logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ กระเนื้อ

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : กระเนื้อ

กระเนื้อ (Seborrheic keratosis) เป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่โรคมะเร็ง เป็นเนื้องอกที่พบบ่อยที่สุด พบได้ตั้งแต่เริ่มเข้าวัยรุ่นคืออายุประมาณ 15 ปี และพบมากขึ้นในผู้สูงอายุ เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ และ/หรือ ผิวหนังได้รับแสงแดดต่อเนื่อง

  • เป็นก้อนเนื้อ สีน้ำตาล น้ำตาลดำ หรือสีดำ
  • มีขอบเขตก้อนชัดเจน
  • ก้อนเนื้อมีลักษณะ กลม หรือรูปไข่ คล้ายแปะอยู่ที่ผิวหนัง
  • ผิวของก้อนพบได้ทั้ง ผิวเรียบมัน หรือผิวขรุขระ 
  • ไม่เจ็บ แต่ออกอาการคันได้
  • มักพบกระเนื้อบริเวณนอกร่มผ้า (แต่พบในร่มผ้าก็ได้)
  • ขนาดมักไม่เกิน 3 เซนติเมตร

ทั้งนี้ กระเนื้อที่เกิดจากมะเร็งผิวหนัง นอกจากจะมีลักษณะของก้อนเนื้อที่โตเร็วแล้ว ยังอาจพบลักษณะอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น

  • เกิดมีแผลที่ก้อน
  • มีเลือดออกที่ก้อน/ที่แผล
  • ขอบเขตก้อนไม่เรียบ มีลักษณะการลุกลามเข้าผิวหนังส่วนข้างเคียง

กรณีปกติทั่วไป ไม่มีความจำเป็นต้องรักษากำจัดกระเนื้อออก แต่หากเป็นปัญหาด้านความงาม ก็สามารถรักษาได้โดยสามารถกำจัดกระเนื้อออกได้หมดในการรักษาครั้งเดียว

  • กรณีที่แพทย์ต้องการส่งตรวจชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาจากกระเนื้อ แพทย์จะทำการตัดก้อนกระเนื้อออกด้วยมีดผ่าตัดหรือมีดโกนผ่าตัด
  • หากแพทย์ไม่ต้องการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา แพทย์สามารถกำจัดกระเนื้อออกได้โดยการใช้
    • เลเซอร์
    • การจี้กระเนื้อด้วยความเย็น (Cryotherapy) หรือ
    • การขูดกระเนื้อออกด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เรียกว่า Curettage

โดยตัวโรคกระเนื้อไม่ก่อผลข้างเคียง แต่อาจมีผลข้างเคียงจากการรักษา แต่ก็พบได้น้อย เช่น รอยดำหลังผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการรักษา หรือเกิดแผลเป็น

เนื่องจากสาเหตุของกระเนื้อ ไม่เป็นที่ทราบชัดเจน แต่อาจเกี่ยวข้องกับแสงแดด การป้องกันผิวไม่ให้ได้รับแสงแดดจัดหรือได้รับแสงแดดต่อเนื่อง จึงอาจมีผลพลอยได้ในการป้องกันกระเนื้อได้