logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ ซาร์ส (SARS)

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ซาร์ส (SARS)

ซาร์ส หรือ SARS ย่อมาจาก Severe acute respiratory distress syndrome หรือบางคนเรียกว่า กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง คือโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ SARS coronavirus โดยผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการทางระบบหายใจ ซึ่งอาจรุนแรงจนมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง

โรคซาร์สติดต่อได้โดยการอยู่อาศัยและสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย โดยหายใจเอาเชื้อไวรัสที่กระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย หรือการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งเหล่านี้ แล้วนำมาสัมผัสกับเยื่อบุจมูก ตา หรือปาก ซึ่งเรียกโดยรวมว่าเป็น การแพร่เชื้อผ่านละอองเล็กๆ (Droplets transmission) เป็นสาเหตุที่สำคัญของการติดเชื้อ นอกจากนี้สันนิษฐานว่าการหายใจเอาเชื้อที่มีอยู่ในอากาศ (Air borne transmission) ก็อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อได้

การอยู่อาศัยและสัมผัสใกล้ชิดที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ ได้แก่ การเป็นผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคซาร์ส การอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน การมีเพศสัมพันธ์กัน การกอด การจูบ การสัมผัสเนื้อตัว การกินอาหารร่วมกัน การดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน การได้พูดสนทนาร่วมกันในระยะที่ใกล้กว่า 3 ฟุต ส่วนการเดินผ่าน การนั่งอยู่ในสถานที่เดียวกันโดยสถานที่นั้นไม่ได้เป็นระบบปิด ไม่ได้ทำให้ติดเชื้อ

ระยะฟักตัวของเชื้อโรคซาร์ส คือตั้งแต่รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนกระทั่งแสดงอาการ คือ ประมาณ 2-7 วัน ในบางรายอาจนานถึง 10 วัน อาการที่จะปรากฏในผู้ป่วยทุกคนคือ ไข้สูงมาก กว่า 38 องศาเซลเซียส อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วยได้แก่ หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร บางคนอาจมีถ่ายอุจจาระเหลว อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 3-7 วัน แล้วจะตามมาด้วยอาการไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ หอบเหนื่อย หายใจลำบาก และหากตรวจดูระดับออกซิเจนในเลือดก็จะพบว่ามีค่าลดลง (Hypoxemia) ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง คือเกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ในที่สุด

จากสถิติผู้ป่วยและผู้ที่เสียชีวิต(ตาย)จากโรคซาร์สทั่วโลก เฉลี่ยแล้วผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 9.6% หรือประมาณ 1 ใน 10 คน แต่หากแยกตามอายุจะพบว่ามีความแตกต่างกันมาก โดยอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 24 ปีมีน้อยกว่า 1% แต่ถ้าผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี มีโอกาสเสียชีวิตถึง 50% นอกจากนี้การมีโรคประจำตัวบางอย่างก็ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือเป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคซาร์สที่เสียชีวิต ส่วนใหญ่เกิดเนื่องจากระบบหายใจเกิดล้มเหลว/ระบบหายใจล้มเหลวจากเชื้อไวรัสที่ไปทำลายปอดนั่นเอง ส่วนผู้ป่วยที่รอดชีวิต ในบางรายพบว่า หากทดสอบการทำงานของปอด อาจยังมีผิดปกติบ้าง หรือเอกซเรย์ปอดยังพบความผิดปกติเล็กน้อยได้นานถึงประมาณ 12 เดือน