logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ ต้อกระจก

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ต้อกระจก

เป็นภาวะที่แก้วตาเสื่อม แทนที่จะใสกลับขุ่น แก้วตาที่ขุ่นลงนี้ส่งผลให้กำลังหักเหของแสงผิดไป ตลอดจนขัดขวางไม่ให้แสงเข้าตา จึงมองเห็นภาพไม่ชัด นั่นคือโรคที่เรียกกันว่า “ต้อกระจก”

80% หรือมากกว่าของคนเป็นต้อกระจกเกิดจากวัยชรา ที่เหลือประมาณ 20% อาจพบจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่จากวัยชรา เช่น

  1. ต้อกระจกชนิดเกิดแต่กำเนิดที่รู้จักกันทั่วไปคือ ในเด็กทารกที่เกิดจากแม่ซึ่งเป็นหัดเยอรมันในช่วงระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ตลอดจนโรคต้อกระจกแต่กำเนิดชนิดกรรมพันธุ์ที่ไม่ทราบสาเหตุ และโรคต้อกระจกในเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ
  2. ในวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว อาจเป็นต้อกระจกจากการได้รับผลกระทบกระเทือนบริเวณลูกตาอย่างแรง เช่น การเล่นกีฬา อุบัติเหตุทางรถยนต์ อาการเหล่านี้แม้ว่าจะให้การรักษาอุบัติเหตุระยะต้นถูกต้องแล้วก็ตาม แต่อาจเป็นต้อกระจกได้ใน 2 - 3 ปีต่อมา
  3. วัยกลางคน อาจเป็นต้อกระจกเนื่องจากมีโรคอื่นๆ ในร่างกาย ที่สำคัญคือ โรคเบาหวาน

นอกจากนี้ ต้อกระจกอาจเกิดโรคอื่นๆ ในลูกตา เช่น ม่านตาอักเสบเรื้อรัง หรือจากการใช้ยาบางตัวเป็นประจำในการรักษาโรคทางกายบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์

  • อาการเด่นของต้อกระจกคือ ตาค่อยๆ มัวลงอย่างช้าๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือตาแดงแต่อย่างไร อาการตามัวจะเป็นมากขึ้นเมื่ออยู่ในที่มีแสงสว่างจ้า เช่น เมื่อออกแดด แต่กลับมองเห็นเกือบเป็นปกติในที่มืดสลัวๆ หรือเวลาพลบค่ำ
  • บางคนอาจสังเกตว่า การมองเห็นผิดไป เช่น ตอนกลางคืนเห็นพระจันทร์ 2 ดวงหรือหลายดวง แม้ดูด้วยตาข้างเดียวก็ยังเห็น 2 ดวง ทั้งนี้เพราะแก้วตาที่ขุ่นมัวทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการหักเหของแสงไม่เท่ากัน
  • ผู้สูงอายุเวลาอ่านหนังสือต้องใช้แว่นสายตาช่วยเป็นปกติอยู่แล้ว แต่อยู่ๆ พบว่าอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น นั่นเป็นอาการเริ่มมีการเสื่อมของแก้วตาทำให้การหักเหแสงเปลี่ยน จึงกลับมาเป็นคนสายตาสั้นเมื่อแก่
  • เห็นฝ้าขาวบริเวณกลางรูม่านตาในผู้ที่ต้อกระจกสุกเต็มที่แล้ว

หลังผ่าตัดส่วนที่ขุ่นของแก้วตาที่บังแสงออก ดวงตาจะยังไม่สามารถหักเหแสงให้ตกที่จอตาได้ จึงยังมองเห็นได้ไม่ชัด จะต้องหาเลนส์ที่มีกำลังการหักเหใกล้เคียงแก้วตาใส่แทนที่ ซึ่งอาจทำได้โดย

  • ใช้เลนส์แว่นตา
  • ใช้เลนส์สัมผัส (Contact lens)
  • ฝังเลนส์แก้วตาเทียม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เพราะโดยทั่วไปผู้ป่วยที่ไม่เหมาะกับการฝังแก้วตาเทียม ได้แก่ ผู้ที่เป็นเบาหวาน (เบาหวานขึ้นตา) ผู้ที่มีต้อหินร่วมด้วย ผู้ที่มีโรคจอตาหลุดลอกเพราะสายตาเสียถาวรไปแล้ว  โรคกระจกตาเสื่อม และโรคม่านตาอักเสบ รวมทั้งในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เพราะตาเด็กยังต้องเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ สายตาของเด็กจึงต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแก้วตาเทียมที่จะปรับไปตามการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ได้