logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ คางทูม

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : คางทูม

เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำลายพาโรติด จะทำให้เกิดอาการของโรคคางทูมหลังสัมผัส (ระยะฟักตัวทั่วไปประมาณ 14 - 18 วัน แต่อาจเร็วได้ถึง 7 วัน หรือนานได้ถึง 25 วัน) โดยอาการที่เกิดขึ้น คือ

  • เริ่มจากมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตัว เบื่ออาหาร
  • หลังจากนั้น 1 - 2 วัน
    • ไข้จะสูงขึ้นได้ถึง 39 องศาเซลเซียส
    • จะเจ็บบริเวณหน้าหูและขากรรไกร
    • ต่อมน้ำลายพาโรติดด้านที่มีอาการจะค่อยๆ โตขึ้น อาจโตมากถึงระดับลูกตาและเจ็บมาก
    • อาจมีอาการเจ็บแก้มและเจ็บหูด้านเดียวกับต่อมน้ำลายที่เกิดโรค อย่างไรก็ตามประมาณ 30% ของผู้ป่วย ไม่มีอาการอื่น ยกเว้นมีเพียงต่อมพาโรติดโตเพียงอย่างเดียว โดยทั่วไปอาการและต่อมน้ำลายที่โตจะค่อยๆ ยุบหายไปเองในระยะเวลาประมาณ 7-10 วัน

คางทูมเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ/ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จากการหายใจเอาเชื้อในอากาศเข้าไป และ/หรือ สัมผัสน้ำลาย/ละอองน้ำลายของผู้ป่วย จัดเป็นโรคที่ติดต่อง่ายมาก กล่าวคือ จากละอองลมหายใจ น้ำลาย ละอองน้ำลายของผู้ป่วย จะเข้าสู่เยื่อตาเยื่อจมูกและช่องปากของผู้ที่ใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยคางทูม ทั้งจากผู้ป่วยที่มีอาการและจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้แต่ไม่มีอาการ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้จากเชื้อที่ติดค้างอยู่ตามราวบันได ของเล่น ของใช้ต่างๆ แก้วน้ำ ช้อน ฯลฯ เมื่อมือไปสัมผัสแล้วมาสัมผัสกับตาจมูกช่องปาก โดยช่วงระยะเวลาในการกระจายเชื้อ คือ ประมาณ 1-7 วัน ก่อนมีอาการบวมของต่อมน้ำลาย ต่อเนื่องไปจนถึงประมาณ 5-10 วัน หลังจากมีการบวมของต่อมน้ำลาย

  • โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ: แต่อาการมักไม่รุนแรงพบได้ประมาณ 10% ของผู้ป่วย
  • โรคสมองอักเสบ: พบน้อย แต่ถ้ารุนแรงอาจทำให้เสียชีวิต พบประมาณ 1% และพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง
  • ในผู้ชาย: อาจพบการอักเสบของอัณฑะ/อัณฑะอักเสบ โดยโอกาสเกิดสูงขึ้นถ้าคางทูมเกิดในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่พบได้ 20-30% ของผู้ป่วย
    • อาการอัณฑะอักเสบมักเกิดประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากต่อมน้ำลายอักเสบ โดยอัณฑะจะบวม เจ็บ และอาจกลับมามีไข้ได้อีก อาการต่างๆ จะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วัน (อาจนานได้ถึง 2-3 สัปดาห์) อัณฑะจะยุบบวม และขนาดอัณฑะจะเล็กลง
    • การอักเสบมักเกิดกับอัณฑะข้างเดียว ซ้ายหรือขวามีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน แต่พบเกิด 2 ข้างได้ 10-30%
    • หลังเกิดอัณฑะอักเสบ ประมาณ 13% ของผู้มีอัณฑะอักเสบข้างเดียว และ 30-87% ของผู้มีอัณฑะอักเสบ 2 ข้าง จะมีบุตรยาก บางคนอาจเป็นหมันได้ สาเหตุมีบุตรยากเกิดจากการฟ่อลีบของอัณฑะข้างที่อักเสบ จึงส่งผลให้การสร้างจำนวนอสุจิลดลง และ/หรือการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิผิดปกติ
  • ในผู้หญิง:
    • อาจมีการอักเสบของรังไข่/รังไข่อักเสบ ได้ประมาณ 5% แต่มักไม่มีผลให้มีบุตรยากหรือเป็นหมัน
    • ถ้าโรคเกิดในหญิงตั้งครรภ์ มีรายงานพบเป็นสาเหตุให้เกิดการแท้งบุตรได้

วิธีป้องกันโรคคางทูมที่มีประสิทธิภาพ คือ การฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ 2 เข็ม เข็มแรกที่อายุประมาณ 9-12 เดือน เข็มที่ 2 ที่อายุประมาณ 4-6 ปี และไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นอีก ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจะคงอยู่ตลอดชีวิต