logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ ด่างขาว

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ด่างขาว

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดในการเกิดโรคด่างขาว มีหลายทฤษฎีที่เกี่ยวกับสาเหตุของโรคซึ่งทำให้เกิดการทำลายเซลล์เม็ดสี เช่น จากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานในร่างกาย จากขบวนการสร้างสีซึ่งมีการสร้างสารที่เป็นพิษต่อเซลล์เม็ดสี จากกลไกการเกิดอนุมูลอิสสระ จากภาวะเซลล์เม็ดสีผิดปกติ หรือจากภาวะทางระบบประสาท ซึ่งกลไกต่างๆ เหล่านี้มีผลทำลายเซลล์เม็ดสี ทำให้เกิดรอยด่างขาว นอกจากนี้เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมซึ่งทำให้เซลล์สร้างสีผิวอ่อนแอและถูกทำลายได้ง่าย

พบรอยด่างสีขาวเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังโดยไม่มีผื่นคันนำมาก่อน ผิวส่วนอื่นมีลักษณะเป็นปกติทุกอย่าง รูปร่างรอยด่างอาจกลม รี หรือเป็นเส้นยาวก็ได้ มีขนาดต่างกันตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ อาจมีวงเดียวหรือหลายวง กระจายได้ทั่วตัว ตำแหน่งที่พบบ่อยคือ ใบหน้า รอบปาก รอบดวงตา คอ มือ ปลายนิ้ว แขน ขา และตำแหน่งที่มีการเคลื่อนไหวมาก ได้แก่ ข้อพับ เข่า ข้อมือ หลังมือ เป็นต้น นอกจากที่ผิวหนังแล้วยังพบรอยด่างได้ตามเยื่อเมื่อกบุในอวัยวะต่างๆ เช่น ในช่องปาก เหงือก อวัยวะเพศ หัวนม รอยขาวที่หนังศีรษะหรือตำแหน่งที่มีขน ซึ่งจะทำให้ผมและขนบริเวณนั้นเป็นสีขาวไปด้วย

อาการร่วม: โรคด่างขาวอาจเกิดร่วมกับความผิดปกติของอวัยวะอื่น เช่น

  • ดวงตา เนื่องจากเยื่อเมือกบุตามีเซลล์เม็ดสีเป็นส่วนประกอบสำคัญ ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการทางดวงตาร่วมด้วยได้ เช่น ม่านตาอักเสบ
  • โรคภูมิต้านตนเอง โรคของต่อมไร้ท่อ (ที่พบบ่อยได้แก่ โรคต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน) โรคเลือด และโรคผมร่วงเป็นหย่อมซึ่งมักพบร่วมกับโรคด่างขาวที่เกิดกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ (Nonsegmental vitiligo) และ โรคด่างขาวที่เป็นกรรมพันธุ์
  • โรคทางหู เนื่องจากเซลล์เม็ดสีเป็นส่วนประกอบในโครงสร้างและการทำงานของหูชั้นในและระบบการได้ยิน จึงอาจพบความผิดปกติทางการได้ยินร่วมกับโรคด่างขาวได้

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคด่างขาวให้หายขาดได้ และโรคด่างขาวแต่ละชนิดในแต่ละคนก็มีการตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกัน แนวทางการรักษาโดยทั่วไปขึ้นกับ ลักษณะผิวดั่งเดิม ชนิด การกระจาย และ การดำเนินโรค เช่น

  • ในคนที่มีผิวขาวอาจไม่ต้องรักษา เพียงแต่หลีกเลี่ยงแสงแดดโดยเฉพาะแดดจัดในช่วง 10.00-16.00น. และใช้ครีมกันแดดที่มี ค่า SPF 30 ขึ้นไป
  • การรักษาโดยการกระตุ้นเซลล์เม็ดสีให้กลับคืนมา ได้แก่ 1) ใช้ยาทาเฉพาะที่เพื่อกระตุ้นเซลล์เม็ดสีให้กลับมาทำงานปกติ 2) การฉายแสง (อัลตราไวโอเลตหรือแสงยูวี) เพื่อกระตุ้นเซลล์เม็ดสี 3) การผ่าตัดผิวปกติมาแปะที่บริเวณรอยโรคเพื่อปลูกถ่ายเซลล์เม็ดสี 4) การใช้เลเซอร์เพื่อกระตุ้นเซลล์เม็ดสี 5) ฟอกสีผิวตรงตำแหน่งผิวปกติแทนเพื่อให้สีผิวปกติขาวเท่ากับรอยโรค

เนื่องจากโรคนี้อาจลามมากขึ้นได้หรือเกิดขึ้นใหม่ตรงรอยกระแทก รอยขูดขีด หรือ บริเวณแผล ดังนั้นควรระวังตัวไม่ให้เกิดแผล หรือการกระแทก และเนื่องจากผิวบริเวณรอยด่างขาวจะขาดเซลล์เม็ดสี แสงแดดจะผ่านผิวหนังลงไปทำลายเซลล์ผิวหนังชั้นในได้ง่ายกว่าคนทั่วไป นานเข้าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ฉะนั้นผู้ที่เป็นโรคด่างขาวควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัดๆ และควรทาครีมกันแดดเป็นประจำ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคด่างขาวได้เพราะเป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุเกิดที่แน่ชัด อีกทั้งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องทางพันธุกรรม ดังนั้นคงทำได้แค่การสังเกตตัวเอง หากมีรอยโรคเกิดขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป