logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ ตาบอดสี

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ตาบอดสี

ตาบอดสี (Color blindness) เป็นภาวะที่ตามองเห็นสีบางสีผิดไปจากคนปกติ ไม่ใช่ไม่เห็นสี เช่น คนตาบอดสีแดง ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่เห็นสีแดงของวัตถุเลย เพียงแต่เขาอาจเห็นวัตถุนั้นเป็นสีเทา และเนื่องจากเขาถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่าวัตถุนั้นสีแดง (ทั้งๆ ที่เขาเห็นเป็นสีเทา) คนตาบอดสีแดงจึงบอกสีแดงได้ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่าตาบอดสีแดง จึงไม่ยอมรับเพราะเขาก็บอกได้ว่านั่นเป็นสีแดง

ตาบอดสี เป็นภาวะพบได้บ่อยภาวะหนึ่ง พบได้บ่อยกว่าในผู้ชาย โดยในผู้ชายพบภาวะนี้ได้ประมาณ 8% ของประชากรทั้งหมด แต่พบในผู้หญิงได้เพียงประมาณ 0.4%

ก. ภาวะตาบอดสีชนิดมีมาแต่กำเนิด: เป็นภาวะถ่ายทอดทางพันธุกรรม มักเป็นในผู้ชาย โดยเป็นโรคถ่ายทอดมากับ X chromosome ของฝ่ายแม่ กล่าวคือ แม่เป็นพาหะของโรค นำโรคไปสู่ลูกชาย แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่เห็นสีเดียว จะเห็นเพียงภาพขาวดำ สายตามักมัวมากจนมองไม่เห็นสี ตาสู้แสงไม่ได้ ลูกตากลิ้งกลอกไปมาตลอดเวลา 2) ตาบอดสีแดง/ตาบอดสีเขียว 3) ตาพร่องสีแดง/ตาพร่องสีเขียว (กลุ่มนี้พบได้บ่อยที่สุด)

ข.ภาวะตาบอดสีที่เกิดในภายหลัง ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรมที่ผิดปกติแต่เกิดจากโรคของจอตาหรือประสาทตา ตลอดจนโรคของสมองส่วนที่รับรู้การมองเห็น ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าโรคของจอตามักสูญเสียการมองเห็นสีน้ำเงิน-เหลือง และโรคของประสาทตามักสูญเสียการมองเห็นสีแดง-เขียว

ในชีวิตประจำวัน แม้จะมองเห็นสีผิดเพี้ยนไป อาจไม่มีปัญหา มีผู้ศึกษาพบว่าประมาณร้อยละ 70 ของคนตาบอดสี อาจเกิดความยุ่งยากในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกสีของสิ่งของอยู่บ้าง โดยเฉพาะผู้ที่บอดสีแดง-เขียวจะรุนแรงกว่าผู้ที่พร่องสีแดง -เขียว มีปัญหาในการตัดสินใจว่าผลไม้นั้นสุกหรือใกล้สุก การเลือกไหมสีต่างๆในการตัดเย็บผิดไป การเลือกสีเสื้อผ้าผิดไป เลือกสีเฟอร์นิเจอร์และสีทาผนังผิดเพี้ยน เด็กนักเรียนอาจเลือกสีระบายภาพวาดผิดไป แม้แต่การขับรถในบางประเทศจะไม่ออกใบขับขี่ให้ผู้ที่มีตาบอดสี เนื่องจากกลัวว่าจะมองสัญญาณไฟจราจรตลอดจนไฟท้ายรถยนต์ไม่ชัดเจน

เมื่อมีบิดาหรือมารดาตาบอดสี หรือสังเกตเห็นความผิดปกติในการเห็นสี หรือสงสัยว่าตนเองเห็นสีผิดปกติ ควรรีบพบจักษุแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนรวมทั้งการหาสาเหตุ ทั้งนี้เพื่อการปรับตัวเรียนรู้ในการใช้สีต่างๆในชีวิตประจำวัน การเลือกวิชาที่จะเรียน และเลือกอาชีพ ที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นกับการใช้สี รวมทั้งควรแจ้งให้ครอบครัว ที่ทำงาน และคนรอบข้างได้ทราบถึงภาวะตาบอดสีของเรา เพื่อปรับการใช้ชีวิตและการทำงาน ป้องกันการผิดพลาดจากการใช้สี