คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : ตาปลา
โรคตาปลาเกิดจากการที่ผิวหนังถูกเสียดสีหรือถูกกดทับกับสิ่งต่างๆ บ่อยๆ เป็นเวลานาน ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของเราหรือเกิดจากความผิดปกติของร่างกายเองก็ได้ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. โรคตาปลาที่เรียกว่า คอร์น (Corns) ตาปลาชนิดนี้จะเป็นตุ่มนูนของผิวหนังที่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลาง ซึ่งเกิดจากผิวหนังชั้นบนสุดของหนังกำพร้ามีการหวำตัวลงไป และทำให้ชั้นของขี้ไคลซึ่งเกิดจากการลอกตัวของผิวหนังชั้นบนสุดของหนังกำพร้านี้มีการสะสมอัดแน่นจนไปกดเบียดชั้นผิวหนังแท้ซึ่งมีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่ จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บ ตาปลาชนิดคอร์นแบ่งออกได้เป็นอีก 2 ชนิดย่อยคือ ตาปลาชนิดแข็งและตาปลาชนิดอ่อน
2. โรคตาปลาที่เรียกว่า คัลลัส (Callus) ตาปลาชนิดนี้จะเป็นตุ่มนูนของผิวหนังแบบที่ไม่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลาง พบบ่อยบริเวณฝ่าเท้าด้านหน้าบริเวณใกล้ๆ กับนิ้วเท้า อาจจะมีอาการเจ็บหรือไม่มีก็ได้ ขอบเขตของตุ่มนูนในตาปลาชนิดนี้จะไม่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากตาปลาชนิดคอร์นที่จะมีขอบเขตชัดเจน
1. จากการกระทำของเราหรือสาเหตุจากภายนอก ได้แก่ การใส่รองเท้าที่คับและแน่นเกินไป หรือไม่ใส่รองเท้าเวลาเดิน ใช้มือทำงานบางอย่างบ่อยๆ เป็นเวลานาน เช่น ร้อยพวงมาลัยและใช้นิ้วมือถูกับเข็มร้อยมาลัยบ่อยๆ เขียนหนังสือมากหรือออกแรงใช้นิ้วกดทับดินสอ/ปากกา เป็นต้น
2. จากความผิดปกติของร่างกายหรือสาเหตุจากภายใน ได้แก่ การมีเท้าผิดรูปทำให้เวลาเดินบางตำแหน่งของเท้าจะรับน้ำหนักและถูกกดทับมากกว่าปกติ หรือมีความผิดปกติมีปุ่มกระดูกยื่นหรือนูนออกมาทำให้เกิดการเสียดสีเวลาใช้งาน เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ เป็นต้น
1. การรักษาตาปลา: โดยการใช้ใบมีดโกนหรือมีดผ่าตัดเฉือนตุ่มตาปลาออกโดยหากเฉือนได้ถูกต้อง เลือดจะไม่ออก และอาจใช้ยาในรูปแบบยาทา/ยาใช้ภายนอกรักษาร่วม หรือหากตาปลามีขนาดเล็ก เพิ่งเป็นมาไม่นาน อาจใช้ยาทารักษาอย่างเดียว โดยยาเหล่านี้จะไปทำให้ชั้นผิวหนังของตาปลานิ่มลงและค่อยๆ หลุดลอกออกไปเอง นอกจากนี้การแช่มือหรือเท้าที่เป็นตาปลาในน้ำอุ่นอาจช่วยทำให้ตาปลานิ่มลงและง่ายต่อการเฉือนออก และอาจใช้หินสำหรับขัดตัวถูบริเวณตาปลาที่แข็งมากๆ
2. การกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดตาปลา:
- กรณีเป็นตาปลาที่เท้า ควรเลือกรองเท้าใส่ให้พอดีกับเท้า ไม่รัดแน่นหรือหลวมจนเกิดการเสียดสีได้ ด้านหน้าของรองเท้าต้องไม่บีบนิ้วเท้า ส้นรองเท้าต้องไม่สูงเกินไป พื้นรองเท้าต้องนิ่มแต่ยืดหยุ่น ถุงเท้าที่ใส่ต้องมีความพอดีไม่รัดแน่นหรือหลวมไปเช่นกัน
- กรณีที่มีตาปลาอยู่ระหว่างง่ามนิ้วเท้า อาจใช้สำลีหรือฟองน้ำบุระหว่างง่ามนิ้วเท้า
- กรณีตาปลาอยู่ตรงฝ่าเท้าด้านหน้าใกล้ๆ กับนิ้วเท้า อาจเสริมพื้นรองเท้าเหนือส่วนที่เกิดตาปลา เพื่อลดแรงกด
- กรณีมีเท้าผิดรูปหรือการลงน้ำหนักของเท้ามีความผิดปกติ อาจเลือกใช้รองเท้าที่ออกแบบเป็นพิเศษที่เหมาะสมกับความผิดปกติแต่ละชนิด
- ในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาฉีดซิลิโคนเข้าชั้นผิวหนังบริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกยื่นออกมาเพื่อลดแรงเสียดสีและแรงกดผิวหนังตรงปุ่ม หรือแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดก็ได้
- ผู้ที่อ้วนมีน้ำหนักมากและมีตาปลาที่เท้า อาจต้องลดน้ำหนักเพื่อลดแรงกดของเท้ากับพื้น
- ผู้ที่เป็นตาปลาที่มือ ควรใส่ถุงมือเวลาทำงานเพื่อลดการเสียดสีของผิวหนัง
ตาปลา เป็นการหนาตัวของผิวหนังชั้นนอก ซึ่งมักเกิดจากการเสียดสีซ้ำ ๆ ในขณะที่หูดเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง โดยกรณีที่เป็นหูด เมื่อมีการฝานผิวหนังด้านบนอาจเห็นจุดเลือดออกหรือมีเลือดซึมออกมาเล็กน้อยได้ ในขณะที่ตาปลาจะไม่เห็นจุดเลือดออก