logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ ตับแข็ง

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ตับแข็ง

โรคตับแข็ง (Liver cirrhosis) เกิดจากการที่เนื้อเยื่อตับบาดเจ็บและถูกทำลายจากการอักเสบเรื้อรังจากสาเหตุต่างๆ เนื้อเยื่อตับจึงกลายเป็นพังผืด มีลักษณะแข็ง เกิดเป็นก้อนตะปุ่มตะปั่มจากพังผืดทั่วตับ ขนาดตับจะค่อยๆ เล็กลง และทำงานได้ลดน้อยลงต่อเนื่อง จนเกิดตับวายและเป็นเหตุให้เสียชีวิต

  • 60-70% เกิดจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ประมาณ 10% เกิดจากโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ โรคไวรัสตับอักเสบ ซี
  • ประมาณ 5-10% เกิดจากภาวะร่างกายมีเกลือแร่ ธาตุเหล็กสูง เหล็กจึงไปสะสมในตับ ส่งผลให้เกิดตับแข็ง เช่น ในโรคธาลัสซีเมีย
  • ประมาณ 10% เกิดจากโรคต่างๆ ของท่อน้ำดี เช่น ท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรังจากโรคภูมิแพ้ตนเองหรือท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด
  • อีกประมาณ 5% เกิดจากโรค หรือ ภาวะอื่นๆ เช่น
    • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง หรือ ยารักษาวัณโรค หรือ วิตามินเอเสริมอาหารปริมาณสูง
    • จากโรคภูมิแพ้ตนเอง/โรคออโตอิมมูน
    • จากโรคไขมันพอกตับ (มักพบในคนอ้วน)
    • จากตับติดเชื้อบางชนิด เช่น ติดเชื้อพยาธิใบไม้เลือด
    • จากโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง

อาการที่พบบ่อยในโรคตับแข็ง คือ ไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค ต่อเมื่อเป็นมากแล้วจึงมีอาการ ซึ่งอาการที่พบบ่อย เช่น

  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร ผอมลง คลื่นไส้เรื้อรัง
  • อาจมีเส้นเลือดฝอย/หลอดเลือดฝอยเกิดมากผิดปกติตามตัวและในฝ่ามือ
  • อาจมีตัว/ตาเหลือง (ดีซ่าน) จากการคั่งของสารสีเหลือง (Bilirubin) ในร่างกาย และมีอาการคันตามตัว เพราะสารสีเหลืองจากตับก่อการระคายต่อผิวหนัง
  • หายใจมีกลิ่นจากสารของเสียที่สะสมในร่างกายเพราะตับกำจัดออกไม่ได้
  • ห้อเลือดง่าย เลือดออกแล้วหยุดยาก จากการขาดสารช่วยการแข็งตัวของเลือดซึ่งสร้างจากตับ
  • ติดเชื้อต่างๆ ง่าย เพราะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลงจากตับทำงานได้ลดลง
  • บวมใบหน้า มือ เท้า ท้อง เพราะโปรตีนในเลือดลดลงจากตับทำงานลดลง และจากความดันเลือดดำในตับสูงขึ้นจากการเกิดพังผืดของตับ จึงเกิดน้ำคั่งในท้อง/ท้องมาน
  • หลอดเลือดดำของอวัยวะต่างๆ ในท้องขยายตัวจากความดันเลือดดำในตับสูงขึ้น หลอดเลือดดำเหล่านี้จึงแตกได้ง่าย ที่สำคัญคือหลอดเลือดดำหลอดอาหาร ส่งผลให้อาเจียนเป็นเลือด
  • ม้ามโต จากมีเลือดคั่งเพราะความดันเลือดในตับสูงขึ้น นอกจากนั้นม้ามจะทำลายเม็ดเลือดแดงได้สูงขึ้น จึงเกิดภาวะซีด
  • โรคไตวาย จากความดันเลือดในตับสูงขึ้น ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง
  • ระยะสุดท้ายของตับแข็ง เมื่อตับเสียการทำงานมากขึ้นจะเกิดภาวะตับวาย สารของเสียในร่างกาย/ในเลือดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลถึงสมอง เกิดภาวะมือสั่น สับสน และโคม่าในที่สุด
  • ไม่ดื่ม/เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี
  • หลีกเลี่ยง/ป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
  • ไม่ซื้อยาต่างๆ กินเอง ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ