นไส้ ยา Antihistamine
- การทำกายภาพฟื้นฟูทางหู ที่เรียกว่า Rehab and Hearing Aids
- การผ่าตัดหูชั้นใน ซึ่งจะใช้เฉพาะกับผู้ป่วยบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีดังกล่าวข้างต้นทั้ง 2 วิธี พร้อมกับผู้ป่วยมีอาการเลวลงเรื่อยๆ
- อื่นๆ: คือการดูแลตนเอง ที่สำคัญคือ กำจัด/ลดปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการ และ/หรือทำให้อาการเลวลง เช่น อาหารเค็ม เครื่องดื่มกาเฟอีน ช็อกโกแลต สุรา ผงชูรส บุหรี่ ความเครียด และการวิตกกังวล แต่ควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวันเพื่อคงความดันโลหิตให้ปกติ
เพราะยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดจน จึงยังไม่ทราบวิธีป้องกัน แต่ลดโอกาสเกิดอาการและลดความรุนแรงของอาการได้จากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง/ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ